หอบรรณสาร กับการจัดการข้อมูลดิจิตอล

หอบรรณสาร กับการจัดการข้อมูลดิจิตอล

หอบรรณสาร กับการจัดการข้อมูลดิจิตอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"หอบรรณสาร" เป็นคลังเอกสารเก่าที่มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ ทำนองเดียวกันกับหอจดหมายเหตุ แต่ไม่ได้เก็บเฉพาะเอกสารสำคัญของทางราชการเท่านั้น เอกสารเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นของสะสมของนักประวัติศาสตร์ ที่ตกทอดมาสู่พิพิธภัณฑ์สถานต่างๆ

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในอดีตเอกสารเหล่านี้เป็น "กระดาษ" ที่มีตั้งแต่จดหมายของคนดังๆ ที่เขียนถึงคนอื่นๆ ไดอารีของใครสักคนที่มีชื่อเสียง หรืองานต้นฉบับร่างของนักเขียน ศิลปิน จิตรกร ที่สามารถจัดเก็บได้ง่าย จัดแสดงได้ไม่ยาก แถมยังจัดการเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องได้ไม่ยากนัก

คำถามก็คือ ในยุคที่ทุกอย่างถูกทำด้วยคอมพิวเตอร์ อะไรต่างๆ เหล่านี้จะจัดเก็บกันอย่างไร? นั่นยังไม่ยากเท่ากับคำถามต่อไปที่ว่า จะจัดแสดงได้อย่างไร? แล้วมันจะยังทรงคุณค่าเหมือน "กระดาษ" ในอดีตหรือไม่

เมื่อเร็วๆ นี้ หอบรรณสารของมหาวิทยาลัยเอโมรี ในสหรัฐอเมริกา ก็เผชิญหน้ากับคำถามเหล่านี้เข้าอย่างจัง เรื่องของเรื่องก็คือ ซัลแมน รัชดี นักเขียนคนดังเจ้าของผลงานอื้อฉาว "เดอะ ซานตานิค เวอร์สเซส" หอบเอาโน้ตบุ๊กเก่าๆ ที่ไม่ใช้แล้วหลายตัวมามอบให้กับทางมหาวิทยาลัย บางเครื่อง อย่างเช่น "เพาเวอร์บุ๊ก" ที่ รัชดี บังเอิญทำกระป๋องเครื่องดื่มหกราดทั้งเครื่อง จำเป็นต้องส่งให้ผู้เชี่ยวชาญดึงเอาข้อมูลภายในออกมา

ในบรรดาคอมพิวเตอร์พกพาเหล่านี้ มีหลายๆ อย่างอยู่ในนั้นครบครัน คุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ของมันจึงมีอยู่ครบถ้วน ไม่แพ้รายชื่อสิ่งของที่ต้องซื้อจากร้านชำของ มาริลีน มอนโร หรือรายการผลเสียและผลดีของการแต่งงาน ที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน นั่งเขียนลงบนกระดาษสมุดบันทึก เพื่อดูว่าเขาจะตัดสินใจแต่งงานดีหรือไม่ คำถามจึงอยู่ตรงที่ว่า บรรณารักษ์ของหอบรรณสารจะจัดการกับข้อมูลดิจิตอลอย่างไรมากกว่า ในขณะเดียวกับที่ยังต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวทั้งของคนดังๆ ที่เป็นผู้เขียนอีเมล์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ที่อยู่อีเมล์ต่างๆ หรือผู้ที่ได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ฉบับนั้น เรื่อยไปจนถึงชื่อเสียงเรียงนามของผู้ที่ถูกเอ่ยอ้างเอาไว้

ในหลายๆ ทาง ไฟล์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ สามารถเปิดเผยให้เห็นอะไรหลายๆ อย่างของผู้เป็นเจ้าของ บางทีอาจมากกว่าข้อความที่เป็นลายมือเขียนบนแผ่นกระดาษด้วยซ้ำไป ไฟล์ดิจิตอลเหล่านี้ สามารถบอกข้อมูลเรื่องเว็บไซต์ที่ผู้เป็นเจ้าของเข้าไปใช้งานหรือเยี่ยมชมบ่อยๆ หรือเป็นประจำ เช่นเดียวกับสิ่งที่เรียกกันว่า "ดิจิตอล เทรล" หรือร่องรอยทางดิจิตอลของการค้นคว้าวิจัย ต้นฉบับร่าง ต้นฉบับที่ผ่านการทบทวนแก้ไข เป็นอาทิ เช่นเดียวกับที่อาจมีการจัดเก็บจดหมายอิเล็กทรอนิกส์อยู่ภายในเครื่องแบบที่สามารถค้นหาได้อีกต่างหาก

ในกรณีของมหาวิทยาลัยเอโมรี บรรณารักษ์จัดการพิมพ์เอาอีเมล์ของรัชดี ออกมาทั้งหมด แล้วก็สอบถามไปยังเจ้าตัวว่า จะมีการตัดทอน ปกปิดส่วนใดบ้าง อย่างเช่นที่อยู่อีเมล์ของเพื่อนๆ เป็นต้น หลังจากนั้นก็ใช้ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากบรรดาโน้ตบุ๊กทั้งหลายของ ซัลแมน รัชดี (หลังจากที่ผ่านการตัดทอนและปกปิดตามความต้องการของผู้เป็นเจ้าของข้อมูลแล้ว) เข้าไปใส่ไว้ใน "เวิร์กสเตชั่น" อีกตัวหนึ่งต่างหาก จัดทำสภาวะแวดล้อมของเวิร์กสเตชั่นตัวนั้น ให้อยู่ในรูปแบบเดียวกันหรือใกล้เคียงกับรูปแบบของการทำงานของซัลแมน รัชดี รวมถึงกระบวนการทำงานเขียนทั้งหมดของนักเขียนผู้นี้ เพื่อจำลองทั้งหมดออกมาสำหรับการจัดแสดง

นาโอมิ เนลสัน บรรณารักษ์ของเอโมรี ยอมรับว่า ตอนนี้ถ้าใครอยากเห็นทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องเดินทางไปดูที่มหาวิทยาลัยด้วยตัวเอง เพื่อความปลอดภัยทั้งของข้อมูลและของตัวนักเขียนเอง เวิร์กสเตชั่นที่ว่านี้จึงไม่สามารถนำไปใส่ไว้ในโลกออนไลน์ได้

เช่นเดียวกับข้อมูลดิจิตอลอีกจำนวนหนึ่งซึ่งคงต้องล็อกตายไว้ในห้องอ่านเอกสารของหอบรรณสารที่นั่นไป-อย่างน้อยก็อีกระยะหนึ่ง

หน้า 9,มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 9 ตุลาคม 2555

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook