อุกาบาตถล่มโลก ยังไร้สัญญาณเตือนภัย แต่เป็นจุดเปลี่ยนให้ "ชาวโลก" ต้องร่วมมือ

อุกาบาตถล่มโลก ยังไร้สัญญาณเตือนภัย แต่เป็นจุดเปลี่ยนให้ "ชาวโลก" ต้องร่วมมือ

อุกาบาตถล่มโลก ยังไร้สัญญาณเตือนภัย แต่เป็นจุดเปลี่ยนให้ "ชาวโลก" ต้องร่วมมือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เหตุการณ์ช็อกโลก ที่มีอุกกาบาตขนาด 7,000 ตัน ตกใส่โลกที่บริเวณเมืองเชลยาบินสก์ บริเวณตอนกลางของประเทศรัสเซีย เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 15 เดือนกุมภาพันธ์ บ้านเรือนเสียหาย 4,000 หลัง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง 1,200 ราย สร้างความหวาดหวั่นให้ผู้คนทั่วโลก

นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดี แห่งรัสเซีย ถึงกับขอบคุณพระเจ้า ที่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในเขตซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นของเมืองเชลยาบินสก์ มีประชากรมากถึง 1 ล้านคน มิฉะนั้น อาจจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้หลายร้อยเท่า

เมื่อลูกอุกกาบาตพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ความเร็วจะลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่เร็วมากอยู่ ทั้งนี้ การเข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลกก่อให้เกิดความร้อนสูงมากจนกระทั่งต้องระเบิดออกเป็นเสี่ยงๆ ถือว่าโชคดีมากที่ตอนระเบิดนั้น อยู่สูงเหนือพื้นโลกราว 30-50 กิโลเมตร

มิฉะนั้นแล้วประเทศรัสเซียอาจจะหายไปถึงครึ่งประเทศ เพราะระเบิดดังกล่าวนั้นมีความรุนแรงมากกว่าระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา 20 เท่า

อย่างไรก็ตาม รัศมีความรุนแรงของคลื่นกระแทก ที่ส่งผลหลังจากเจ้าอุกกาบาตลูกนั้นตกลงสู่ผิวโลกแล้วก็ไม่ธรรมดา เพราะสร้างความเสียหายหนักอย่างที่ไม่เคยเกิดในที่ใดมาก่อน

เรื่องของภัยพิบัติ ที่เกิดจากอุกกาบาตนั้น เรามักจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะดูเหมือนมันจะอยู่แต่ในนิยายวิทยาศาสตร์ หรือหนังมนุษย์ต่างดาวบุกโลกเท่านั้น แต่พอเห็นภาพจริงๆ จะจะที่เมืองเชลยาบินสก์แล้ว หลายคนเริ่มกลัว

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ บอกว่า ความจริงที่นักดาราศาสตร์ทั่วโลกทราบกันมาตลอดก็คือ โลกเรามีอุกกาบาตตกลงมาใส่ทุกวัน วันละหลายตัน เพียงแต่หลายๆ ครั้งนั้น มันไปตกในที่ที่เราไม่เห็น

"เพราะว่าโลกของเรานั้น มีพื้นที่ที่เป็นน้ำมากกว่าพื้นที่บก และมีพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่ น้อยกว่าพื้นที่ที่ไม่มีคน ดังนั้น ทุกวันที่มีอุกกาบาตตกลงมานั้นเราจึงมองไม่เห็น แต่เนื่องจากเวลานี้เมืองขยายตัวมากขึ้น พื้นที่ไม่เคยมีคนอยู่ก็มีคนไปอยู่ ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ ถ้าเราตรวจหาไม่เจอว่ามีอุกกาบาตกำลังเคลื่อนที่เข้าหาโลก และไม่รู้ว่ามันจะพุ่งใส่โลกหรือไม่ เราก็จะไม่มีโอกาสรู้เลยว่าจะเกิดภัยพิบัติจากอุกกาบาตที่ไหนได้บ้าง" รศ.บุญรักษากล่าว

นายวิมุต วสะหลาย กรรมการวิชาการ และบรรณาธิการวารสารทางช้างเผือกของสมาคมดาราศาสตร์ไทย บอกว่า ไม่ใช่ความผิดหรือเป็นข้อบกพร่องใดๆ ของรัฐบาลรัสเซียที่ทำให้ประชาชนในเมือง เมืองเชลยาบินสก์ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายนับพันคน เพราะอุกกาบาตลูกดังกล่าวอยู่นอกเหนือความสามารถในการมองเห็นของนักดาราศาสตร์จากทั่วโลก

"ความจริงแล้ว การสแกนหาวัตถุนอกโลกนั้น เพื่อป้องกันการพุ่งชนโลก และจะสร้างความเสียหายให้ชาวโลกนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน แม้เวลานี้จะมีหน่วยงานและองค์กรระดับประเทศทั่วโลก เฝ้าสแกนหาวัตถุท้องฟ้าที่แปลกปลอมและมีโอกาสเฉียดเข้าใกล้ หรือชนโลกมากกว่า 10 องค์กร รวมทั้งองค์การนาซาด้วยแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เราพบวัตถุใกล้โลก หรือดาวหางและดาวเคราะห์น้อย เพิ่มขึ้นทุกวัน ถูกขึ้นทะเบียนไปแล้วมากกว่า 2 แสนดวง ในจำนวนนี้เป็นวัตถุที่อยู่ใกล้โลกประมาณ 8,800 ดวง และในจำนวนนี้เป็นวัตถุอันตราย ถือว่ามีความเสี่ยง และต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดเพราะมีความเสี่ยงว่าจะพุ่งชนโลก จำนวน 1,800 ดวง ด้วยกัน" นายวิมุตกล่าว

กรรมการฝ่ายวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย บอกว่า อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผู้คนพบวัตถุท้องฟ้าทั้งหมดจะเป็นนักดาราศาสตร์จากองค์กรระดับชาติ หรือนานาชาติเสมอไป

เพราะดางหางและดาวเคราะห์น้อยหลายดวงถูกค้นพบโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ก็รวมไปถึง 2010 ดีเอ 14 ดาวเคราะห์น้อยที่เพิ่งเคลื่อนที่เข้ามาเฉียดบรรยากาศของโลกเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาก็เป็นการค้นพบโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่น

ส่วนปัญหาที่ว่าอุกกาบาตขนาดไหน ความเร็วเท่าไหร่ จึงจะอันตรายต่อชาวโลกนั้น นักวิชาการต่างก็ยืนยันว่า ถ้าเป็นอย่างที่เกิดขึ้นที่รัสเซียครั้งนี้ ที่ทางนาซาถือว่าก่อให้เกิดลูกไฟขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการรายงานกันนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์อุกกาบาตถล่มพื้นที่ในป่าเมืองทัสกา แคว้นไซบีเรียของรัสเซีย ที่ก่อให้เกิดแรงระเบิดเทียบเท่าระเบิดขนาด 10 เมกะตัน ส่งผลให้ต้นไม้ล้มระเนระนาดกว่า 80 ล้านต้นแล้ว

นับจากนี้ก็มีโอกาสจะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงเพิ่มขึ้นกว่านี้ได้อีก และในขณะนี้ยังไม่มีใครทำนายหรือคาดเดาได้ว่าจะเกิดที่ไหน จะรุนแรงมากหรือน้อยกว่าครั้งนี้

ดังนั้น เชื่อว่านับจากนี้ชาวโลกต้องหยิบยกเรื่องนี้มาคุยกัน เพื่อหาทางป้องกัน เพราะหน้าที่ปกป้องโลก คงไม่ใช่ของชาติใดชาติหนึ่ง

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook