เกาหลีใต้: ความปราชัยของการศึกษา ชัยชนะของรร.กวดวิชา พันธนาการที่สะบัดไม่หลุดของเยาวชน

เกาหลีใต้: ความปราชัยของการศึกษา ชัยชนะของรร.กวดวิชา พันธนาการที่สะบัดไม่หลุดของเยาวชน

เกาหลีใต้: ความปราชัยของการศึกษา ชัยชนะของรร.กวดวิชา พันธนาการที่สะบัดไม่หลุดของเยาวชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook



ในคืนวันฝนตกในกรุงโซล เจ้าหน้าที่ราชการหกคนรวมตัวกันที่สำนักงาน เพื่อเตรียมตัวก่อนที่จะออกไปลาดตระเวนยามค่ำคืน หน้าที่ของพวกเขาก็ไม่ยากอะไรนัก ซึ่งก็คือการค้นหาเด็กๆที่ยังคงติวหนังสือหลังจากเวลาสี่ทุ่ม และหยุดการกระทำของเยาวชนเหล่านั้น

ในเกาหลีใต้ การเรียนหนักเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติ และนำมาสู่มาตรการลดอาการเสพติดการติวหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามสถาบันกวดวิชาที่ยังคงเปิดสอนเกินเวลา หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "ฮักวอน" (hagwon) ทางการเริ่มบังคับใช้กฎเคอร์ฟิวแก่สถาบันเหล่านั้น หรือแม้กระทั่งการให้เงินล่อใจแก่ประชาชนที่สามารถชี้จุดให้ทางการทราบว่ามีโรงเรียนกวดวิชาใดที่เปิดหลังสี่ทุ่ม

โรงเรียนกวดวิชาในย่านกังนัม

ปฏิบัติการเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยมีชา บอง ชุล เจ้าหน้าที่สำนักงานการศึกษาเขตกังนัมของกรุงโซล เป็นหัวหน้าทีม เขากล่าวว่า ในการลาดตระเวนครั้งหนึ่ง เคยตรวจพบเด็กหญิง-ชายมากกว่า 10 คนรวมตัวอยู่บนอาคารโรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่งหลังห้าทุ่ม ก่อนที่จะแนะนำให้เด็กๆกลับบ้านเสีย โดยกล่าวแต่เพียงว่า คนที่กระทำผิดคือโรงเรียนกวดวิชา ไม่ใช่พวกเขา

ชากล่าวว่า โดยทั่วไปเขาจะเริ่มออกสำรวจเมื่อเวลาผ่านไป 20 นาทีหลังสี่ทุ่มเป็นต้นไป ดังนั้น คนที่ถูกจับได้จึงไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปยังย่านแดจิดอง ซึ่งเป็นย่านที่เต็มไปด้วยโรงเรียนกวดวิชาสารพัดแบบ บนท้องถนนเต็มไปด้วยพ่อแม่ผู้ปกครองที่มารับบุตรหลานของตน

เมื่อเวลาห้าทุ่มมาถึง เขาเดินเลี้ยวเข้าไปยังตรอกเล็กๆแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะเดินขึ้นชั้นบนของอาคารต้องสงสัย บนชั้นสอง เจ้าหน้าที่หญิงของหน่วยเป็นผู้เคาะประตูเรียกคนที่อยู่ด้านใน ก่อนที่จะมีเสียงแว่วๆออกมาให้รอสักครู่ เช่นนั้น เขาจึงส่งให้หนึ่งในทีมลงไปดักอยู่ด้านล่างบริเวณหน้าลิฟท์ และการจับกุมก็เริ่มขึ้น

การบุกทลายโรงเรียนกวดวิชาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการลด"วัฒนธรรมการศึกษาอย่างเอาเป็นเอาตาย"ของเกาหลีใต้ ในการสอบแข่งขันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รัฐบาลได้พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบของข้อสอบและนโยบายการรับเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย เพื่อหวังลดความกดดันของนักเรียน และมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์แทน

แต่ปัญหาดังกล่าว นับวันยิ่งจะฝังรากลึกลงในระบบการศึกษาของเอเชีย ที่เกิดค่านิยมใหม่ว่า การศึกษาที่ดีที่สุดเท่านั้น จึงจะนำมาสู่ความสำเร็จทางอาชีพการงาน โดยพบว่าครอบครัวชาวจีน เริ่มจ้างครูสอนพิเศษให้แก่ลูกหลายของตนมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 7

แต่เกาหลีใต้ไปไกลกว่านั้น โดยในปี 2010 พบว่ากว่า 74% ของนักเรียนเกาหลีทั้งหมด จะต้องเคยร่วมการกวดวิชาไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง บางครั้งเราเรียกการศึกษาเช่นนี้ว่า "การศึกษาเงา" (shadow education) โดยนักเรียนแต่ละคนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไปเฉลี่ยปีละ 2,600 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 78,000 บาท)

นอกจากนั้นยังพบว่า จำนวนครูในโรงเรียนกวดวิชามีมากกว่าครูในโรงเรียนปกติ และครูหรือติวเตอร์ที่ได้รับความนิยม อาจมีรายได้มากกว่าหลายล้านดอลลาร์ต่อปี ทั้งการสอนผ่านออนไลน์ และการสอนแบบตัวต่อตัว จนครั้งหนึ่ง รัฐมนตรีศึกษาธิการของสิงคโปร์ ได้ให้คำตอบต่อคำถามที่ว่า ประเทศควรพึ่งพาการเรียนการสอนแบบโรงเรียนกวดวิชาหรือไม่ โดยเขาตอบอย่างมีความหวังว่า "ที่บ้านเราคงไม่เลวร้ายเท่าที่เกาหลี"

ในกรุงโซล นักเรียนจำนวนมากที่พลาดหวังกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ต่างใช้เวลาตลอดทั้งปี ในการทุ่มเทศึกษาในโรงเรียนกวดวิชา เพื่อพัฒนาคะแนนให้สูงพอที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการ ไม่เว้นแม้แต่การแข่งขันเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชาชั้นนำ ที่สถาบันแดซุง การรับนักเรียนจะพิจารณาถึงคะแนนทดสอบ โดยมีเพียง 14% ของผู้เข้าสอบทั้งหมดเท่านั้นที่สมหวัง หลังจากการเรียนอย่างหนักทั้งสิ้น 14 ชม.ต่อวัน นักเรียนกว่า 70%ของที่นี่ สามารถเข้าเรียนในสถาบันระดับอุดมศึกษาชั้นนำ 3 อันดับแรกของประเทศได้สำเร็จ

เมื่อมองจากสายตาของคนนอก ผลการศึกษาของนักเรียนที่นี่ถือว่าน่าภูมิใจ และเป็นที่อิจฉาของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคะแนนในวิชาการอ่านและคณิตศาสตร์ จนกระทั่งประธานาธิบดีบารัก โอบามา และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ต้องเอ่ยปากชมความกระตือรือร้นของพ่อแม่ชาวเกาหลี ที่สนับสนุนการศึกษาของบุตรหลานอย่างเต็มกำลัง

หากว่าปราศจากความลุ่มหลงในการศึกษาแล้ว เกาหลีใต้อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงสู่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกเช่นในทุกวันนี้ โดยนับตั้งแต่ปี 1962 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) พุ่งขึ้นมากถึง 40,000% และทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 13 ของโลก

ขณะที่ผู้นำประเทศ แสดงความกังวลว่า หากยังคงปล่อยให้ระบบที่ไม่มีความยืดหยุ่นและขาดการจัดลำดับความสำคัญดำเนินต่อไป เศรษฐกิจก็จะประสบกับภาวะชะงักงันในที่สุด และความเติบโตก็จะอยู่ในภาวะถดถอย ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองยังคงต้องแบกรับภาระในการจ่ายค่าเรียนพิเศษให้แก่ลูกหลานของตนต่อไป

แต่ในเอเชีย ไม่ได้มีเพียงเกาหลีที่ต้องประสบกับภาวะเช่นนี้ ขณะที่หลายโรงเรียนพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็น"อเมริกัน"มากขึ้น แต่พบว่าโรงเรียนในสหรัฐฯบางแห่งพยายามปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบ"เอเชีย"แทน

ในประเทศจีน มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มใช้บททดสอบใหม่ โดยมุ่งเน้นไปยังนักศึกษาที่มีความสามารถพิเศษ นอกเหนือจากความรู้จากการศึกษาจากตำราเรียนทั่วไป ขณะที่ไต้หวัน เริ่มประกาศใช้นโบายใหม่ โดยเด็กๆไม่ต้องหน้าดำคร่ำเครียดกับการทำข้อสอบเพื่อเข้าเรียนในระดับมัธยมปลายอีกต่อไป และหากว่าเกาหลี ซึ่งอยู่ ณ ตำแหน่งสูงสุดของการศึกษาแบบสุดขั้ว สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสม นั่นจะทำให้เกาหลีเป็นประเทศต้นแบบให้แก่ประเทศอื่นๆได้ไม่ยาก

แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เด็กๆชาวเกาหลีใต้ได้รับการศึกษาที่ไม่เพียงพอ หรือเล่าเรียนให้หนักมากพอ แต่กลับพบว่าพวกเขาเรียนกันอย่างไม่รอบคอบพอ จากการสำรวจในบางโรงเรียนพบว่า หนึ่งในสามของนักเรียนแอบงีบหลับระหว่างที่ครูกำลังสอน และดูเหมือนว่าไม่มีใครสนใจจะปลุกพวกเขาให้ตื่น ร้านกิฟท์ช็อปหลายแห่งจำหน่ายหมอนที่ทำขึ้นมาพิเศษ เพื่อให้ผู้ใช้สวมบริเวณแขนและนอนหลับบนโต๊ะเรียนได้อย่างสบายยิ่งขึ้น นั่นเท่ากับว่า เด็กสามารถหลับในชั้นเรียนได้มากขึ้น แต่ต้องไปใช้เวลาในชั้นเรียนพิเศษจนดึกดื่นเพิ่มขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศเดียวในยุโรป ที่ยังคงมีระบบการสอบเข้าเรียนชั้นมัธยมปลายคล้ายคลึงกับเกาหลีใต้ พบว่าฟินแลนด์มีค่าใช้จ่ายในการเข้าเรียนทั้งในโรงเรียนรัฐบาลและเอกชนรวมกันน้อยกว่าของเกาหลีใต้ และมีเพียงนักเรียนเพียง 13% เท่านั้น ที่ต้องเรียนพิเศษหลังการศึกษาภาคปกติ

ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาในเกาหลีใต้มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง

ชาวเกาหลีจำนวนมากต่างโอดครวญกับความไร้ประสิทธิภาพในระบบการศึกษามานานหลายปี ขณะที่รัฐบาลได้พยายามที่จะทำให้ระบบการศึกษา"มีความเป็นมนุษย์"ยิ่งขึ้นกว่านี้อยู่หลายครั้ง อาทิ ลดความซับซ้อนของข้อสอบแอดมิชชันลง เพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนนอกเวลา และไปไกลถึงขั้นการแบนโรงเรียนกวดวิชาในช่วงยุค 1980 แต่จากความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าดังกล่าว ยิ่งทำให้โรงเรียนกวดวิชากลับมาเข้มแข็งยิ่งขึ้น เนื่องมาจากค่านิยมการให้รางวัลยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เด็กชาวเกาหลีมุมานะเพื่อการศึกษาเพียงเพื่อเหตุผลเดียว นั่นก็คือการได้เล่าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ แม้หนทางจะยากลำบาก แต่ผลตอบแทนหากทำได้กลับยิ่งใหญ่กว่านั้น

แต่ ณ ขณะนี้ หน่วยงานการศึกษากล่าวแย้งว่า การปฏิรูปมิได้พุ่งเป้าไปที่"อาการ"ของความไร้สมรรถภาพเท่านั้น แต่ยังมุ่งไปที่ต้นเหตุของมัน และพยายามทำงานเพื่อเร่งปรับปรุงโรงเรียนรัฐบาลทั่วไป โดยการประเมินคุณภาพครูอาจารย์และวิธีการทำงานอย่างเข้มงวด ที่รวมถึงการให้นักเรียน ผู้ปกครอง และคณาจารย์ด้วยกันทำแบบสำรวจความคิดเห็น และฝึกอบรมความรู้ให้แก่ครูที่ได้รับคะแนนจากการประเมินต่ำ

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลหวังที่จะลดความเครียดของนักเรียน โดยวิธีการลงโทษทางกายทุกประเภทถูกสั่งห้ามโดยเด็ดขาด แม้ว่านักเรียนจำนวนมากจะกล่าวว่า พวกเขายังเห็นวิธีการเช่นนี้อยู่ก็ตาม นอกจากนั้น การสอบแอดมิชชันเข้าโรงเรียนมัธยมปลายแบบ"พิเศษ" อาทิเช่น โรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ ก็ถูกยกเลิกด้วยเช่นกัน

ขณะที่โรงเรียนในระดับกลาง จะรับเด็กเข้าเรียนโดยพิจารณาถึงเกณฑ์พื้นฐานของเกรดเฉลี่ยและการสัมภาษณ์ โดยเจ้าหน้าที่ที่ทำการสอบกว่า 500 คน จะถูกส่งไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ เพื่อทำการคัดเลือกผู้เข้าเรียน โดยมิได้คำนึงเฉพาะแต่คะแนนสอบและเกรดเฉลี่ยอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังพิจารณาถึงความสามารถของแต่ละบุคคลด้วย

ไม่มีใครออกมาแก้ตัวให้แก่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นักเรียนชายชั้น ม.ปลายคนหนึ่งกล่าวว่า "พวกเราเรียนตลอดเวลา ยกเว้นก็แต่ตอนนอนเท่านั้น"

โดยปกติ การเรียนหนังสือในเกาหลีจะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 8 โมงเช้า และสิ้นสุดลงประมาณ 4 ทุ่ม กระทั่งถึงตีหนึ่ง ขึ้นอยู่กับแรงฮึดของนักเรียนแต่ละคน แต่ก็มียกเว้นในโรงเรียนที่สอนในสายวิชาชีพบ้าง แต่ส่วนใหญ่มักต้องยอมสยบให้แก่พ่อแม่ที่คอยรบเร้าให้เรียนเพิ่ม หรือแรงกดดันที่ได้เห็นเพื่อนๆคนอื่น นักเรียนชายคนหนึ่งเปิดเผยว่า เขารู้สึกเจ็บปวดใจทุกครั้งที่เห็นเพื่อนๆกลายเป็นคู่แข่งกัน แทนที่จะช่วยเหลือกันอย่างแต่ก่อน

ผู้ปกครองกลายเป็นตัวขับสำคัญในสังเวียนการแข่งขันด้านการศึกษา และไม่มีทางที่จะเปลี่ยนความคิดได้ง่ายๆ ฮานยุนฮี ครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนมัธยมจองบาล ในเมืองอิลซาน ย่านชานกรุงโซล ความวิตกกังวลของผู้ปกครองเป็นสิ่งที่ไม่มีทางลบออกง่ายๆ เธอแนะนำให้นักเรียนของเธอเลิกเรียนพิเศษเสีย และตั้งใจเรียนในชั้นเรียนยิ่งขึ้น แต่ผู้ปกครองก็ยังรู้สึกกังวลทุกครั้งที่บุตรหลานของตนไม่ได้ไปเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน

บางครั้งก็เป็นการยากที่จะทราบว่า "ใครแข่งขันกับใคร" เด็กๆ หรือว่าเหล่าแม่ๆของพวกเขา ในข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยปี 1964 มีคำถามหนึ่งถามว่า ส่วนประกอบในท็อฟฟี่มีอะไรบ้าง แต่ผู้ออกข้อสอบกลับทำให้มันมีสองคำตอบโดยไม่ตั้งใจ และเพื่อเป็นการประท้วงความประมาทเลินเล่อในครั้งนั้น บรรดาแม่ของเด็กทั้งหลาย ได้ประท้วงโดยการทำท็อฟฟี่หน้าที่ทำการรัฐบาล โดยใช้ส่วนผสมต่างๆกัน และในที่สุด พวกเธอก็เป็นฝ่ายชนะ และทำให้รมช.ศึกษาธิการต้องขอลาออก ทำให้นักเรียนหลายคนสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้อีกครั้ง

กระทรวงศึกษาธิการ ยังชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จประการหนึ่ง ซึ่งก็คือสามารถตัดค่าใช้จ่ายในส่วนการศึกษาภาคเอกชนได้ถึง 3.5% ในปี 2010 ซึ่งถือว่าลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มีการจับตาดูตัวเลขนี้ตั้งแต่ปี 2007 ขณะที่ชาวเกาหลียังคงใช้จ่ายเงินเป็นค่าเรียนพิเศษมากถึง 2% ของจีดีพีทั้งประเทศ



แอนดรูว์ คิมเชื่อว่าระบบการศึกษาของเกาหลีใต้ยังมาไม่ถูกทาง

แอนดรูว์ คิม ซึ่งเป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของสถาบัน Megastudy โรงเรียนกวดวิชาที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า เขามีรายได้จากการสอนแบบออนไลน์ และในชั้นเรียน มากกว่า 4 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว เขาเห็นด้วยที่ว่าระบบการศึกษายังอยู่ไกลเกินกว่าที่จะเรียกได้ว่า"อุดมคติ" และเขายังไม่เห็นว่านโยบายปฏิรูปการศึกษาจะส่งผลกระทบใดต่อรายได้ของเขา แอนดรูว์กล่าวว่า ยิ่งมาตรการเข้มงวดเท่าใด โรงเรียนกวดวิชาก็สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้มากเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เพื่อเป็นการแก้ลำนโยบายการประกาศเคอร์ฟิวแก่โรงเรียนกวดวิชาของรัฐบาล โรงเรียนต่างๆก็ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนเป็นแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น

ขณะที่โรงเรียนกวดวิชาที่ยังคงเปิดท้าทายกฎหมาย ก็ยังคงเปิดหลังเวลาเคอร์ฟิวโดยใช้วิธีการพรางตัว

จากการสำรวจในย่านแดจิดอง เจ้าหน้าที่ได้รอจนกระทั่งมีคนมาเปิดประตู ก่อนที่จะเข้าไปสำรวจด้านใน ซึ่งเป็นห้องขนาดเล็กที่มีเพดานเตี้ย อากาศเหม็นอับ โดยมีหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ให้ความสว่าง นักเรียนกว่า 40 คน จะมีโต๊ะเขียนหนังสือเล็กๆเป็นของตนเอง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว สภาพไม่แตกต่างจากห้องสมุดเล็กๆเท่าใดนัก มากกว่าจะเป็นโรงเรียนกวดวิชา

นักเรียนทุกคนได้รับเอกสารและการบ้านอย่างเดียวกัน และมีผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ดูคล้ายว่าทำหน้าที่เป็นครู ซึ่งหนึ่งในนั้นปฏิเสธว่าตนไม่ได้ทำอะไรผิด โดยกล่าวว่าตนมาทำงานของตนเองเท่านั้น และไม่ได้มาสอนหนังสือแต่อย่างใด ขณะที่ชา บอง ชุล ส่ายศีรษะ และกล่าวว่าเขาเคยประนีประนอมมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ได้รับเบาะแสที่แจ้งมาจำนวนมากเกี่ยวกับที่นี่ ว่ากำลังดำเนินกิจการโรงเรียนกวดวิชาที่ผิดกฎหมาย

หลังจากนั้น กลุ่มเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปยังห้องสมุดอีกหลายแห่ง แต่ไม่พบสิ่งใดน่าสงสัย ในเวลาราวเที่ยงคืน ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน หลังจากที่ได้ช่วยปลดปล่อยนักเรียนกว่า 40 คน จากจำนวนกว่า 4 ล้านคน ให้เป็นอิสระจากพันธนาการของการศึกษา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook