มารู้จัก...ดินสอพองกัน

มารู้จัก...ดินสอพองกัน

มารู้จัก...ดินสอพองกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เด็กรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปีลงมา น้อยคนที่จะรู้จัก"ดินสอพอง" ยกเว้นพวกที่เกิดอยู่กับถิ่น หรือแหล่งผลิตดินสอพองจึงต้องขอความรู้ จากนายสมศักดิ์ โพธิสัตย์อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งท่านได้กรุณาเขียนบทความเผยแพร่ให้ความรู้ดังนี้

อันที่จริงดินสอพองนับว่าเป็นสิ่งคู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่ดั้งเดิมก็ว่าได้ คนไทยสมัยก่อนใช้ดินสอพองเป็นแป้งทาตัวให้เย็นสบายคลายร้อนโดยใช้ผสมน้ำอบไทยและนำมาปะเล่นในเทศกาลสงกรานต์หรือนำมาสะตุพร้อมกับเครื่องหอมแล้วนำไปอบทำแป้งกระแจะไว้ทาตัวได้ทุกโอกาส ก่อนที่จะมีแป้งฝุ่นซึ่งผลิตมาจากแร่ทัลค์ (Talc) บดละเอียดมาแทนที่ เพราะลื่นและเนียนมือกว่า นอกจากนั้นชาวบ้านในพื้นที่ ยังนำมามักเกลือใช้พอกไข่เป็ดทำไข่เค็มขายกันมานานแล้ว และยังใช้เป็นตัวเชื่อมขี้เลื่อยในการปั้นธูปด้วย ปัจจุบันมีผู้นำดินสอพองมาจากใช้พองหน้าเพื่อให้หน้าตึง ซึ่งก็จริงเพราะดินสอพองเมื่อแห้งแล้วจะหดตัวแต่ควรกรองเอาเฉพาะเนื้อดินละเอียดแล้วนำไปสะตุเพื่อฆ่าเชื้อโรค และอาจผสมสมุนไพรบางชนิดเป็นสูตรผสมต่าง ๆ ใช้เป็นเครื่องประทินโฉมราคาถูกและทำได้เอง

มักจะมีคำถามว่าทำไมจึงเรียกดินสอพองทั้งที่ไม่ได้ใช้ทำไส้ดินสอและทำไมจึงมีคำว่าพองต่อท้าย คำว่า "ดิน" คงไม่ต้องอธิบาย คำว่า "สอ"หมายถึงสีขาวก็ได้ หรือใช้เป็นวัสดุเชื่อม หรือโบกก็ได้ เช่นนำไปสออิฐหรือสอปูน ซึ่งเป็นคำโบราณคือใช้เป็นวัสดุที่ใช้ก่ออิฐให้ติดกันนั้นเอง แต่ก็ไม่เรียกว่า "ดินขาว" ซึ่งเป็นดินเกาลิน(kaolin)หรือไชน่า เคลย์ (China clay) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิคส์ และก็ไม่เรียกว่า "ปูนขาว" เพราะปูนขาวคือหินปูน (CaCO3)ที่ถูกเผาเอาคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ออกไป (CO2) ส่วนคำว่า "พอง" ก็บ่งบอกคุณสมบัติของดินสอพองเอง ว่าเมื่อนำไปแช่น้ำหรือหยอดน้ำใส่แล้วดินชนิดนี้จะพองตัวขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจน เมื่อบีบมะนาวซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดใส่ลงไป เนื่องจากเกิดปฏิกิริยาแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นฟองฟูขึ้นและดินพองตัว

ดินสอพองภาษาธรณีวิทยาเรียกว่า ดินมาร์ล (Marl) ก็คือหินปูนผุนั้นเอง จึงมีส่วนประกอบเหมือนกัน คือแคลเซียมคาร์บอนเนต (CaCo3) อยู่ร้อยละ 50 - 80 ส่วนประกอบอื่น ๆ คือแร่ซิลิกา ( SiO2)และอื่นๆ มีเนื้อละเอียดมากหากนำมาละลายน้ำหรือหมักไว้แล้วเอาไปกรองจะมีเนื้อละเอียดขนาด -325 เมซ (Mesh) ถึงร้อยละ 40 - 50 โดยน้ำหนัก

ประโยชน์ดินสอพองในด้านอุตสาหกรรม นับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในอุตสาหกรรมซีเมนต์ ตั้งแต่ประเทศไทยได้มีการผลิตปูนซีเมนต์ โดยบริษัทปูนซีเมนต์แห่งหนึ่งที่ตั้งกว่ามา 100 ปี โดยใช้ดินสอพองจากแหล่งดินสอพอง ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.ลพบุรี และแหล่ง อ.บ้านหมอ อ.ท่าหลวง และ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เป็นวัตถุดิบในการผลิตปูนซีเมนต์โดยวิธีเปียก (Wet Process)หรือโดยนำมาเผาไล่น้ำหรือความชื้นออกก่อนโดยใช้ฟืนซึ่งในสมัยนั้นถ้านั่งรถไฟผ่านโรงปูนซีเมนต์บางซื่อจะเห็นควันขาวของไอน้ำ ลอยออกจากป่องอ้วนและเตี้ยตลอดเวลา ก่อนที่จะเลิกใช้ดินสอพองและฟืนหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติ จากอ่าวไทยแทนฟืน และใช้หินปูนแทนดินสอพองทีเรียกว่าผลิตโดยวิธีแห้งหรือ Dry Process เมื่อประมาณ 30 ปีเศษเป็นต้นมา

ดินสอพองได้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเกษตรกรรมมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ทราบได้ แต่นับว่าเป็นภูมิปัญญาของคนไทยแต่โบราณที่นำดินสอพองไปใช้แก้ดินเปรี้ยวหรือดินที่มีฤทธิ์เป็นกรดในนาข้าว ไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง หรือสวนผลไม้ เนื่องจากเป็นดิน ที่มีซัลเฟตสูง เช่นดินพรุ ซึ่งมีความเป็นกรดจัด คือมีค่า pH4 หรือต่ำกว่าจะทำให้เมล็ดข้าวลีบและผลผลิตต่ำ หรือดินที่ใช้ปุ๋ยเคมีมานานจะทำให้ดินเปลี่ยนสภาพเป็นดินแข็งมีความเป็นกรดสูงขึ้นมากเช่นกัน เกษตรกรที่ประสบปัญหานี้ ก็จะใช้ดินสอพองไปโรยเพื่อปรับค่าความเป็นกรดของดิน ให้เป็นกลางเนื่องจากดินสอพองมีฤทธิ์เป็นด่าง ซึ่งต่อมากรมพัฒนาที่ดิน เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ดินสอพองปรับแก้ดินเปรี้ยวเพื่อเพิ่มผลผลิต

แหล่งดินสอพองในประเทศไทย แหล่งใหญ่ ๆ มีอยู่ที่บริเวณตีนเขาหินปูน โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี ดังได้กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นก็ยังพบอีกหลายแห่ง เช่นอ.เมือง,อ.ท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี,อ.ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์, อ.แม่ทะและแม่เมาะ จังหวัดลำปาง,จ.เพชรบูรณ์และอีกหลายแห่งที่มีภูเขาหินปูน

น่าเสียดายที่ภูมิปัญญาของไทยด้านการใช้ดินสอพองในการแก้ดินเปรี้ยวได้ถูกละเลยทั้งๆ ที่เป็นวัตถุดิบราคาถูกใช้ได้ผลดีมาก อย่างน้อยก็ควรสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ ที่มีแหล่งดินสอพองและใกล้เคียงได้มีความรู้เรื่องการแก้ดินเปรี้ยว ด้วยดินสอพองมากกว่าที่จะปล่อยให้เกษตรกรไปใช้หินปูนบดหรือโดโลไมต์บด และสารเคมีต่างๆ ที่ผลิตขายในเชิงพาณิชย์และเป็นเหยื่อการโฆษณา โดยละเลยภูมิปัญญาของบรรพชนไทยอย่างสิ้นเชิง เมื่อเรารู้คุณค่าแล้วควรนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์จากสิ่งที่มีอย่างคุ้มค่าให้มากที่สุด


สนับสนุนข้อมูลโดย
สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook