"สวนผักพอเพียง" อาหารกลางวันของหนู จากฝีมือนักเรียนโรงเรียนเล็กๆ ที่น่าชื่นชม!!!

"สวนผักพอเพียง" อาหารกลางวันของหนู จากฝีมือนักเรียนโรงเรียนเล็กๆ ที่น่าชื่นชม!!!

"สวนผักพอเพียง" อาหารกลางวันของหนู จากฝีมือนักเรียนโรงเรียนเล็กๆ ที่น่าชื่นชม!!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"สวนผักพอเพียง" อาหารกลางวันของหนู

หนูชื่อ ด.ญ.ปาริฉัตร จิตรขจรเดช อายุ 12 ปี ชั้น ป.6 โรงเรียนวังกะอาม ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 3 มีเนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 78 ตารางวา มีเพื่อนๆ และน้องๆ รวมกันทั้งสิ้น 60 คน และคุณครูอีก 6 คน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มี นายนันทพงศ์ รัตนเสริมพงศ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

ตลอดระยะเวลาที่หนูได้เรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ คุณครูได้ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้นักเรียนทุกคน และที่หนูประทับใจมาก ก็คือโครงการ ?สวนผักพอเพียง? เพราะว่าในหมู่บ้านวังกะอาม เป็นพื้นที่ดินเค็ม ต้นไม้ที่ปลูกไว้ก็ไม่ค่อยเจริญเติบโต โดยเฉพาะผัก หากปลูกกับพื้นดินทั่วไปก็จะไม่โต แล้วก็ตายไปในที่สุด

เมื่อคุณครูได้จัดโครงการ ?สวนผักพอเพียง? ในโรงเรียน ก็ทำให้พวกเราสามารถปลูกผักได้หลากหลายชนิด เช่น ผักกาดขาว ผักชีฝรั่ง ผักชีลาว ผักคะน้า และผักกาดกวางตุ้ง ฯลฯ โดย คุณครูกิจจา ภักดิ์ประสิทธิ์ ครูสอนวิทยาศาสตร์ผู้รับผิดชอบโครงการ ได้แบ่งกลุ่มนักเรียนทั้งชั้น ป.4 ป.5 และ ป.6 ก่อนทำแปลงดิน ครูได้อธิบายและสาธิตการทำแปลงที่ถูกต้อง แล้วให้พวกเราเตรียมดินก่อนการปลูกผักเมื่อได้แปลงปลูกแล้ว ครูก็จะสอนวิธีการปลูกผักด้วยเมล็ด บางอย่างก็ต้องเพาะต้นกล้าก่อนแล้วนำมาปลูกทีหลัง

สิ่งที่หนูได้รู้ ก็คือ ทำอย่างไรให้ปลูกพืชบนดินเค็มได้ เริ่มแรกครูได้ทำโรงเรือนแล้วแบ่งพื้นดินเป็นร่องพอประมาณ ขุดดินเดิมออก ไปใช้ประโยชน์ถมถนน แล้วก็ได้ไปนำดินจากที่อื่นมาแทนดินเดิมจึงทำให้หนูรู้ว่า ?ปัญหาใดๆ ก็สามารถแก้ไขได้ หากลงมือทำ? คุณครูทำให้หนูดูแล้วก็พาพวกหนูปลูกผัก ใช้วิธีการรดน้ำแบบสมัยใหม่ เปิดทีเดียวไหลทั่วบริเวณแปลงผัก พวกเราได้ทำปุ๋ยจุลินทรีย์ใช้เองจากการหมักธรรมชาติ วิธีทำปุ๋ยหมักก็ไม่ยาก นำวัสดุที่เหลือทิ้ง เช่น เศษผัก ผลไม้ หรือเศษอาหารมาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ 10 กิโลกรัม ใส่กากน้ำตาล 200 ซีซี น้ำสะอาด 20 ลิตร หัวเชื้อจุลินทรีย์ หรือเรียกว่าอีเอ็ม ใส่ถังสำหรับหมัก ผสมให้เข้ากันปิดฝาถังให้สนิท เพื่อไม่ให้อากาศเข้า เก็บไว้ในโรงเรือนที่ไม่มีแสงแดดส่องถึงประมาณ 15 วัน ก็จะเป็นหัวเชื้อนำมาผสมกับน้ำแล้วรดผักที่ปลูกไว้ ทำให้ผักโตเร็ว ปลอดสารเคมี เมื่อผักโตคุณครูให้นำไปทำอาหารกลางวัน และที่เหลือก็แบ่งให้ไปฝากแม่ที่บ้านประทับใจจริงๆ ค่ะ

และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดร.ธัญญรัศม์ จอกสถิตย์ ศึกษานิเทศก์ สพป.ชัยภูมิ เขต 3 เคยมาตรวจเยี่ยมและสอนพวกเราว่า ?ต้องฝึกคิดต้นทุนด้วย ลงทุนไปเท่าไหร่ หากขายจะได้กำไร ขาดทุนเท่าไหร่ เพื่อให้หัดเป็นคนฝึกคิด ฝึกทำเมื่อทำเป็นแล้วก็สามารถนำไปประกอบอาชีพได้? ทำให้ได้รู้ทั้งวีธีการปลูกพืช การคำนวณ ทั้งการดูแลสุขภาพ การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ปลอดสารพิษอีกด้วย

ประโยชน์จากโครงการ ?สวนผักพอเพียง? โรงเรียนวังกะอาม ส่งเสริมกิจกรรมให้พวกเราปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ โดยปลูกสลับหมุนเวียนตลอดทั้งปี ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง นำผักมาใช้ประกอบอาหารกลางวันและที่เหลือก็จำหน่ายเป็นรายได้ หากมีใครสนใจก็สามารถติดต่อสั่งซื้อผักสดๆ จากพวกเราได้นะคะ หมายเลขโทรศัพท์ 08-9627-5163

คอลัมน์ โรงเรียนของฉัน

โดย ด.ญ.ปาริฉัตร จิตรขจรเดช

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook