กันไว้ดีกว่าแก้ จะได้ไม่ต้องแย่ ถ้าดื่มแล้วขับ

กันไว้ดีกว่าแก้ จะได้ไม่ต้องแย่ ถ้าดื่มแล้วขับ

กันไว้ดีกว่าแก้ จะได้ไม่ต้องแย่ ถ้าดื่มแล้วขับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวของนักร้องสาวชื่อดังดื่มแล้วขับ จนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจวัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่นักร้องสาวก็บ่ายเบี่ยงและประวิงเวลาการตรวจ จนผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมงจึงยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจ พร้อมขอดื่มน้ำ 3 ขวดและขอพักสักครู่ บางคนอาจสงสัยว่า การพักก่อนจะตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์นั้นมีความเกี่ยวพันกันหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) อธิบายให้ฟังว่า การประวิงเวลา หรือดื่มน้ำไม่ได้ช่วยให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดลดลง แต่ร่างกายจะกำจัดแอลกอฮอล์จากกระแสเลือดในอัตราคงที่ประมาณชั่วโมงละ 15 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผ่านกระบวนการทำงานของตับสำหรับคนปกติ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ที่ผ่านมาก็มีความเชื่ออยู่หลากหลายเกี่ยวกับการกินกาแฟ โยเกิร์ตก่อนถูกตรวจวัดแอลกอฮอล์จะช่วยลดปริมาณได้ ซึ่งถือเป็นความเชื่อที่ผิด

"มีชุดความเชื่อดั้งเดิม คือเคี้ยวหมากฝรั่งก็ไม่ได้ช่วย เพียงแต่ลดกลิ่นเฉยๆ เพราะการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นการตรวจแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเลือดผ่านเส้นเลือดฝอยที่อยู่ในปอดออกมา มันไม่เกี่ยวกับกลิ่น และคนเชื่อว่าดื่มน้ำ กาแฟเยอะๆ หรือโยเกิร์ต ก็ไม่ได้ช่วยอีก เพราะขณะที่แอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดแล้วมันก็คือการกำจัดออกในอัตราที่คงที่ ถ้าคนปกติตับไม่มีปัญหาก็จะกำจัดได้ประมาณชั่วโมงละ 15 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์"นพ.ทักษพลกล่าว

สำหรับตัวเลขปริมาณการตรวจวัดที่ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์นั้น นพ.ทักษพล บอกว่า จากข้อมูลงานวิจัยในต่างประเทศระบุว่า ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ความเสี่ยงในการขับขี่จะเพิ่มเป็น 2 เท่า แต่ก็ไม่ได้หมายความต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะปลอดภัย ที่ปลอดภัยคือ 0 นั่นคือไม่ดื่มเลยดีกว่า

"ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือเป็นความเสี่ยงของนักขับโดยเฉพาะนักขับหน้าใหม่จะเสี่ยงมากขึ้น 2 เท่า อย่างไรก็ตามที่ระดับต่ำกว่า 50 หรือแค่ประมาณ 10 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ก็จะเริ่มส่งผลให้ผู้ดื่มมีอาการแปรปรวนในการควบคุมการขับขี่แล้ว แต่ผลอาจยังไม่ชัดมากเท่าไหร่ คือการมองเห็นระยะไกล 500 เมตรเทียบกับ 300 เมตร โดยคนปกติจะวัดระยะได้ แต่คนเมาจะเห็นภาพเป็น 2 มิติในระยะไกล จริงๆ การดื่มแล้วขับ ผลกระทบไม่ได้เกิดจากคนที่ดื่มอย่างเดียว คนที่ไม่ดื่มด้วยก็มีโอกาสได้รับอันตราย ดังนั้นจึงไม่มีการดื่มที่ปลอดภัย ไม่ใช่ว่าดื่มเล็กๆ น้อย ไม่เป็นไร เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง"นพ.ทักษพลย้ำ

หมอทักษพลยังเชื่อว่า การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดก็นับเป็นอีกสิ่งที่สำคัญ โดยคุณหมอยกตัวอย่างในเกาหลีใต้ ที่มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด และการตั้งจุดตรวจก็ปิดถนนทั้งหน้าและหลัง จึงทำให้เลี่ยงได้ยาก อีกทั้งโทษการตรวจจับปรับยึดใบขับขี่ก็ทำได้อย่างดี ในเรื่องโทษของดื่มแล้วขับนั้น เกาหลีใต้มีโทษปรับจำนวนมากกว่าไทย จึงทำให้ในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ดื่มแล้วขับลดลงเกินครึ่ง เพราะการบังคับใช้กฎหมายนั่นเอง

"อย่างเกาหลีโดนห้ามขับรถ ยึดใบอนุญาต ซึ่งในต่างประเทศการโดนยึดใบอนุญาตมีผลอย่างมาก เรียกว่าเคร่งครัด ในการบังคับใช้ของเราบางคนก็บอกว่าโทษน้อยไปนิดหนึ่ง ขณะที่เกาหลีนั้นเมาแล้วขับนั้นมีโทษปรับจำนวนมากกว่าไทย เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ดื่มแล้วขับเกินครึ่งในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เพราะการบังคับใช้กฎหมาย ใช้วิธีที่เรียกว่าปิดถนน ทั้งหน้าและหลัง ดังนั้นรถทุกคันที่อยู่ในช่วงนี้โดนบังคับตรวจ โอกาสหลบเลี่ยงตรวจก็ไม่มี ขณะที่ของเราบางครั้งจะใช้การสุ่มตรวจ โดยเฉพาะในช่วงตั้งด่านเทศกาลและถนนหลัก ทั้งๆ ที่อุบัติเหตุจริงๆ เป็นถนนสายรอง เวลาที่ตรวจตอนเทศกาลก็ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่ไม่ควรละเลยถนนสายเล็กด้วย"คุณหมอทักษพลกล่าวปิดท้าย

จริงอย่างว่า ไม่ว่าจะวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะอยู่ที่ระดับเท่าไหร่ แต่ที่สำคัญคือการงดดื่มคือทางที่ดีที่สุด เพื่อลดปัญหาทุกอย่างที่จะตามมา

กันไว้ดีกว่าแก้ จะได้ไม่ต้องแย่ ถ้าดื่มแล้วขับ

เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook