บุคลิกภาพมีผลต่อเกรดมากกว่าที่เราคิด

บุคลิกภาพมีผลต่อเกรดมากกว่าที่เราคิด

บุคลิกภาพมีผลต่อเกรดมากกว่าที่เราคิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน โดย วินิทรา นวลละออง

เราเชื่อมาตลอดว่าความสามารถในการเรียนเป็นเรื่องของสติปัญญาหรือไอคิว (IQ) เสียส่วนใหญ่ ส่วนคะแนนสอบหรือเกรดตอนปลายภาคเรียนอาจจะเป็นเราเชื่อมาตลอดว่าความสามารถในการเรียนเป็นเรื่องของสติปัญญาหรือไอคิว (IQ) เสียส่วนใหญ่ ส่วนคะแนนสอบหรือเกรดตอนปลายภาคเรียนอาจจะเป็นผลรวมระหว่าง IQ กับความอุตสาหะ แต่มีการศึกษาที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งบอกว่าบุคลิกภาพของเรานี่ล่ะค่ะ สัมพันธ์กับเกรดด้วยเหมือนกัน

คิดถึงเรื่องนี้ตอนอ่าน "บารากะมอน เกาะมีฮา คนมีเฮ เล่ม 3" แล้วขำคิกคักจนพ่อสารถีที่นอนอยู่ข้างๆ แปลกใจ บารากะมอนเป็นเรื่องของ "ฮันดะ เซย์ชู" เด็กหนุ่มหน้าใสทายาทนักเขียนอักษรที่ดำเนินรอยตามพ่อแบบลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ความที่ฮันดะชนะการประกวดเขียนอักษรตั้งแต่อายุไม่มาก เขาจึงถูกจับตามองในฐานะคลื่นลูกใหม่ของวงการ แต่สายตาชื่นชมก็มาพร้อมกับความเข้มงวด ครั้งสุดท้ายที่เด็กดีของพ่ออย่างเขาได้เพียงรางวัลที่ 2 ในการประกวด

ฮันดะถูกวิจารณ์ต่อหน้าว่าเขียนอักษรได้น่าเบื่อเหลือเกิน เพราะเขียนตามรูปแบบมาตรฐานเหมือนในตำราเรียน พูดแบบนี้ก็มีปี๊ดแตกสิคะ ฮันดะจึงปล่อยหมัดชกผู้อาวุโสแห่งวงการเขียนอักษรด้วยความโกรธ และถูกพ่อส่งให้ไปสงบสติอารมณ์ยังเกาะห่างไกลความเจริญในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้ฮันดะได้มองเห็นว่าการเขียนอักษรตามมาตรฐานเหมือนการเรียนในโรงเรียน (studying) คงไม่ใช่คำตอบของชีวิตเท่ากับการเรียนรู้วิถีแห่งอักษรจากผู้คนที่อาศัยบนเกาะห่างไกลแห่งนั้น (learning)

ฮันดะคือตัวแทนของบุคลิกภาพ "รู้ผิดชอบชั่วดี" (conscientiousness) หนึ่งในห้าบุคลิกภาพตามทฤษฎี Big Five ซึ่งใช้ในการศึกษานี้ค่ะ คุณเพีย โรแซนเดอร์ เก็บข้อมูลนักเรียน ม.4 อายุ 16 ปี จำนวน 200 คน ในประเทศสวีเดน และติดตามต่อมาอีก 3 ปี เพื่อดูว่าเด็กเหล่านี้มีบุคลิกภาพแบบใดในห้าแบบ หลังจากนั้นจึงหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพกับเกรดและ IQ ค่ะ ทำความเข้าใจทฤษฎีบิ๊กไฟฟ์สักนิดนะคะ

ทฤษฎีนี้นำเสนอลักษณะที่พบเป็นรูปแบบซ้ำๆ ในคน 5 แบบ ประกอบด้วย 1) "ชอบสังคม" (extraversion) กลุ่มนี้มีลักษณะพูดเก่ง ยิ่งพูดยิ่งพลังเยอะ ชอบเข้าสังคม และชอบสิ่งตื่นเต้น, 2) "เห็นดีด้วย" (agreeableness) เป็นคนไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่น ทำสิ่งใดโดยคิดถึงผู้อื่นเป็นหลัก ชอบช่วยเหลือสังคม ใจดีต่อผู้อื่น, 3) "รู้ผิดชอบชั่วดี" (conscientiousness) มักมีวิจารณญาณสูง รอบคอบ เจ้าแผนการ คุมตนเองได้ดี ทำอะไรมีเป้าหมายเสมอ มักเตรียมการล่วงหน้า, 4) "อารมณ์อ่อนไหว" (neuroticism) อารมณ์หวั่นไหวง่าย ขี้กังวล หงุดหงิดง่าย เศร้าบ่อยๆ, และ 5) "ตรงไปตรงมา" (openness) มีจินตนาการ เข้าใจอะไรง่าย มีความสนใจหลากหลาย

ผลการศึกษาพบว่า "รู้ผิดชอบชั่วดี" คือบุคลิกภาพที่สัมพันธ์กับการได้เกรดสูงค่ะ จึงไม่น่าแปลกใจที่ฮันดะเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งวงการซึ่งเก่งจนเป็นที่ยอมรับ เช่นเดียวกับที่เขาหงุดหงิดง่าย ผลการศึกษาก็บอกว่าบุคลิกภาพแบบ "อารมณ์อ่อนไหว" ก็มักได้เกรดสูงเช่นกัน แต่ที่กลุ่มนี้เกรดสูงเพราะมีแรงขับดันจากความกลัวและวิตกกังวลจนต้องพยายามดิ้นรนให้ตัวเองได้เกรดเยอะๆ ซึ่งว่ากันตามแนวทางการศึกษายุคใหม่ เราไม่อยากให้เด็กขยันเรียนเพราะกลัวสอบตกหรือกังวลว่าเกรดจะน้อยแบบนี้ค่ะ ส่วนอีก 3 บุคลิกภาพเขาพบว่าไม่ได้สัมพันธ์กับการได้เกรดเยอะๆ แต่อย่างใด แสดงว่าเด็ก 3 บุคลิกภาพที่เหลืออาจจะได้เกรดดีจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่จากบุคลิกภาพ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เก่งนะคะ

นอกจากนั้น คุณเพียยังพบว่าเด็กผู้หญิงที่ IQ สูงสัมพันธ์กับบุคลิกภาพแบบ "รู้ผิดชอบชั่วดี" ค่ะ แต่น่าตกใจว่าเด็กผู้ชายที่มีบุคลิกภาพแบบเดียวกันนี้มักจะมีระดับ IQ ต่ำกว่าเด็กผู้ชายที่มีบุคลิกภาพแบบอื่น

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ บุคลิกภาพแบบชอบเก็บตัว (introvert) มักสอบได้เกรดสูงกว่าแบบชอบสังคม (extravert) ดังนั้น การที่โรงเรียนในปัจจุบันพยายามสนับสนุนให้เด็กทำกิจกรรมหรือเข้าสังคมให้มากกว่าการศึกษาด้วยตนเองคนเดียวเงียบๆ แต่กลับยังคงใช้คะแนนสอบในการจัดลำดับเด็กจึงเป็นความขัดแย้งอยู่พอสมควร เพราะเรารู้ดีว่าเด็กที่ชอบนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ มักจะได้เกรดสูงกว่าเด็กที่ชอบออกไปเตะบอลกับเพื่อน ถ้าครูอยากให้เด็กเข้าสังคมมากกว่าเล่นคนเดียวก็ควรจะให้น้ำหนักคะแนนจากกิจกรรมมากกว่าคะแนนสอบปลายภาค ซึ่งหลายโรงเรียนก็เริ่มถ่ายน้ำหนักแบบนี้บ้างแล้วค่ะ

อย่างไรก็ตาม เกรดไม่ได้เป็นตัวทำนายความสำเร็จของการศึกษาเท่าความสามารถในการเรียนรู้ (learning) ซึ่งวัดได้ยากค่ะ และไม่ว่าเด็กจะ IQ สูงหรือต่ำ และชอบอ่านหนังสือเงียบๆ หรือชอบเตะบอล ก็ล้วนประสบความสำเร็จในแบบที่ตัวเขาเป็นได้โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่นค่ะ

หน้า 14 มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook