ถึงเวลา...สังคายนา สภามหาวิทยาลัย?!?

ถึงเวลา...สังคายนา สภามหาวิทยาลัย?!?

ถึงเวลา...สังคายนา สภามหาวิทยาลัย?!?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ คลื่นคิดข่าว โดย ขติยา มหาสินธ์ oui1@hotmail.com

ทุกครั้งที่มีข่าวหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐชี้มูลว่า "อธิการบดีมหาวิทยาลัยมีพฤติการณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของราชการนั้น" คำถามที่มักเกิดตามมาคือ สภามหาวิทยาลัยที่ควรเป็นหน่วยงานกำกับ ดูแล ตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจการบริหารของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง?

ความห่วงใยของนักวิชาการ คณาจารย์ และผู้เกี่ยวข้อง สะท้อนผ่านบทความทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่กังวลว่าสภามหาวิทยาลัยมีอิสระและมีอำนาจมากเกินไป กระทั่งนำมาสู่ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนและการพยายามสืบทอดอำนาจ

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายพยายามโต้แย้งว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ดีๆ ก็มีอยู่ เพียงแต่บางครั้งไม่อาจทำหน้าที่ได้เต็มที่ เนื่องจากพรรคพวกของอธิการบดีมีมากกว่า ประมาณว่าถ้ายกมือโหวต

คราใด ฟากอธิการบดีก็ชนะทุกครั้งไป เปรียบได้กับกรณีของอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่กำลังเป็นข่าวคราวอยู่ในขณะนี้ แม้จะมีการชี้มูลความผิดจากหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐมาแล้ว แต่สภามหาวิทยาลัยยังไม่กล้าลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง เพราะหวั่นว่าถ้ายกมือโหวต อาจจะเพลี่ยงพล้ำแพ้โหวตได้ เนื่องจากพรรคพวกของอธิการบดี

มีมากกว่า

ก็ไม่เสมอไปว่าแต่ละสภามหาวิทยาลัยจะมีพรรคพวกของอธิการบดีมากกว่า เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่มีข่าวอธิการบดีถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งในห้วง 10 ปีที่ผ่านมามีอธิการบดีถูกปลดแล้ว 4-5 คน สะท้อนว่าอุดมศึกษามีปัญหาจริง ดั่งที่นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า สังคมกำลังกังวลต่อความอิสระของมหาวิทยาลัยที่มีมากเกินไป จนเกิดปัญหาต่างๆ ทั้งด้านการเงิน วิชาการ การบริหารงานบุคคล แนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้จะต้องทำให้สภามหาวิทยาลัยมีความเข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบันกรรมการสภามหาวิทยาลัยรับหน้าที่เหมือนเป็นงานกิตติมศักดิ์ เพราะไม่มีเงินเดือน ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง มีแค่เบี้ยประชุม ดังนั้นจึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญ มองว่าการบริหารมหาวิทยาลัยเหมือนเป็นงานอดิเรกเท่านั้น

ว่ากันว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพียงแค่ทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยอาจไม่เพียงพอ แต่ควรแก้ไขถึงที่มาของสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกระบวนการสรรหา เพราะหลายครั้งพบว่าผู้ที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ซึ่งควรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่มีความเป็นกลาง ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย กลับกลายเป็นพ่อค้า คหบดี ผู้รับเหมา เป็นพรรคพวกของอธิการบดี อาจารย์พิเศษ พนักงานมหาวิทยาลัย หรือบางทีลงทะเบียนเรียนเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ก็มี เกิดภาพผลประโยชน์ทับซ้อน ผิดจริยธรรม และผิดกฎหมาย ด้วยว่าบริษัทที่รับเหมาก่อสร้างอาคารภายในมหาวิทยาลัย บางครั้งก็เป็นพรรคพวกของกรรมการสภามหาวิทยาลัยเอง พอถูกร้องเรียนก็ไม่อาจทำอะไรได้ เกิดสภาพลูบหน้าปะจมูก หรือไม่ก็เกิดคำเปรียบเปรยที่เจ็บแสบว่า "ผลัดกันเกาหลัง"

ปัญหาอุดมศึกษาที่หมักหมมมานานดังกล่าว ที่ปรึกษาฯภาวิชมองว่า "ควรต้องปรับแก้ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษา โดยต้องออกแบบระบบอุดมศึกษาใหม่ ทำให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระเหมือนเดิม แต่ต้องเป็นที่พึ่งของสังคมให้ได้มากขึ้น ไม่เคยเห็นประเทศไหนให้อิสระมหาวิทยาลัยมากเท่าประเทศไทย อย่างประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ให้อิสระกับมหาวิทยาลัย 100% เพราะมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปนั่งอยู่ในสภามหาวิทยาลัยด้วย"

ที่ผ่านมา สกอ.ออกแบบให้มหาวิทยาลัยมีอิสระ 100% โดยมีกฎหมายของตัวเอง ทำให้มีอิสระในทุกด้าน กระทั่งนำมาสู่ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ สกอ.ก็เข้าไปจัดการหรือลงโทษไม่ได้ ดั่งที่ นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ยอมรับว่าปัญหาที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งถูกชี้มูลว่ามีพฤติการณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ สกอ.ยังไม่สามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามคำแนะนำของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในขณะนี้ได้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยดังกล่าวมีข้อบังคับมหาวิทยาลัยที่ระบุว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอธิการบดีจะต้องแต่งตั้งบุคคลภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจก่อให้เกิดข้อครหาได้ว่าบุคคลนั้นเป็นพวกเดียวกับอธิการบดี หรือเป็นผู้ต่อต้านอธิการบดี สกอ.จึงกำลังดูข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่ามหาวิทยาลัยควรมีอิสระ

แต่ความอิสระควรมาพร้อมกับความรับผิดชอบ โดยมีระบบสภามหาวิทยาลัยที่เข้มแข็งคอยถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ กระบวนการสรรหาองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยต้องดำเนินไปตามหลักธรรมาภิบาล ไม่ควรมีนักการเมืองหรือมีผู้ส่วนได้ส่วนเสียเข้ามานั่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่สำคัญไม่ควรปล่อยให้สภามหาวิทยาลัยเลือกผู้บริหาร หรือผู้บริหารเลือกสภามหาวิทยาลัย เพราะย่อมส่งผลให้สภามหาวิทยาลัยง่อยเปลี้ย ไม่อาจทำหน้าที่ถ่วงดุลและตรวจสอบได้เต็มที่

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ความคาดหวังที่จะให้มหาวิทยาลัยยกคุณภาพอุดมศึกษาไทย และเป็นที่พึ่งของสังคม ก็คงเป็นจริงได้ยาก...

หน้า 16,มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่่ 8 ธันวาคม 2555

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook