ชำแหละ"ผลประโยชน์ทับซ้อน" ทำลาย"อุดมศึกษาไทย"

ชำแหละ"ผลประโยชน์ทับซ้อน" ทำลาย"อุดมศึกษาไทย"

ชำแหละ"ผลประโยชน์ทับซ้อน" ทำลาย"อุดมศึกษาไทย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ มติชนมติครู โดย คำไห แก่นหอม

เชื่อว่าความพยายามของกลุ่มบุคคลทั้งภายในและภายนอก ที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากองค์กรภาครัฐน่าจะมีอยู่แทบทุกหน่วยงาน แต่องค์กรอย่างมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นศูนย์รวมของผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีการศึกษาสูงๆ เป็นครูบาอาจารย์ที่มีความเสียสละ มีจิตวิญญาณความเป็นครู ไม่น่าจะมีเรื่องเหล่านี้ หรือมีก็คงน้อยมาก แต่ข้อเท็จจริงแล้วกลับตรงกันข้าม

มหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาล ทั้งจากงบประมาณแผ่นดิน และจากเงินรายได้ที่จัดเก็บจากนักศึกษา หรือเงินรายได้พิเศษอื่นๆ ซึ่งหลายแห่งก็ไม่สามารถชี้แจงถึงที่มาที่ไปได้อย่างชัดเจน แอบซุกแอบซ่อนเอาไว้จนยากต่อการตรวจสอบ

โดยปกติแล้วการตั้งงบประมาณรายจ่ายจากเงินรายได้มหาวิทยาลัย มักจะใช้ตัวเลขประมาณ 80% ของรายได้ประมาณการที่คาดว่าจะได้รับ ซึ่งจะคาดการณ์จากจำนวนนักศึกษาที่จะเข้าเรียนคูณด้วยค่าหน่วยกิต หรือค่าเทอม ค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมกับรายได้อื่นๆ เช่น ค่าให้เอกชนเช่าที่ดิน ค่าบริการหอพัก รายได้จากกิจการโรงแรมของมหาวิทยาลัย ฯลฯ สมมุติคาดว่าจะได้มา 1,000 ล้านบาท ก็จะขอใช้ประมาณ 800 ล้านบาท ที่เหลืออาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ ค่อยว่ากัน แต่ที่แน่ๆ เหลือแน่นอน แต่สิ่งที่สังคมควรได้รู้ คือ เหลือแล้วเอาไปไหน รวมทั้งที่ใช้ไปแล้วใช้ไม่หมดในแต่ละปีด้วย

หลายๆ มหาวิทยาลัยมีเงินเหลือเก็บหลายพันล้านบาท บ้างก็เอาไปลงทุนในกองทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดผลตอบแทน หรือไม่ก็เอาไปฝากธนาคารไว้เฉยๆ เพราะหากจะเอาไปลงทุนก็กลัวคนเขาว่า ""โอ้โห! ทำไมมีเงินเหลือเก็บเยอะจัง ไหนบอกว่ามหาวิทยาลัยจนไง ที่บอกว่าไม่มีเงิน จะขึ้นเงินเดือนให้พนักงานก็ไม่จริงน่ะสิ"" ดังนั้น จึงขอถามบุคลากรในมหาวิทยาลัยทั้งหลายว่า มีใครทราบบ้างไหมว่ามหาวิทยาลัยของท่านมีเงินในธนาคาร หรือเอาไปลงทุนในกองทุนอะไรเท่าไหร่ ไปซื้อสินทรัพย์ ทำธุรกรรมต่างๆ ได้กำไรกี่มากน้อย และรายได้จากดอกผลเหล่านั้นได้คืนกลับมาเป็นรายจ่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของลูกหลานประชาชนคนไทยหรือไม่ อย่างไร? เพราะเงินที่ได้มานั้นมาจากการทำงานหลังขดหลังแข็งและการกู้หนี้ยืมสินของผู้ปกครอง หรือเงินกู้ยืมเรียนของนักศึกษาแทบทั้งนั้น

เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการมีส่วนได้ส่วนเสียของกลุ่มบุคคลที่เข้ามาบริหารกิจการของมหาวิทยาลัย เช่น ในสภามหาวิทยาลัยบางแห่งมีการพูดกันถึงเรื่องนี้ว่า เงินรายได้เหลือใช้แต่ละปีที่สะสมไว้จะเอาไปทำอะไรดี ผู้ทรงคุณวุฒิสายพ่อค้านักธุรกิจในสภาฯ ก็เสนอความเห็นกันอย่างคึกคัก โชว์วิสัยทัศน์การประกอบธุรกิจการค้าอย่างเมามัน เช่น เสนอให้เอาไปซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรบ้าง เอาไปซื้อทองคำ เพราะทองราคาดีไม่มีตก หรือเอาไปลงทุนในกองทุนต่างๆ ที่มั่นคง หรือลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กับบริษัทผูกขาดที่ยังไงๆ ก็ไม่มีทางขาดทุน (คงนึกออกว่ามีบริษัทอะไรบ้าง) แต่ที่พูดว่าจะเอาไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสังคม ชุมชนท้องถิ่น สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนนั้น ไม่มีเอาเสียเลย ยิ่งดูภูมิหลังของผู้ทรงคุณวุฒิบางคนก็กลายเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในทำเลดีๆ เป็นนักลงทุนในธุรกิจพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เสียด้วย ประเด็นมันอยู่ตรงนี้!

นอกจากนี้ ยังมีเงินที่ไม่ถูกนำมาผนวกรวมกับเงินรายได้อย่างเป็นระบบและตรวจสอบไม่ได้อีกมาก บางมหาวิทยาลัยก็ไม่ทำตัวเลขแจ้งยอดเงินรายได้รายจ่ายจำนวนนี้กับสภาฯ ครั้นมีการท้วงติงและเสนอให้ดำเนินการอย่างถูกต้องกลับแถไปข้างๆ คูๆ ว่าจริงๆ มีตัวเลข แต่ไม่เอามาโชว์ เรามีระบบตรวจสอบอยู่แล้ว และเงินก็ไม่ได้มากมาย นายกสภาฯ ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมก็สรุปปิดเกมว่าถ้ามีระบบอยู่แล้ว ก็ไม่เป็นไร แบบนี้ถ้าไม่เรียกว่าสุมหัวกันปล้น แล้วจะเรียกว่าอะไร?

เชื่อว่าหลายๆ มหาวิทยาลัยอาจจะมีรายได้จากกิจการเหล่านี้ เช่น กิจการโรงแรม หอพัก ร้านสะดวกซื้อ การประมูลร้านขายอาหาร กิจการน้ำดื่ม ฯลฯ ซึ่งตัวเลขน่าจะมิใช่น้อยเลย บางแห่งนักศึกษานับหมื่นคน อย่างน้อยก็ต้องกินข้าวในโรงอาหาร หรือร้านอาหารของมหาวิทยาลัยประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ 5 พันคน ถ้านักศึกษาใช้เงินคนละ 30 บาท ก็ประมาณ 1.5 แสนบาท/วัน มหาวิทยาลัยบางแห่งมีระบบแลกคูปองด้วย นั่นแสดงว่านอกจากมีรายได้จากการประมูลร้านค้าแล้ว ยังมีส่วนแบ่งจากยอดขายด้วย ถ้าหัก 20% ก็จะคิดเป็นเงินประมาณ 10 ล้านบาท/ปี มากกว่างบประมาณบางคณะเสียอีก ก็ไม่น้อยเลย แถมบางมหาวิทยาลัยมีร้านค้าของตัวเองอีกต่างหาก เงินรายได้จากส่วนนี้จึงน่าจะมากกว่าที่คิด กิจการเหล่านี้แทนที่จะเป็นการบริการให้นักศึกษาได้อาหารดี มีราคาถูก กลับตั้งหน้าตั้งตาหาเงินกับลูกชาวบ้านท่าเดียว แม้แต่น้ำดื่มที่ควรจะมีบริการติดตั้งถังน้ำเย็น ระบบกรองน้ำให้กินฟรีๆ ก็ไม่มี ทั้งๆ ที่เป็นบริการพื้นฐานที่ควรจะมีให้ เพราะประชาชนมีสิทธิที่จะเข้าถึงน้ำที่สะอาดอย่างไม่เลือกปฏิบัติ นี่เขาเสียเงินมาเรียนแท้ๆ ยังต้องให้มาซื้อน้ำเปล่ากินอีก ที่แย่กว่านั้นคือการเอาคู่สายโทรศัพท์ที่ขอมาเพื่อใช้ในหน่วยงานมาแปลงร่างเป็นตู้หยอดเหรียญเก็บเอาเงินกับนักศึกษาตามหอพัก เงินเหล่านี้หายไปอยู่ที่ไหนกัน แถมบางแห่งยังพยายามที่จะเลี่ยงภาษีอีก เช่น ทำกิจการโรงแรมชัดๆ แต่บอกว่าเป็นศูนย์ฝึกวิชาชีพ เป็นโรงอาหาร เก็บค่าเช่า ค่าประมูลแท้ๆ แต่บอกว่าเป็นโครงการอาหารกลางวันแด่น้องผู้หิวโหย จะเอาเปรียบสังคมกันไปถึงไหน

เมื่อมาดูประสิทธิภาพของการบริหารงาน การบริหารคน ก็พบว่าใช้คนเยอะแต่ได้งานห่วย เช่น กิจการอย่างว่าแทนที่จะให้เอกชนทำ กลับไล่เขาแล้วเอามาทำเอง เช่น เห็นเขาเปิดร้านขายขนมขายกาแฟได้ดี ก็ไล่เขาออก ไม่ต่อสัญญา เพื่อจะให้ร้านของกิจการโรงแรม มีคนเข้าไปซื้อ สุดท้ายก็ไม่มีคนเข้า เพราะรสชาติไม่น่ารับประทาน ร้านสะดวกซื้อก็เอามาทำเอง ก็ต้องจ้างคนอีกมากมาย ทั้งในโรงครัว โรงแรม ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านหนังสือ โรงน้ำดื่ม แต่คุณภาพสินค้าและการบริการห่วยขั้นเทพ จะไม่ห่วยได้อย่างไร เขาบริการดีไม่ดีก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม ขายได้มากได้น้อย ก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม ปรัชญาของเขาลูกค้าไม่ใช่ราชา นายเขาไม่ใช่ลูกค้า นายเขาคือผู้บริหารมหาวิทยาลัย ระบบการประเมินผล การประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการก็ไม่มี แต่ถึงบางอ้อเมื่อทราบว่าคนล้างจาน แม่บ้าน พนักงานเสิร์ฟอาหาร คนทำครัว ขายของ เขาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเหมือนกัน อยู่มานานสักพักก็มีสิทธิลงคะแนนหยั่งเสียงเลือกอธิการฯ ได้ คือ มี 1 คะแนน 1 เสียง เท่ากับเสียงของศาสตราจารย์ มิน่าถึงยังทู่ซี้จ้างกันอยู่ได้ มหาวิทยาลัยแบบนี้ ใครชนะการหยั่งเสียงได้เป็นอธิการฯ คงน่าภูมิใจมาก เพราะท่านเป็นอธิการฯ ของคนงาน ไม่ใช่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย พอเห็นเค้าลางของการสืบทอดอำนาจหรือยัง ใกล้เลือกตั้งที ก็ต้องพาคนงานไปเที่ยว หรือขึ้นเงินเดือนให้ รวมถึงสัญญาว่าจะบรรจุเป็นพนักงาน จัดหาสวัสดิการให้ เท่านี้ก็ได้เสียงมาจมแล้ว

คราวนี้ย้อนกลับมาถึงกลุ่มคนที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับกิจการมหาวิทยาลัย อันที่จริงมหาวิทยาลัยทุกแห่งจะมีอยู่ 3 สภา 1 คณะกรรมการ นั่นคือ สภามหาวิทยาลัย สภาวิชาการ สภาคณาจารย์ และคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย พวกบรรดาพ่อค้า คหบดีทั้งหลาย ควรไปอยู่ในคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย จะได้ช่วยกันสร้างเสริมแสวงหาความร่วมมือภาคเอกชน เกื้อหนุนกิจการมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เอามานั่งในสภามหาวิทยาลัย ซึ่งควรเป็นที่นั่งของผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่งในเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย ก็บอกไว้อย่างนั้น พอมันผิดฝาผิดตัวแบบนี้ กรรมการสภามหาวิทยาลัยก็เลยมีแต่พ่อค้า ผู้รับเหมา ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับการบริหารเงิน บริหารงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กันและกันอย่างยิ่ง ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกบางคนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยโดยตรง เช่น เป็นอาจารย์พิเศษ หรือแม้แต่เป็นพนักงานก็มี บางคนเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยด้วย ลงทะเบียนเรียนเป็นนักศึกษาแท้ๆ แล้วถึงเวลาที่ต้องมานั่งอนุมัติปริญญาบัตร ไม่อายบ้างหรือไงที่ต้องอนุมัติปริญญาให้ตัวเอง อันนี้ก็ไม่ทราบว่าผิดระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ผิดจริยธรรมแน่นอน กระบวนการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในสภามหาวิทยาลัยจึงควรต้องยกเครื่องกันใหม่ รวมถึงการได้มาซึ่งสภามหาวิทยาลัย และนายกสภาฯ ด้วย ถ้านายกสภาฯ ยังมานั่งเกาหลังให้อธิการฯ อยู่ อย่ามีเสียเลยดีกว่า เสียเวลา เสียเกียรติภูมิและศักดิ์ศรี

"ตราบใดที่ระบบเช่นนี้ยังครอบงำมหาวิทยาลัยไทยอยู่ เชื่อแน่ว่าคุณภาพการศึกษา และการเป็นที่พึ่งของสังคม การเป็นภูมิปัญญาเพื่อนำสังคมไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ไม่มีทางเกิดขึ้นได้แน่นอน..."

หน้า 6,มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2555

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook