ม.รังสิต เปิดตัวโปรเจ็กต์อโยธยา "ขอเชิญมาร่วมสร้าง อโยธยากับมหาวิทยาลัยรังสิต"

ม.รังสิต เปิดตัวโปรเจ็กต์อโยธยา "ขอเชิญมาร่วมสร้าง อโยธยากับมหาวิทยาลัยรังสิต"

ม.รังสิต เปิดตัวโปรเจ็กต์อโยธยา "ขอเชิญมาร่วมสร้าง อโยธยากับมหาวิทยาลัยรังสิต"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ กลับจากรัสเซีย ได้มาเล่าให้กรรมการบริหารมหาวิทยาลัยรังสิตฟังว่า เดินทางไปชมพระราชวังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแล้วประทับใจมาก สถานที่แห่งนี้ถูกเผาทำลายราพณาสูรช่วงสงครามนาซี แต่ประเทศรัสเซียสามารถเนรมิตเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กให้กลับมางดงามดังเก่า ไม่เพียงแต่สถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้างภายนอกเท่านั้น กระทั่งเครื่องประดับเพชรนิลจินดาที่เป็นของตกแต่งภายใน ยังตรวจสอบข้อมูลว่าเคยประดับด้วยสิ่งใด จากนั้นก็ไปเสาะแสวงหาสิ่งนั้นมา


ดร.อาทิตย์ ชวนคิดเล่นๆ ว่าคนไทยไปเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแล้วประทับใจ อยากไปอีก ถ้าเป็นอยุธยาบ้านเราล่ะ นักท่องเที่ยวต่างชาติมาแล้ว อยากมาอีกไหม ... ก็อาจจะได้คำตอบว่า นี่คือเมืองมรดกโลก ที่มีแต่กองซากปรักหักพัง มิหนำซ้ำ ทัศนียภาพรอบโบราณสถานยังเต็มไปด้วยเต้นท์ผ้าใบเก่าๆ แผงเช่าพระ วัตถุมงคล ของฝากของที่ระลึก ขายน้ำอัดลม ขายหวย ไร้ระเบียบ มั่วไปหมด


วันนั้น ดร.อาทิตย์ ตั้งโจทย์ไว้ว่า จะเป็นอย่างไร ถ้าเราเอาความรุ่งเรืองของอยุธยาในอดีต ให้กลับมาเรืองรองในปัจจุบัน


ย้อนขึ้นไปก่อนหน้านั้นอีกราวปีเศษ ดร.อาทิตย์ เคยประกาศนโยบาย "เส้นทางสู่ความเป็นเลิศ" ภายใต้หลักคิดว่า การศึกษาคือความเข้มแข็งของชาติ ประเทศไทยจะมีที่ยืนได้ในเวทีโลก ต้องเริ่มต้นที่การศึกษา หมดยุคที่มหาวิทยาลัยจะมัวแต่สอนหนังสือ หรือทำวิจัยประเภทลอยตัวอยู่บนหอคอยงาช้าง จะปฏิรูปประเทศไทย ต้องใช้การศึกษา และต้องทำอย่างมีกลยุทธ์


คนไทยเราเก่งอะไร เรื่องอะไรสู้คนอื่นได้ เรื่องอะไรสู้ไม่ได้ ได้คำตอบง่ายๆ ว่า เรื่องฮาร์ดแวร์ อย่าไปเน้น ทำได้อย่างมากก็แค่ประกอบให้คนอื่นเขา เพราะเรายังไม่มีระบบ R&D ที่เข้มแข็ง สิ่งที่คนไทยเชี่ยวชาญและต้องสนับสนุนให้เต็มที่ คือเรื่องซอฟต์แวร์ และเรื่องคน เช่น ด้านการแพทย์ หมอไทย พยาบาลไทย ไม่เป็นรองใครในโลก สอง ด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเขาไม่ได้ติดใจที่ความงามตามธรรมชาติหรือศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น แต่เขาหลงใหลความเป็นมิตร น้ำจิตน้ำใจของคนไทยที่มีต่อแขกต่างบ้านต่างเมืองอีกด้วย และสาม ด้านความคิดสร้างสรรค์ การส่งออกวัฒนธรรม ญี่ปุ่นใช้การ์ตูน ไต้หวันใช้เกม เกาหลีใช้ภาพยนตร์ เพลง และละครซีรีส์ ... เรื่องพวกนี้คนไทยไม่แพ้ชาติไหนเลย


จึงเป็นที่มาว่ามหาวิทยาลัยรังสิตคิดจะทำหนัง และจะขอแรงสนับสนุนจากทุกท่านมาช่วยเหลือกัน


โปรเจกต์ "อโยธยา" เริ่มต้นจากความคิดความฝันที่ ดร.อาทิตย์ตั้งต้นไว้ จากนั้นหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยรังสิต อาทิ คณะศิลปะและการออกแบบ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ, ดิจิทัลอาร์ต ฯลฯ ก็รับช่วงต่อ ตั้งแต่การวิจัยทำข้อมูล ที่เกี่ยวกับอยุธยาในยุครุ่งโรจน์ ทั้งงานด้านสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ จนถึงขั้นตอนการเขียนบทและผลิตชิ้นงาน โดยอาจารย์ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาคอมพิวเตอร์อาร์ต ซึ่งฝากผลงานเป็นที่ประจักษ์มาแล้วกับภาพยนตร์แอนิเมชั่น เรื่อง "ยักษ์"


วันนี้หนังตัวอย่าง อโยธยา ความยาว 3.53 นาที ปรากฎต่อสายตาท่านแล้ว


หนังตัวอย่าง แปลว่ามันเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ฉากสุดท้ายของหนัง จบด้วยประโยคว่า มาร่วมสร้าง อโยธยากับมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อจะส่งสารมายังทุกท่านว่า เรายังต้องการผู้คนที่ถนัดและรอบรู้ด้านต่างๆ มาช่วยอีกมาก เรายังขาดเงินทุนสนับสนุนอีกไม่น้อย หากท่านคิดว่าจะช่วยเหลือประการใด มหาวิทยาลัยรังสิตขอน้อมรับด้วยความยินดี


ด้วยความเชื่อมั่นอย่างที่สุดว่า หากพวกเราช่วยกันสร้างสรรค์จนสำเร็จ "อโยธยา" จะมิได้เป็นเพียงภาพยนตร์แห่งจินตนาการ ที่นำอดีตอันแสนวิเศษโคจรมาพบกับปัจจุบันเท่านั้น แต่มันจะเป็นผลงานที่ฝากไว้ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน


"มาร่วมสร้างอโยธยากับมหาวิทยาลัยรังสิต" กันนะครับ :)
 
/ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ
ผู้อำนวยการสำนักงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook