เลือกเรียนอย่างไร จบแล้วไม่ตกงาน (1)

เลือกเรียนอย่างไร จบแล้วไม่ตกงาน (1)

เลือกเรียนอย่างไร จบแล้วไม่ตกงาน (1)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่าความฝันและเป้าหมายทางการศึกษาของเด็กไทยแทบทุกคนคือการสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งของประเทศไทยและมีงานทำมีรายได้ที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วมีเด็กไทยเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่เข้าสู่ระบบการศึกษาไป 16 ปีแล้วสามารถมีงานทำทันทีภายใน 1 ปีที่จบมหาวิทยาลัย !

จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการพบว่าในปีการศึกษา 2544 มีเด็กเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 มากกว่า 1,073,212 คน ในบรรดาเด็กเหล่านี้มีเด็ก 643,821 ที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในขณะที่มีเด็กกว่ากว่า 40% เลิกเรียนกลางคันไปเสียก่อน ส่วนเด็กที่เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 เหล่านี้มีเด็กราว 300,000 ที่มีโอกาสเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ซึ่งในแต่ละปีจะมีนิสิต นักศึกษา 200,000 คนเท่านั้นที่จบเป็นบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงาน และมีเพียง 100,000 คนที่มีงานทำทันทีภายในปีแรกที่จบการศึกษา

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้เผยถึงข้อมูลตลาดแรงงานผ่านรายงานสภาวะสังคมของปี พ.ศ. 2555 พบว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงที่บัณฑิตจบใหม่ต่างมุ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานนั้น มีบัณฑิตจบใหม่ที่ประสบปัญหาการว่างงานชั่วคราว (Frictional Unemployment) มากกว่า 100,000 คน หรือ 1 ใน 3 ของการว่างงานทั้งหมดของประเทศ และมี

แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี โดยสาขาที่มีบัณฑิตว่างงานสูงสุด ได้แก่ สาขาบริหารธุรกิจและพาณิชยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสาขาสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ซึ่งเป็นสาขายอดฮิตที่เด็กมัธยมส่วนใหญ่เลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในขณะที่มีบัณฑิตจบใหม่กว่า 100,000 คนหางานทำไม่ได้นั้น กลับมีนายจ้างจำนวนมากที่ไม่สามารถหาแรงงานมาทำงานในสถานประกอบการของตนได้ (Unfilled Vacancy) โดยตัวเลขที่สภาพัฒน์ได้ประเมินไว้ว่ายังมีผู้ตำแหน่งงานที่นายจ้างยังไม่สามารถหาคนมาทำได้กว่า 100,000 คนในปี 2555 โดยเฉพาะแรงงานสายอาชีพด้านต่าง ๆ ที่มิใช่สายพาณิชย์

นี่จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้พร้อมกัน !!!!

หากแต่ละเดือนบัณฑิตเหล่านี้มีงานทำ แต่ละคนจะสร้างรายได้ 15,000 บาทให้แก่ตัวเองและประเทศ ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงสร้างความสูญเสียให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทยไปกว่า 1,500 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 18,000 ล้านบาทต่อปี !

นอกจากนั้นการขาดแรงงานจำนวน 100,000 คนมาทำงานย่อมส่งผลให้ผู้ประกอบการเสียโอกาสในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอีกในระดับเดียวกัน ดังนั้นคิดไปกลับแล้ว ปัญหาการว่างงานชั่วคราวของบัณฑิตจบใหม่นี้กำลังฉุดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย (GDP Growth) ราว 0.4% ต่อปี !

ดังนั้นคำถามสำคัญที่สังคมไทยต้องร่วมกันหาทางออก คือเพราะเหตุใดประเทศไทยจึงมีเด็กกว่า 100,000 คนที่จบมาแล้วไม่มีงานทำ ขณะเดียวกันกลับมีตำแหน่งงานที่ยังว่างอยู่อีกกว่า 100,000 ตำแหน่งที่นายจ้างยังไม่สามารถหาคนมาทำงานได้ตรงสเป็ก ?

ทำไมผู้เรียนเหล่านี้จึงไม่สามารถเลือกเรียนถูกสาขา ถูกวิชาที่จะมีงานทำได้ในอนาคต ? และเพราะเหตุใดผู้ประกอบการจึงไม่สามารถหาคนมาทำงานได้ตรงสเป็ก แม้ว่าจะมีแรงงานอีกกว่า 3 เท่าของความต้องการที่ยังไม่มีงานทำ ?

ปัญหาการว่างงานชั่วคราว หรือ Frictional Unemployment นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยหรือประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่มีแนวโน้มแย่ลง

ในขณะที่รัฐบาลและระบบเศรษฐกิจยังขาดความรู้และนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ในปี 2553 นักเศรษฐศาสตร์ 3 คน ได้แก่ Peter Diamond, Dale Mortensen และ Christopher Pissarides เพิ่งได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์

จากผลงานในการสร้างความเข้าใจในปรากฏการณ์ดังกล่าว เพื่อหาทางออกในเชิงนโยบายรัฐบาลและตลาดแรงงาน
ต่าง ๆ ทั่วโลก อันเป็นที่มาของทฤษฎีการค้นหาแรงงาน (Search and Matching Theory)

ซึ่งอธิบายว่าทำไมนายจ้างจึงยอมรอและไม่เลือกแรงงานที่ว่างงานอยู่ในตลาดมาทำงาน และเพราะเหตุใดการจับคู่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจึงเกิดขึ้นยาก (Mismatch) จะมาเฉลยในตอนหน้าครับ

คอลัมน์ Education Ideas

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook