เทรนด์การจ้างงานปี′56 อเด็คโก้ชี้วิศวะ-ผู้บริหารระดับสูงเข้าวิน

เทรนด์การจ้างงานปี′56 อเด็คโก้ชี้วิศวะ-ผู้บริหารระดับสูงเข้าวิน

เทรนด์การจ้างงานปี′56 อเด็คโก้ชี้วิศวะ-ผู้บริหารระดับสูงเข้าวิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เตรียมนับถอยหลังเข้าสู่ปี 2556 ที่ถือว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขององค์กรไทย ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ยังคงเป็นประเด็นฮอตที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่การแข่งขันในตลาดแรงงานก็ยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้ชัดว่าตลาดแรงงานตั้งแต่ต้นปีผ่านมาเกิดการโยกย้ายในกลุ่มแรงงานเฉพาะทางกันบ้างแล้ว ซึ่งหากจะมองภาพในตลาดนี้ให้ชัดขึ้น "อเด็คโก้" บริษัทให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล จึงชี้ให้เห็นว่าในปีนี้สถานการณ์แรงงานเกิดความต้องการคนทำงานมากขึ้นเกือบทุกสายอาชีพ และจะสืบเนื่องไปจนถึงปีหน้าอย่างเข้มข้น

"ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์" ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ไทย-เวียดนาม กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย จำกัด บอกว่า ที่ผ่านมามีผู้สมัครงานเพิ่มขึ้นเกือบทุกสายอาชีพ ทำให้เกิดการแข่งขันสูง โดยเฉพาะตำแหน่งงานใน 5 อันดับแรก

"หนึ่ง คือสายงานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่คนทำงานอยากทำมากที่สุด รองลงมา คือสายงานวิศวะ, ไอที, งานขาย และงานบัญชี ตามลำดับ และคาดว่าตลาดยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า"

"ขณะที่อันดับหนึ่งของตำแหน่งงานที่ตลาดต้องการรับมากที่สุดกลับเป็นสายงานวิศวะ รองลงมา คืองานขาย, เลขานุการ, งานบัญชี และงานไอที ตามลำดับ จะเห็นว่าตำแหน่งที่เปิดรับยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มคนที่ต้องการทำงานมากนัก จึงส่งผลให้เกิดการจ้างงานในภาวการณ์การแข่งขันที่สูงขึ้น"

"ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือในปี 2556 เทรนด์ของการจ้างแรงงานจะเน้นไปในทิศทางของแรงงานที่มีทักษะชำนาญเฉพาะทางมากกว่าแรงงานที่มีทักษะทั่วไป ประกอบกับภาพรวมจากปัจจัยที่ติดลบของวิกฤตยุโรปทำให้เงินลงทุนไหลเข้าเอเชียมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการแรงงานเกิดการจ้างงานในระดับปฏิบัติมากขึ้นด้วย"

"เมื่อเกิดการจ้างงานในระดับปฏิบัติการมากขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา อาจจะส่งผลกระทบต่อการเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า Talent Shortage คือการขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถ (talent) หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่เป็นความต้องการขององค์กรมากที่สุด จึงทำให้ผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการจ้างงานในตลาดกลับเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสามารถ (talent) แทนที่จะเป็นนายจ้างมากกว่า"

นอกจากนั้น "ธิดารัตน์" ยังมองว่า จะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานในระดับผู้บริหารไปสู่ประเทศที่กำลังพัฒนาใหม่ในแถบเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม, พม่า, ลาว, อินโดนีเซีย และกัมพูชา ดังนั้นจึงถือว่านี่จะเป็นโอกาสสำหรับผู้บริหารที่มีความพร้อมและความสามารถขั้นสูงได้ออกไปสู่ตลาดอาเซียนในคราวเดียวกัน

"ทั้งจะทำให้เกิดวงจรการเปลี่ยนงานที่สั้นลงในกลุ่มของ Generation Y และ Z ซึ่งเหลือเพียง 2-3 ปีของการทำงานในช่วง 1 องค์กรเท่านั้น ซึ่งตัวเร่งผลดังกล่าวอาจสืบเนื่องมาจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน โดยเฉพาะแรงงานทักษะในกลุ่ม 7 สาขาอาชีพ คือแพทย์, พยาบาล, ทันตแพทย์, บัญชี, วิศวกร, สถาปนิก และช่างสำรวจ"

ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้เปรียบต่อการเปิดเออีซีนั้น "ธิดารัตน์" มองว่า คงหนีไม่พ้นดาวเด่นของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งนับวันจะยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในแถบอาเซียน

"นอกจากนี้ไทยยังมีความโดดเด่นในด้านวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งเหมาะสมแก่การเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ประกอบกับรัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการท่องเที่ยวในปี 2558 ดังนั้นจึงถือว่าเราได้เปรียบในหลาย ๆ ด้านมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว และกัมพูชา"

"ดังนั้นผู้ประกอบการในภาคเอกชนควรมองภาพรวมนี้ให้เป็นโอกาสมากกว่าเป็นวิกฤต ในการเปลี่ยนตัวเองจาก Local Company ให้เป็น International Company เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในการส่งออก รวมถึงสามารถขยายฐานไปสู่ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านให้กว้างขึ้นได้"

"เพราะในฐานะผู้ประกอบการ เราจะต้องเตรียมปรับตัว พร้อมทั้งต้องรู้จักวิเคราะห์ความได้เปรียบทางการแข่งขันในมุมมองที่กว้างขึ้น และนี่คือการสร้างข้อได้เปรียบขององค์กรไทยให้ก้าวไปสู่ในระดับอาเซียนได้อย่างเต็มศักยภาพ"

ทั้งยังอาจส่งผลต่อไปสู่ระดับสากลได้ในอนาคตอีกด้วย !

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook