พืช พรรณไม้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สู่ศูนย์วิจัยและโรงงานผลิตยาสมุนไพร ม.รังสิต

พืช พรรณไม้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สู่ศูนย์วิจัยและโรงงานผลิตยาสมุนไพร ม.รังสิต

พืช พรรณไม้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สู่ศูนย์วิจัยและโรงงานผลิตยาสมุนไพร ม.รังสิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สร้างศูนย์วิจัยและโรงงานผลิตยาสมุนไพร โดยมุ่งเน้นเป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทย และเพิ่มช่องทางในการช่วยเหลือเกษตรกร ชาวบ้านจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีรายได้ดีขึ้น ตลอดจนงานทางด้านมนุษยธรรม

ศ.(พิเศษ)ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ตระหนักถึงปัญหาสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ที่ต้องฝึกงานไม่ต่ำกว่า 2,000 ชั่วโมง ก่อนสำเร็จการศึกษา ซึ่งนักศึกษาหลายคนประสบปัญหาการหาสถานที่ฝึกงาน อีกทั้งต้องใช้ระยะเวลาในการค้นหาสถานที่ฝึกงานค่อนข้างลำบาก ทำให้เกิดความไม่สะดวกหลายอย่างให้แก่นักศึกษาและมหาวิทยาลัย ทางคณะจึงได้เสนอโครงการสร้างศูนย์วิจัยและโรงงานผลิตยาสมุนไพรในมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาและแก้ปัญหาดังกล่าว และจะใช้โครงการนี้ในการวิจัยและพัฒนาคุณภาพยาร่วมกับ Heilongjiang University of Chinese Medicine ประเทศจีน เพื่อพัฒนาสูตรตำรับยาสมุนไพรไทย ให้มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล


สำหรับโครงการศูนย์วิจัยและโรงงานผลิตยาสมุนไพรนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เป็นสถานที่ฝึกงานสำหรับนักศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ และคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะเภสัชศาสตร์ทุกสถาบันทั่วประเทศ
2. ให้บริการวิเคราะห์สมุนไพร และพัฒนาวิธีวิเคราะห์ยาสมุนไพร
3. ให้บริการพัฒนาสูตรตำรับยาสมุนไพร
4. ให้บริการขึ้นทะเบียนยาสมุนไพร
5. ขายวัตถุดิบและรับรองมาตรฐานวัตถุดิบ
6. ให้บริการผลิตยาสมุนไพร จากคลินิกแพทย์แผนไทย และโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ
7. เป็นศูนย์ฝึกงานสำหรับอาจารย์ นักศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ และบุคลากรจากสถาบันการศึกษา/ หน่วยงานของประเทศอาเซียน และประเทศแอฟริกา

"วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เป็นโครงการที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร เพราะโรงงานแห่งนี้เป็นของสถาบันการศึกษา คณะไม่ได้ผลิตยาแข่งกับใคร เราไม่มียี่ห้อหรือผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง เราจะไม่หาประโยชน์จากการขายยาแต่ประการใด แต่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและแน่วแน่ที่จะทำเพื่อการฝึกอบรมและการบริการทางด้านวิชาการแก่สาธารณะเท่านั้น ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ทางคณะจะนำสูตรตำรับยาสมุนไพรไทยโบราณทั้งหมดที่ได้รับการพัฒนาแล้ว เผยแพร่บนเว็บไซต์ www.rangsitpharmacy.com ให้ประชาชนและผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ประโยชน์โดยไม่คิดค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น" ศ.(พิเศษ)ภญ.ดร.กฤษณา กล่าว


นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการเปิดศูนย์วิจัย Herbal Medicinal Products Research and Development Centre ว่า เริ่มจากหลักสูตรเภสัชศาสตร์ หลักสูตรใหม่นั้นมีข้อบังคับโดยสภาวิชาชีพ 3 องค์ประกอบคือ 1. นักศึกษาจะต้องฝึกงานไม่ต่ำกว่า 2,000 ชั่วโมง 2. จะต้องมีสถาบันวิจัย จึงได้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยรังสิต กับ Heilongjiang University of Chinese Medicine ประเทศจีน ซึ่งการดำเนินงานนี้เราเริ่มมาระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการ และได้เดินทางไปเปิดสถาบันวิจัยที่ประเทศจีนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นจึงมาเปิดที่นี่เพื่อทำวิจัยร่วมกัน รวมถึงความร่วมมือกับ Harbin University of Science and Technology มหาวิทยาลัยท็อปเท็นของประเทศจีน ซึ่งเราได้ส่งอาจารย์ในคณะเภสัชศาสตร์ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่นั่นด้วย และนอกจากความร่วมมือไทย-จีนแล้ว ยังมีเกาหลีและฟิลิปปินส์ซึ่งจะมาเซ็น MOU ร่วมกันในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ดังนั้น จึงเรียกได้ว่าเป็นสถาบันวิจัยที่ค่อนข้างจะอินเตอร์ไม่ใช่ของเราที่เดียวแต่เราร่วมกับที่อื่นเพื่อที่จะวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยร่วมกัน และ 3. ผลงานวิจัย ซึ่งเราจะมีการผลิตงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม โครงการศูนย์วิจัยและโรงงานผลิตยาสมุนไพรนี้ นอกจากจะมีประโยชน์สำหรับนักศึกษาแล้ว โครงการดังกล่าวจะเป็นอีกโครงการจิตอาสาหนึ่งของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่จะมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรและชาวบ้านจาก 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ให้มีรายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งทางคณะเภสัชศาสตร์ได้มีส่วนเข้าไปช่วยเหลือส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร และการผลิตยาสมุนไพรตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยโครงการนี้จะรับซื้อผลผลิตพืชสมุนไพรจากภาคใต้ นำมาสู่กระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผลิตยาสมุนไพรตำรับโบราณคุณภาพสูงสู่ชุมชน

"3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นงานที่อาจารย์ได้ให้ความทุ่มเทเป็นพิเศษ ในรูปแบบของโมเดลการช่วยเหลือของมหาวิทยาลัยเข้าสู่ชุมชน โดยเริ่มต้นที่ชุมชนโคกเคียน จังหวัดนราธิวาส ซึ่งปัจจุบันมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นประมาณ 80% ซึ่งเขาส่งวัตถุดิบมาให้เราสามารถผลิตยาได้ โดยจะเริ่มผลิตในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการต่อที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ตามลำดับ โดยจะทำจังหวัดละ 2 แห่ง ซึ่งอาจารย์คิดว่าเป็นโมเดลที่ดีที่มหาวิทยาลัยควรจะช่วยเหลือชุมชน แม้จะเป็นจุดเล็กๆ ก็ตามแต่ก็สามารถที่จะขยายให้ใหญ่ได้ โครงการนี้ที่ประเทศฟิลิปปินส์ให้ความสนใจมากและจะนำไปเป็นต้นแบบในมหาวิทยาลัยอดัมสัน และมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ (U.P.) โดยจะส่งคนมาฝึกงานกับเราเพื่อดูว่าเราใช้รูปแบบไหนและนำกลับไปทำในชุมชนของเขาบ้าง โดยนำโมเดลของนราธิวาสเป็นต้นแบบ" คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ นอกจากโครงการศูนย์วิจัยและโรงงานผลิตยาสมุนไพรแล้ว ทางคณะยังได้เปิดห้องปฏิบัติการการแพทย์ทางเลือก เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาแผนไทยและเภสัชกรรมไทย โดยห้องปฏิบัติการนี้สามารถให้บริการในด้านการรักษา การใช้ยาทางเภสัชกรรมไทย โดยเปิดเป็นรูปแบบคลินิก ซึ่งต่อไปจะมีการนำอายุรเวทและแพทย์แผนจีนเข้ามาด้วย เพื่อให้เป็นการแพทย์ทางเลือกอย่างแท้จริง รวมถึงนักศึกษาสามารถเข้ามาใช้เป็นสถานที่ฝึกงานได้เช่นเดียวกับทั้งสองแห่ง

นอกจากนี้ ยังมีห้อง Video Conference ที่นับเป็นคณะเภสัชศาสตร์แห่งแรกในประเทศที่ใช้ระบบดังกล่าวติดต่อสื่อสารระหว่างอาจารย์และนักศึกษาในคณะเภสัชศาสตร์ โดย ศ.(พิเศษ)ภญ.ดร.กฤษณา ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เนื่องจากเรามีนักศึกษาตามแหล่งฝึกงานในโรงพยาบาลต่างๆ เป็นจำนวนมาก การจะติดต่อสื่อสารกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยจึงค่อนข้างลำบาก เราไม่มีอาจารย์ที่จะส่งไปอยู่ประจำตามโรงพยาบาล ทางคณะจึงได้ติดตั้งระบบ Video Conference ซึ่งเด็กสามารถติดต่อกับส่วนกลางคืออาจารย์และที่คณะได้ โดยที่ไม่ต้องเดินทางมา ซึ่งระบบนี้ถือเป็นแห่งแรกของคณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยที่ตั้งขึ้น โดยมีการติดตั้ง 2 จุด ที่คณะเภสัชศาสตร์ และโรงงานยา เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน นอกจากนี้ เราสามารถใช้ Video Conference ในการประชุมร่วมกันระหว่างอาจารย์ได้ด้วย ซึ่งถือเป็นระบบที่ดีมากในปัจจุบันและทางคณะได้เริ่มใช้งานมาระยะหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อนักศึกษาและชุมชนแล้ว ศ.(พิเศษ)ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ คาดหวังว่าจะใช้โครงการนี้ในเรื่องงานทางด้านมนุษยธรรมด้วยเช่นกัน โดยจะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ฝึกอบรมชาวแอฟริกาในการผลิตยา ซึ่งจะเป็นประโยชน์มหาศาลในการช่วยเหลือชีวิตคนยากไร้ในแอฟริกาให้มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นในโลกใบนี้ โดย ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้เห็นชอบโครงการดังกล่าวที่จะเป็นประโยชน์อย่างสูงแก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนในแอฟริกาที่ทางมหาวิทยาลัยจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชีวิตและสุขภาพเป็นอย่างมากต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook