สทศ.รับ "ข้อสอบวิทย์โอเน็ต" ชั้นม.6 ผิดพลาด - ให้ฟรี 24 คะแนนกับเด็ก 4 แสนคน

สทศ.รับ "ข้อสอบวิทย์โอเน็ต" ชั้นม.6 ผิดพลาด - ให้ฟรี 24 คะแนนกับเด็ก 4 แสนคน

สทศ.รับ "ข้อสอบวิทย์โอเน็ต" ชั้นม.6 ผิดพลาด - ให้ฟรี 24 คะแนนกับเด็ก 4 แสนคน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. กล่าวถึงปัญหาข้อสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ชั้น ม.6 วิชาวิทยาศาสตร์ ชุดที่ 200 ซึ่งมีเด็กชั้นม.6 โพสต์ผ่านเว็บไซต์ดังว่า วิชานี้มีข้อซ้ำเยอะมาก เลขข้อก็ขาดหายไปและเรียงลำดับข้อไม่ถูก โดยมีมากกว่า 30 ข้อรวมแล้วกว่า 40 คะแนน ว่า ตนได้รับรายงานว่าข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ ชุดที่ 200 มีปัญหาตั้งแต่เมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 10 ก.พ. ตนและคณะทำงานจึงตรวจสอบข้อสอบชุดที่ 100 และ 200 ที่อยู่ในห้องลับที่ สทศ. พบว่าข้อสอบถูกต้องทั้ง 2 ชุด ไม่ได้มีปัญหา ตนจึงให้ศูนย์สอบม.นเรศวร ม.เชียงใหม่ และม.ขอนแก่น ส่งแฟกซ์ข้อสอบชุดที่ 200 ที่มีปัญหามาตรวจสอบอีกครั้ง ปรากฏว่าข้อสอบชุดนี้ผิดพลาดจริง จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้น

ผอ.สทศ.กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ในเบื้องต้นพบว่า ชุดที่ 100 มีผู้มีสิทธิ์สอบประมาณ 200,000 คน และชุดที่ 200 มีผู้มีสิทธิ์สอบประมาณ 200,000 คน โดยข้อสอบชุดที่ 100 ไม่มีปัญหา แต่ชุดที่ 200 มีปัญหาประมาณ 80,000 ฉบับ ซึ่งพบว่ามีโจทย์ซ้ำกัน 16 ข้อ ในจำนวนนี้มีหมายเลขข้อซ้ำกัน 9 ข้อ ทำให้เด็กไม่สามารถฝนกระดาษคำตอบได้ คะแนนเด็กจึงหายไป 9 คะแนน นอกจากนี้ยังพบว่าโจทย์หายไปอีก 13 ข้อ แบ่งเป็นข้อละ 1 คะแนน 11 ข้อ ข้อละ 2 คะแนน 2 ข้อ รวม 15 คะแนน ทั้งนี้ เมื่อรวมคะแนนทั้ง 2 ส่วน คะแนนจะหายไป 24 คะแนน ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของเด็กผู้เข้าสอบทุกคน สทศ.จึงให้คะแนนฟรี 24 คะแนนกับเด็กที่เข้าสอบวิชาวิทยาศาสตร์ทั้งหมดประมาณ 400,000 คน

"ต้องขอโทษที่การจัดสอบมีปัญหา รู้สึกเสียใจที่พยายามดำเนินการและตรวจสอบให้ดีที่สุดแล้ว แต่กลับเกิดปัญหา ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้วว่าเกิดจากเหตุสุวิสัย ความประมาทเลินเล่อ หรือเป็นที่ระบบการผลิต หากพบว่าเกิดจากความประมาท ก็คงต้องปลดหรือเปลี่ยน เพราะคนไม่ดีผมไม่เอาไว้แน่นอน ส่วนหลังจากนี้ผมในฐานะผอ.สทศ. ก็มีหน้าที่ทำให้เกิดความมั่นใจและเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ซึ่งทั้งหมดก็คงจะต้องพิสูจน์กันด้วยผลงานข้างหน้าในอนาคต ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนที่จะต้องตรวจสอบให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม" ผอ.สทศ. กล่าว

ด้านนายพัฒนา ชนากร หัวหน้างานพัฒนาและบริหารการทดสอบอาชีวศึกษา และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษานอกอัธยาศัย ในฐานะกรรมการบริหารการสอบโอเน็ต กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากระบบการดึงข้อมูลสำหรับการพิมพ์ข้อสอบรวนในช่วงท้ายของการพิมพ์ข้อสอบชุด 200 แต่กลับไปดึงข้อสอบชุด100 มาแทนที่ จึงทำให้ข้อสอบสลับกันไปสลับกันมา ทั้งนี้ ในการควบคุมการผลิตข้อสอบจะไม่สามารถตรวจสอบเนื้อหา เพื่อรักษาความลับของข้อสอบ ตรวจได้เพียงเลขหน้ากระดาษข้อสอบเท่านั้น ซึ่งจากการตรวจสอบเลขหน้ากระดาษก็ถูกต้อง จึงถือเป็นเหตุสุดวิสัย ทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น

นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (บอร์ด สทศ.) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ผอ.สทศ. ทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรชี้แจงแก่ตน และตนจะเรียกประขุมบอร์ดสทศ.กลางเดือนก.พ.นี้ จากเดิมปลายเดือน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา ส่วนจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบผอ.สมศ.หรือไม่ ต้องดูรายละเอียดคำชี้แจงก่อน เพราะการทำงานของผอ.สทศ.ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าดำเนินการตามระเบียบที่ได้กำหนดไว้ เรื่องนี้ตนจะเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ด้านน.ส.เหมือนระวี ธานีโต นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า ตนและเพื่อนไม่มั่นใจในการจัดสอบโอเน็ต โดยปีนี้เป็นปีแรกที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ใช้คะแนนโอเน็ต 20 เปอร์เซ็นต์ ถ่วงน้ำหนักกับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (จีพีเอ) เท่ากับว่าจะไม่มีนักเรียนคนใดในประเทศไทยที่ได้เกรดเฉลี่ย 4.00 ทั้งนี้ ตนเข้าใจว่าการนำโอเน็ตมาถ่วงน้ำหนักจะทำให้เกิดความเป็นธรรม และจีพีเอมีมาตรฐาน แต่อยากให้เข้าใจว่ายังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการไปเรียนต่างระเทศ และการจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ ในต่างประเทศได้ ต้องใช้เกรดเฉลี่ยที่สูง ซึ่งตนเห็นว่าไม่เป็นธรรมหากจะนำคะแนนโอเน็ตที่ไม่ได้มาตรฐานมาถ่วงจีพีเอ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนเรื่องนี้ด้วย เพราะเท่าที่ดูข้อสอบโอเน็ตมีความผิดพลาดทุกปี

นายองศา จรรยาประเสริฐ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า การที่สทศ.ให้ฟรีคะแนนวิทยาศาสตร์ โอเน็ต 24 คะแนน ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ไม่สามารถวัดมาตรฐานของเด็กได้ และไม่เป็นธรรมแก่เด็ก เนื่องจากบางคนตั้งใจอ่านหนังสือ แต่บางคนกลับมองว่าวิชานี้ยาก แล้วไม่อ่าน กลับได้คะแนนฟรีเท่ากัน ดังนั้น ควรจะวางระบบให้รัดกุมและรอบคอบมากกว่านี้ ไม่ใช่พอเกิดปัญหาก็ขอโทษและโทษว่าเกิดจากระบบรวน นอกจากนี้อยากเรียกร้องให้ยกเลิกการนำคะแนนโอเน็ต 20 เปอร์เซ็นต์มาถ่วงคะแนนจีพีเอ เพราะคะแนนโอเน็ตไม่ได้มาตรฐานก็ไม่ควรเอามาวัด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook