ความมั่นคงทางอาหาร...เริ่มจากครัวชุมชน

ความมั่นคงทางอาหาร...เริ่มจากครัวชุมชน

ความมั่นคงทางอาหาร...เริ่มจากครัวชุมชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา นานาประเทศต่างต้องเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติ รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร หลายประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤตขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะเมื่อผลผลิตทางการเกษตรมีราคาแพง และไม่สามารถผลิตได้เพียงพอตามความต้องการ เนื่องในวันอาหารโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี หลายหน่วยงานจึงมีความพยายามที่จะร่วมกันฝ่าวิกฤต ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารรวมถึงประเทศไทยด้วย

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้จัดการแผนงานความมั่นคงทางอาหาร โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี บอกว่า ในปี 2555 คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอาหาร ได้มอบหมายให้แผนงานความมั่นคงทางอาหารร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนให้มีความมั่นคงทางอาหาร โดยคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ได้วิเคราะห์ วางแผน และพยายามหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาตลอด โดยตั้งเป้าว่าก่อนวันอาหารโลก ในวันที่ 16 ตุลาคม จะมีการจัดประชุมแสดงความคิดเห็นเรื่อง "การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงอาหารจากชุมชนสู่ระดับชาติ" โดยนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ในแต่ละพื้นที่ แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และมุมมองของมิติความมั่นคงอาหาร ในเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ และการปรับตัวของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น ระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอาหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย นักวิชาการ นักพัฒนา และผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน เพื่อสื่อสารความเข้าใจเกี่ยวกับความมั่นคงอาหารในบริบทประเทศไทยทุกมิติและทุกระดับตั้งแต่ ชุมชน ท้องถิ่น จนถึงระดับชาติ เพื่อให้เกิดแนวคิดและทิศทางในการจัดทำแผนงานเชิงปฏิบัติการในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอาหารในทุกระดับ เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยด้านความมั่นคงอาหารที่เหมาะสมและจำเป็นต่อสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต

"ในภาพรวมของประเทศ เราอาจเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลกมีบริษัทที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก แต่แท้จริงแล้วประเทศไทยยังมีความไม่มั่นคงทางอาหารอยู่ ซึ่งข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ในช่วงปี 2547 -2549 ประเทศไทยมีประชากรเป็นผู้ขาดสารอาหารถึง 17% ทำให้การเจริญเติบโตของเด็กอยู่อัตราที่ต่ำ ดังนั้น ในภาพรวมดูเหมือนดี แต่ในทางปฏิบัติถือว่ายังมีปัญหา ดังนั้น การแก้ปัญหาเราจะมองแต่ภาพใหญ่อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเริ่มจากชุมชน"

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สำคัญที่เป็นไฮไลท์ในงานนี้จะมีการนำเสนอใน 3-4ประเด็นสำคัญ เช่น วิเคราะห์ภาพใหญ่ของระบบโลกและผลกระทบด้านอาหาร การถอดบทเรียนการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยยก 3 พื้นที่ตัวอย่าง 1.ความมั่นคงอาหารของชุมชนในภูมินิเวศน์ชายฝั่งทะเล อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ที่มีความโดดเด่นในกระบวนการป้องกันภัยคุกคามความมั่นคงด้านอาหาร เช่น ผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง มีการสร้างท่าเรือ การทำหารประมงที่ทำลายร้าง เป็นต้น 2.ความมั่นคงอาหารชุมชนในภูมินิเวศน์ป่า/ภูเขาที่ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาติพันธุ์มีการผลักดันให้มีการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การลดการใช้สารเคมีในการเกษตร ส่งเสริมพันธุ์พืชที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ การอนุรักษ์ป่าไม้ พืชพรรณท้องถิ่น และ3.ความมั่นคงอาหารชุมชนในภูมินิเวศน์นาข้าวและการแลกเปลี่ยนอาหารของเมืองชนบทในภาคอีสาน ที่ จ.ยโสธร จ.สุรินทร์ จ.มหาสารคาม ซึ่งมีความโดดเด่นในการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อรับประทานเองและจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นที่มีหลายระดับ เป็นการเอื้ออำนวยให้กับคนเมืองสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีได้

นอกจากนี้จะมีการนำเสนอตัวชี้วัดเครื่องมือที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยมีการทำตัวชี้วัดใน 30 ชุมชน เช่น ดูว่าในชุมชนมีทรัพยากรเพียงพอหรือไม่ สามารถเข้าป่าหาอาหารตามธรรมชาติได้หรือไม่ หรือสามารถผลิตอาหารได้เองหรือไม่ มีสัดส่วนอย่างไร เป็นต้น โดยเน้นชุมชนท้องถิ่นที่สามารถพึ่งพิงตนเองด้านอาหารได้ ส่วนในชุมชนเมืองก็มีความสำคัญ ได้มีการนำเสนอเรื่อง "สวนผักคนเมือง" ที่เป็นกระแสใหญ่มากและแนวโน้มของเมืองใหญ่ทั่วโลก โดยทั้งชุมชนเมืองและชนบทจะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

นายวิฑูรย์ ทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ดี สถานการณ์ปัจจุบันวิกฤตด้านอาหารยังคงอยู่ แม้ว่าสินค้าการเกษตรบางชนิดในช่วงนี้จะมีราคาตกต่ำ แต่ก็เป็นเหตุการณ์แค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งความสามารถในการควบคุมราคาสินค้าในตลาดไม่ได้เป็นตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียว เนื่องจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่คนไทยและคนทั่วโลกที่ต้องเผชิญอยู่ทุกปี เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมาก เช่น เมื่อ 2-3 ปีก่อน เกิดภัยธรรมชาติในเวียดนาม หรือ สหรัฐอเมริกา ก็ส่งผลกระทบทำให้ราคาอาหารถีบตัวสูงขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อม ยิ่งหากได้ประกาศตัวเป็นครัวของโลก เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหาร การมองภาพใหญ่อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องเริ่มจากชุมชนไปสู่ระดับชาติ

หากเราสามารถสร้างความมั่นคงด้านอาหารในชุมชนได้ ความหวังที่จะเป็นครัวของโลกคงไม่ไกลเกินเอื้อม...

เรื่องโดย : วรรณภา บูชา Team content www.thaihealth.or.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook