ข่าวดี หรือ ข่าวร้าย ? ปี 2556 มหาวิทยาลัย 6 แห่ง ออกนอกระบบ

ข่าวดี หรือ ข่าวร้าย ? ปี 2556 มหาวิทยาลัย 6 แห่ง ออกนอกระบบ

ข่าวดี หรือ ข่าวร้าย ? ปี 2556 มหาวิทยาลัย 6 แห่ง ออกนอกระบบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ คือ อะไร

มหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนศูนย์รวมของมันสมองของชาติ เป็นที่รวมขององค์ความรู้ การค้นคว้า และการวิจัย เพื่อใช้ในการผลิตมันสมองของชาติรุ่นต่อๆไป แต่จุดด้อยของการเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ คือ การบริหารงานและบุคลากร ที่ยังอยู่ในกรอบปฏิบัติของระเบียบราชการที่ก่อให้เกิดความล่าช้าและความไม่คล่องตัว ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยและการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การปรับเปลี่ยนสถานภาพจาก มหาวิทยาลัยของรัฐซึ่งมีความเป็นราชการทั้งหมด มาเป็นมหาวิทยาลัยในรูปแบบอื่น ที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเอกชนและไม่ใช่รูปแบบรัฐวิสาหกิจแต่ยังคงสภาพความเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐอยู่ และยังใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่มีการบริหารงานที่แตกต่างออกไป จึงก่อกำเนิดเป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตามความใน ม.36 แห่ง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษาปริญญาเป็นนิติบุคคล และอาจจัดเป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐ และโดยนัยดังกล่าว เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีการบริหารจัดการศึกษาที่ดีตามหลักธรรมมาภิบาล มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน ควบคู่กับความรับผิดชอบที่จะดำเนินภารกิจอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ มีความเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลโดยรัฐสามารถกำกับดูแลและตรวจสอบได้

สรุป สถานภาพของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ได้ดังนี้
1.สถานภาพเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ
2.เป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
3.เป็นหน่วยงานของรัฐที่ยังคงได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณอย่างเพียงพอที่จำเป็นต่อการประกันคุณภาพการศึกษาไว้ได้

มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ในประเทศไทย

ปัจจุบันในประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ จำนวน 16 แห่ง ได้แก่
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (ออกจากระบบราชการตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย)
- มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ออกจากระบบราชการตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย)
- มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (ออกจากระบบราชการตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย)
- มหาวิทยาลัยพะเยา (ออกจากระบบราชการตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย)
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร (ออกจากระบบราชการตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย)
- สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา (ออกจากระบบราชการตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งสถาบัน)
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์)
- มหาวิทยาลัยมกุฏราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์)
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกที่พร้อมและขอออกนอกระบบราชการ แปรสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เมื่อปี 2540)
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- มหาวิทยาลัยทักษิณ
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยบูรพา

ปี 2556 กับ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ อีก 6 แห่ง


การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เมื่อเป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ในส่วนของมหาวิทยาลัย

1.การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน การบริหารจัดการที่รวดเร็ว คุณภาพสูง การกำหนดนโยบายและการบริหารงานสิ้นสุดที่สภามหาวิทยาลัย โดยจะเป็นองค์กรสูงสุดในการกำหนด อธิการบดีจะปรับเปลี่ยนเป็นนักบริหารในเชิงรุก

2.การสร้างแรงจูงใจในการดึงดูดบุคลากรและทรัพยากร ที่มีความสามารถเข้ามาสู่มหาวิทยาลัย การให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนดกฎเกณฑ์ หรือระเบียบต่างๆได้เอง ทั้งในแง่ของค่าตอบแทน ความก้าวหน้า ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นในระหว่างมหาวิทยาลัยในการดึงดูดผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาเป็นอาจารย์ อันจะส่งผลต่อคุณภาพของบัณฑิตที่จบออกไป

3.การดำเนินงานจะคำนึงถึงต้นทุนการผลิต เช่น อาจยุติหรือยุบการดำเนินการของมหาวิทยาลัย คณะหรือปิดการสอนหลักสูตรที่ไม่คุ้มทุน รวมถึงการให้เอกชนเข้ามารับจ้างในบางกิจกรรมที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย

ตัวอย่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่กำลังจะเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ


ในส่วนของนักศึกษา

ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า จะไม่มีการขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษา เพราะแม้ในบางมหาวิทยาลัยขณะที่ยังไม่มีการเปลี่ยนสถานภาพเป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ก็มีการขึ้นค่าธรรมเนียมหรือเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาไว้ล่วงหน้าแล้ว อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

และเมื่อไปพิจารณา มหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสถานภาพเป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ อย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ล่าสุดก็ทำการปรับค่าธรรมเนียมการศึกษาใหม่ ในปีการศึกษา 2556 ที่เก็บในอัตราใหม่ อยู่ทื่ 17,000 บาท และ 21,000 บาท ขึ้นอยู่กับกลุ่มคณะ

ตัวอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปรับค่าธรรมเนียมการศึกษาใหม่ ในปีการศึกษา 2556


นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลต่อ การปิดตัวลงของสาขา/คณะ ที่ไม่คุ้มค่าต่อต้นทุนการผลิตของมหาวิทยาลัย

ในส่วนของนักเรียน

สำหรับนักเรียน ยังไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในมหาวิทยาลัยนั้นๆ เพราะไม่ว่าอย่างไร นักเรียนก็ยังต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในระบบรับตรง หรือ ระบบแอดมิชชัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

แต่หาก พิจารณามหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสถานภาพเป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยบูรพา ที่รูปแบบการรับเข้าศึกษา ในระดับปริญญาตรี นั้น จะมีการเปิดรับนักศึกษานักศึกษาที่มากขึ้น เปิดรับตรงหลายโครงการมากขึ้น(ค่าสมัครสอบก็สูงขึ้นตาม นักเรียนอาจจะต้องเสียเงินเปล่า ทั้งที่ยังไม่มีโอกาสได้เอาเท้าเหยียบลงบนพื้นมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ) และมักเน้นรับนักศึกษาในภาคพิเศษ(ค่าธรรมเนียมการศึกษาแพงกว่า) มากกว่าภาคปกติ

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่แม้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้ว แต่ก็ไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์ของนักเรียนที่ต้องการเข้าศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ในการรับเข้าศึกษาหลายโครงการ ไม่เก็บค่าสมัครในเบื้องต้นของการสมัคร จะให้เฉพาะผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิสอบสัมภาษณ์เท่านั้นที่จะต้องชำระค่าสมัคร

ในมุมหนึ่ง เราได้เห็นมหาวิทยาลัยที่เมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีการพัฒนาจนติดอันดับโลก แต่ยังคงปฏิบัติตามพันธกิจที่มีต่อประเทศชาติ ไม่แสวงหาผลประโยชน์จนกลายเป็นธุรกิจการศึกษา

แต่อีกมุมหนึ่ง เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรากำลังเผชิญกับมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่แต่การแปรสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเท่านั้น แต่ยังได้แปรสภาพเป็น "ไหจอมละโมบ" พยายามสร้างรั้ว สร้างกำแพงมหาวิทยาลัยให้สูงขึ้น เพื่อปกปิดการกอบโกยเอาแต่ผลประโยชน์ โดยมีรั้วมหาวิทยาลัยเป็นฉากบังหน้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook