วันสตรีสากล 2567 อ่านประวัติ รำลึกถึงการต่อสู้ของผู้หญิง

วันสตรีสากล 2567 อ่านประวัติ รำลึกถึงการต่อสู้ของผู้หญิง

วันสตรีสากล 2567 อ่านประวัติ รำลึกถึงการต่อสู้ของผู้หญิง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันสตรีสากล (International Women's Day) ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี

วันสตรีสากล เป็นวันที่สำคัญสำหรับผู้หญิงทั่วโลก เป็นวันที่เราเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้หญิง รำลึกถึงการต่อสู้ของผู้หญิง และร่วมกันสร้างอนาคตที่ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิเท่าเทียม

“ผู้หญิงสามารถทำสิ่งอัศจรรย์ได้ถ้าพวกเราสนับสนุนซึ่งกันและกัน” คำกล่าวของ เชอรีล แซนด์เบิร์ก นักเฟมินิสต์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก คงเป็นเหตุผลดีพอที่จะทำให้รู้ว่าโลกใบนี้หากอยากได้ความเท่าเทียมก็ต้องร่วมมือกัน เมื่อในวันที่มนุษย์ไม่ต้องการมีปีกแต่ยังต้องการโบยบินเพื่ออิสระในความเท่าเทียม เป็นเวลากว่าศตวรรษแล้วที่ผู้หญิงได้รวมตัวกันเรียกร้องจนเกิดเป็น "Inter National Women’s Day" หรือ "วันสตรีสากล"

ประวัติของวันสตรีสากล

เริ่มขึ้นจากเหตุการณ์ใน เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ความเป็นอยู่ของแรงงานสตรีในเมืองชิคาโก ที่ไม่ต่างอะไรจากทาสนิโกรในเงื้อมมือคนผิวขาว เพราะต้องทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง แต่ได้รับค่าแรงานเพียงน้อยนิด ส่วนสตรีตั้งครรภ์มักถูกไล่ออก

ในที่สุดภายใต้การนำของ คลาร่า แซทคิน (Clara Zetkin) ผู้นำกรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าชาวเยอรมัน ลุกฮือขึ้นสู้ด้วยการเดินขบวนนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานจากวันละ 12-15 ชั่วโมง ให้เหลือวันละ 8 ชัวโมงพร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั้งโลก และส่งผลให้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน

อย่างไรก็ตามอีก 3 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ข้อเรียกร้องของเหล่าบรรดากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จ เมื่อตัวแทนสตรีจาก 18 ประเทศ เข้าร่วม ประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี โดยให้ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย อีกทั้งยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย นอกจากนั้นในการประชุมครั้งนั้น ยังได้มีการรับรองข้อเสนอของ คลาร่า แซทคิน ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็น วันสตรีสากล

วันสตรีสากลในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2532 ได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ขึ้นอย่างเป็นทางการ ดังนั้นวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อฉลองเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล และระลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งความเสมอภาค ยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนา

การถือกำเนิดของวันสตรีสากลนี้เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นในการขจัดการแบ่งแยกและการเหยียดเพศให้หมดไป ดังจะเห็นได้ว่าโลกในยุคใหม่นี้ แต่ละแห่งให้ความสำคัญและยอมรับผู้หญิงมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงในปัจจุบันมีบทบาทอย่างแพร่หลายต่อการขับเคลื่อนของสังคม ดังนั้น "วันสตรีสากล" จึงเป็นอีกวันหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงทุกคนได้แสดงความสามารถ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความทัดเทียมกันได้อย่างดี อีกทั้งสตรียังป็นบุคคลสำคัญ ควรค่าแก่การยกย่องให้เป็นหนึ่งในพุทธบริษัท 4 ที่จะช่วยสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนานต่อไป และสตรีผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัยนี้ยังมีชื่อเรียกอย่างงดงามว่า อุบาสิกา ซึ่งหมายถึง ตำแหน่งของสตรีผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย ทำหน้าที่ในการอุปถัมภ์บำรุงและปกป้องคุ้มภัยให้แก่พระพุทธศาสนามาตลอดอายุ พุทธกาล ดังเช่น มหารัตนอุบาสิกาวิสาขา ผู้สร้างบุพพาราม วัดสำคัญในสมัยพุทธกาล จวบจนถึงปัจจุบันอุบาสิกาก็ยังคงเป็น 1 ใน 4 เสาหลักแห่งความมั่นคงของพระพุทธศาสนาเหมือนเมื่อครั้งพุทธกาล

ด้วยเหตุนี้ พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ประธานมูลนิธิธรรมกายและเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จึงได้มีดำริโครงการบวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อนขึ้น เพื่อให้ผู้หญิงไทยมีภาพพจน์ที่ดีขึ้น อีกทั้งทั่วโลกจะได้เห็นความตั้งใจในการปฏิบัติธรรม การฝึกฝนอบรมคุณธรรมแก่ตัวเอง และกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการปฏิบัติธรรมไปทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นเหตุให้สังคม ประเทศชาติ สงบร่มเย็นและพระพุทธศาสนารุ่งเรืองมั่นคงถาวร อยู่คู่แผ่นดินไทยตราบนานเท่านาน

โดยคำว่าอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน หมายถึง อุบาสิกาผู้มีศีล 8 เป็นอาภรณ์ประดับกาย วาจา ใจ และปฏิบัติตามทางสายกลางคือ อริยมรรคมีองค์ 8 ย่อมงดงามและบริสุทธิ์ ประดุจดอกไม้แก้วแรกแย้ม กายภายนอกก็ผุดผ่องใสด้วยอานุภาพแห่งศีล กายธรรมภายในที่เป็นหน่อเนื้อแห่งพุทธะ ก็สุกใสสว่าง ด้วยอานุภาพแห่งสมาธิ(Meditation)และปัญญา เช่นนี้จึงได้ชื่อว่า เป็นอุบาสิกาผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัยอย่างแท้จริง ยิ่งบังเกิดขึ้นมากเพียงใด ประเทศชาติและพระพุทธศาสนาก็ยิ่งมั่นคงถาวรเพียงนั้น

กิจกรรมวันสตรีสากล

วันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่เหล่าสตรีจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา อาชีพใด จะร่วมเฉลิมฉลองความเสมอภาคที่ได้รับมา และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคมอีกด้วย การจัดกิจกรรมงานวันสตรีสากล นั้น เพื่อเป็นการแสดงการให้เห็นถึงการต่อสู้อันยาวนาน กว่าจะได้อิสระ และความเท่าเทียมกับผู้ชาย

"ดอกมิโมซ่าสีเหลือง" ดอกไม้ประจำวันสตรีสากล

ดอกมิโมซ่าสีเหลือง เป็นดอกไม้ประจำวันสตรีสากล มีความหมายถึงความอ่อนโยนของผู้หญิง แต่แข็งแกร่งเพราะเป็นดอกไม้ที่เติบโตในช่วงฤดูหนาว แม้อากาศจะหนาวเย็นก็อยู่รอดผ่านฤดูหนาวมาได้ บางประเทศใช้ดอกไม้ชนิดอื่นแทนวันสตรีสากล เช่น ดอกทิวลิป ดอกกุหลาบ

ผู้ให้กําเนิดวันสตรีสากล

คลาร่า เซทกิ้น ได้รับการขนานนามว่า มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล เป็นผู้ให้กําเนิด "วันสตรีสากล

คลาร่า แซทคิน (Clara Zetkin)คลาร่า แซทคิน (Clara Zetkin)

นักการเมืองหญิงสายมาร์คซิสต์ ชาวเยอรมัน เป็นผู้ริเริ่มวันสตรีสากล ชื่อเดิมชื่อ คลาร่า ไอนส์เนอร์ เกิดที่เมืองไวเดอรูว์ แคว้นแซกโซนี่ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม จบการศึกษาจากวิทยาลัยครูเมืองไลป์ซิก และพบรักกับเพื่อนนักศึกษาชาวรัสเซียนามว่า ออพซิป เซทกิ้น ต่อมา มีบุตร 2 คน และเป็นหม้ายในปี ค.ศ.1889

ในปี ค.ศ.1884 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic party) ต่อมาพรรคโดนยุบ และคลาร่าได้ถูกเนรเทศไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์

ค.ศ.1907 คลาร่าได้กลับสู่เยอรมันดินแดนมาตุภูมิ พร้อมกับการก่อตั้ง กลุ่มนักสังคมนิยมหญิง และได้ริเริ่มในการเสนอให้กําหนดวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีให้เป็นวันสตรีสากล

ค.ศ.1914 ในขณะที่ประเทศเยอรมันกําลังทําสงครามโลกครั้งที่ 1 คลาร่า ได้ร่วมมือกับ โรซ่า ลัมเซมเบอรค์ ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 1 ในนามกลุ่ม สปาร์ตาซิสต์ ( *กลุ่มสปาร์ตาซิสต์ (spatarcist) เป็นกลุ่มกรรมกรในเยอรมันที่ประท้วงรัฐบาลเยอรมันสมัยนั้น ในการทําสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยความคิดที่ว่า ทหารที่ส่งไปรบก็คือ ประชาชน สงครามเป็นการกระทําที่สนองตัณหาของรัฐบาล แต่ประชาชนมีแต่ต้องสูญเสีย)

ค.ศ.1918 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน และได้เป็นผู้แทนในสภาไรซ์สตัก (สภาผู้แทนของเยอรมันยุคนั้น)

ค.ศ.1920-1932 สุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายของคลาร่าในสภาเยอรมัน คลาร่าได้กล่าวโจมตี อดอฟ ฮิตเลอร์อย่างรุนแรง และเรียกร้องหาแนวร่วมที่จะช่วยกันต่อต้านพรรคนาซีเยอรมัน ซึ่งกําลังมีบทบาทอย่างสูงในการเมืองเยอรมัน

ค.ศ.1933 พรรคนาซีเยอรมันได้ ประสบความสําเร็จในการยึดอํานาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ และให้อํานาจทุกอย่างขึ้นอยู่กับท่านฟูเร่อร์ (ผู้นํา) คลาร่าจึงเป็นหนึ่งในนักการเมืองสายความคิดสังคมนิยม ที่ถูกกวาดล้าง จนต้อง
ลี้ภัยการเมืองไปใช้ชีวิตที่รัสเซีย และถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนี้

ความสำคัญของวันสตรีสากล

  • เป็นโอกาสในการเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้หญิงในทุกๆ ด้าน
  • เป็นโอกาสในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาที่ผู้หญิงเผชิญอยู่
  • เป็นโอกาสในการรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมกันทางเพศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook