สภาวะรุ่ง-รอด-ร่วง ของวงการหนังสือ

สภาวะรุ่ง-รอด-ร่วง ของวงการหนังสือ

สภาวะรุ่ง-รอด-ร่วง ของวงการหนังสือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น วงการหนังสือดูเหมือนจะเป็นน้องน้อย เพราะมีสัดส่วนมูลค่าทางการตลาดต่อจีดีพี เฉลี่ยราว 0.21% เท่านั้น

ทั้งที่จะว่าไปแล้วหนังสือมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสติปัญญาและจิตใจของผู้คน ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา หนังสือถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรจะมองข้ามและรัฐเองก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วยนโยบายต่างๆ อาทิ การแปลวรรณกรรมระดับโลกให้ผู้คนได้อ่านฟรีๆ ในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี, การให้งบประมาณกว่าพันล้านของประเทศบราซิลเพื่อสนับสนุนการเผยแพร่วรรณกรรมและนักเขียนให้สังคมโลกได้รู้จัก ฯลฯ

แต่หากมองอีกแง่ เมื่อความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยไม่ว่าจะในยุคสมัยใดมาถึงวงการหนังสือแบบน้อยแสนน้อย ภาคเอกชนคือสำนักพิมพ์ต่างๆ จึงต้องพยายามอย่างมากในการดำรงตนและหยัดยืนให้ได้อย่างมั่นคง จนทำให้ ณ เวลานี้ อุตสาหกรรมหนังสือไทยเข้มแข็งเป็นลำดับต้นในอาเซียน หนังสือปกใหม่ออกสู่ตลาดเฉลี่ยวันละ 42 เล่ม ปีละ 15,000 ปก กลายเป็นชิ้นปลามันที่หลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย จับจ้องอย่างไม่กะพริบตาเพื่อรอวันเปิดประชาคมอาเซียน

"เราตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้ต้องโตไม่น้อยกว่า 7% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 24,200 ล้านบาท" วรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ประกาศในวันที่มีเสวนา ธุรกิจหนังสือไทย อยู่อย่างไรให้รุ่งในยุคดิจิตอล และเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

ถือว่าค่อนข้างสูงอยู่เหมือนกัน หากเทียบกับการโตราว 5% พร้อมยอดรวมประมาณ 22,600 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา แต่วรพันธ์ยืนยันว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าหนังสือจะได้รับผลกระทบจากเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น, นโยบายรถคันแรกที่ไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงการที่ภาครัฐทุ่มงบไปกับแท็บเล็ตจนแทบไม่มีงบซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดโรงเรียน แต่ยังพอมีปัจจัยอื่นที่มาช่วยสนับสนุน อาทิ การเป็นเมืองหนังสือโลกของกรุงเทพฯ, การจัดการประชุมสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติในปีหน้า ล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้ตลาดตื่นตัว

แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ สำนักพิมพ์ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเอง

"ตอนนี้มีปรากฏการณ์หลายอย่างที่น่าสนใจ คือในขณะที่สำนักพิมพ์ขนาดเล็กปิดตัวเองไปในปีที่ผ่านมากว่า 60 สำนักพิมพ์ แต่ยังมีผู้เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการขยายตัวของสำนักพิมพ์ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางเพิ่มขึ้นด้วย แสดงให้เห็นว่าธุรกิจนี้ยังสามารถเติบโตได้โดยอาศัยช่องว่างของตลาดที่ยังมีอยู่มาก ที่สำคัญคือต้องหาเอกลักษณ์ตัวเองให้เจอและอย่าเลียนแบบกัน"

โดยนวนิยายวัยใส นวนิยายผู้ใหญ่ยังคงครองตลาดเช่นเดิม ขณะที่แนวแฟนตาซีก็เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีสำนักพิมพ์รายใหญ่ๆ สนใจทำหนังสือแนวนี้เพิ่มขึ้น และในปีนี้คาดว่าหนังสือแนวกำลังใจ Inspiration How To โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับหุ้น การลงทุนต่างๆ หนังสือการ์ตูนความรู้ จะมาแรงเพราะผู้ผลิตรายใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นตลาดให้มีการขยายตัวอีกครั้ง เนื่องจากยังสามารถสร้างฐานผู้อ่านแนวนี้ได้อีกมาก

สอดคล้องกับความเห็นของ ศักดิ์ชัย วิจัยธรรมฤทธิ์ หนึ่งในแรงสำคัญที่ร่วมสร้าง "แบรนด์แจ่มใส" ให้อยู่ในใจนักอ่านภายในระยะเวลาเพียงชั่วทศวรรษ ที่มองว่าการจะโตได้นั้น สำนักพิมพ์ต้องเลิกทำตามกัน และหาตลาดกลุ่มคนอ่านใหม่ให้เจอ

"มีสถิติที่น่าสนใจมาก คือ สถิติที่ว่าด้วยกลุ่มผู้อ่าน ปกติแล้วผู้อ่านหนังสือจะเป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 12-20 ปี แต่ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลง จากผู้หญิง 80% ต่อผู้ชาย 20% ค่อยๆ ขยับเป็น ผู้หญิง 75% ต่อผู้ชาย 25% และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมากลายเป็นผู้หญิง 70% ต่อผู้ชาย 30% ปรากฏการณ์ของผู้ชายนี่เห็นชัดมากๆ จากเด็กผู้ชายต่อแถวยาวเหยียดซื้อหนังสือในหลายบูธ เชื่อว่าปีนี้อาจโตเกิน 7% เพราะเรามีกลุ่มนักอ่านเพิ่มขึ้น ปกติเด็กผู้ชายไม่ค่อยอ่านหนังสือ สำรวจสถิติอะไรจะน้อยมาก แล้วถ้ามีสำนักพิมพ์ที่ทำคอนเทนต์ได้ชัดเจนละก็ทะลุ 10% ได้ไม่ยากเลย"

"แล้วเวลาทำหนังสือ อย่าทำแค่วางหน้าร้านอย่างเดียวโดยปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะปัจจุบันอายุการวางหนังสือในหน้าร้านนั้นสั้น การทำมาร์เก็ตติ้งและการสร้างแบรนดิ้ง เป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องทำ โดยช่องทางหนึ่งที่ดีมากๆ คือโซเชียล เน็ตเวิร์ก การสร้างใหม่เหมาะสม กว่าการแย่งเค้กจากก้อนเดียวกัน"

"ตอนนี้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กตายไปเยอะ อยากให้สำนักพิมพ์ใหญ่ให้โอกาสสำนักพิมพ์เล็กบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของหน้าร้านให้พื้นที่เขาบ้าง" ศักดิ์ชัยย้ำ

โดยในส่วนของหน้าร้านนั้น ถนัด ไทยปิ่นณรงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด บอกว่า ตอนนี้ร้านหนังสือต้องงัดทุกกลยุทธ์มาปรับใช้อย่างเต็มที่ เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นแต่ไม่สามารถเพิ่มราคาหนังสือได้

"ปีที่ผ่านมาร้านหนังสือผันผวนมาก เพราะค่าใช้จ่ายและต้นทุนก้าวกระโดดไปประมาณ 40% เป็นผลจากค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น ร้านหนังสือส่วนใหญ่เองก็อยู่ในห้างสรรพสินค้าเลยเจอเรื่องค่าเช่า ค่าบริการที่เพิ่มขึ้นไม่แพ้ค่าแรงขั้นต่ำ เรียกว่าค่าใช้จ่ายกระโดดขึ้นล่วงหน้าไป 5 ปี ส่วนร้าน stand alone กว่า 40 ร้าน ต้องปิดตัวลงเมื่อปีที่แล้ว"

เขาว่าทางแก้ไขคือต้องปรับทั้งประสิทธิภาพคน ใช้เทคโนโลยีมาช่วย และวิเคราะห์กลุ่มคนอ่านในแหล่งที่ร้านหนังสือแต่ละร้านตั้งอยู่เลยว่าต้องการหนังสือหมวดไหนเพื่อลดความเสี่ยง

จะรุ่ง-จะรอด-จะร่วง คงต้องจับตาดูกันต่อไป

โดย สิรนันท์ ห่อหุ้ม มติชน 17 ก.พ.56

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook