ผิดยุค-ล้าสมัย ระบบ "ศึกษาเด็กไทย" ถึงเวลา "แก้จริงจัง" หรือยัง?

ผิดยุค-ล้าสมัย ระบบ "ศึกษาเด็กไทย" ถึงเวลา "แก้จริงจัง" หรือยัง?

ผิดยุค-ล้าสมัย ระบบ "ศึกษาเด็กไทย" ถึงเวลา "แก้จริงจัง" หรือยัง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เด็กในวันนี้อีกไม่นานจะเติบโตเป็นผู้ดูแลบ้านเมือง แต่สภาพของเด็กไทยในปัจจุบัน มีความน่าวิตกกังวลสูง เพราะวิธีการที่เลี้ยงดูเด็ก และพัฒนาการทางการศึกษาของไทยผิดยุค และล้าสมัย"

คำกล่าวของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล แสดงถึงความเป็นห่วงเด็กไทยที่อีกไม่นาน พวกเขาจะเป็น "ทรัพยากรบุคคล" ในการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตของประชาคมอาเซียน

ด้วยเหตุนี้เอง สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สสส. จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 2 เรื่อง การพัฒนาศักยภาพเด็กไทยและเยาวชนไทย สู่ประชาคมอาเซียน ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

บรรยากาศในการประชุมมีนักวิชาการด้านการพัฒนาเด็กแขนงต่างๆ มาร่วมการประชุมคับคั่ง

ผู้ห่วงใยการศึกษาเด็กไทยอีกท่านหนึ่ง นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดงานว่า การจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือไม่ เป็นเรื่องปลีกย่อย แต่ปัจจัยหลักคือทำอย่างไรให้เด็กได้พัฒนาตนเองและสังคม ซึ่งมี 2 ประเด็นที่ต้องคำนึงคือ 1.สิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรได้รับตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประเทศไทยกำลังภูมิใจกับการผลักดันสิทธิเด็กมายมาย แต่ในความเป็นจริงถือว่าล้มเหลว เพราะยังพบเด็กถูกทอดทิ้ง ขาดการศึกษา ขาดสารอาหาร 2.การพัฒนาศักยภาพเด็กไทย ซึ่งสังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดน้อยลง ทำให้คนหนุ่มสาวน้อยลงแต่ต้องมีภาระดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น จึงต้องเริ่มคิดถึงการพัฒนาเด็กไทยให้มีศักยภาพเพื่อก้าวสู่วัยทำงานที่มีคุณภาพ ซึ่งบทบาทของบิดามารดามีส่วนสำคัญในการสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ของเด็กตั้งแต่แรกเกิด

"การศึกษาเมืองไทยที่ด้อยคุณภาพเพราะมีนักวิชาการระดับดอกเตอร์มากเกินไป นำเอาสิ่งที่เรียนรู้จากต่างประเทศมาใช้จนลืมความเป็นไทย โดยเฉพาะบทบาทของวัดซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการศึกษา"

สุดท้าย อดีตนายกรัฐมนตรีย้ำว่า สิ่งสำคัญต้องเน้นคุณภาพครูและหลักสูตรการสอน

"ครูต้องสอนให้น้อยลง แล้วให้โอกาสเด็กพูดและแสดงความคิดเห็น คิดวิเคราะห์ผ่านการตั้งคำถาม" นายอานันท์ กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การปลูกฝังให้เด็กพูดภาษาถิ่นกินนมแม่ คือ การฉีดภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรม

"วัฒนธรรมคือราก และรากคือจุดยืน มนุษย์ทุกคนต้องการจุดยืนในสังคม เด็กก็เหมือนกัน ต้องการราก เพราะในวัยเด็ก เขาสะเปะสะปะในจุดยืน เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมจึงไม่ใช่สิ่งที่ตัดขาดออกจากการพัฒนา แต่เป็นตัวสร้างให้เด็กคนหนึ่งมีที่ยืนที่ชัดเจนว่าจะอยู่ตรงไหน แล้วมีอ้อมอกอุ่นๆ ของวัฒนธรรมอันนี้ที่รอเขาอยู่เสมอ

"ไม่ว่าเขาจะออกไปนอกประเทศกี่ครั้งๆ ก็ยังมีแม่ที่อยู่บนแผ่นดินนี้ เพราะภาษาถิ่นคือภาษาแม่ และภาษาถิ่นให้ที่อยู่ ให้ความรู้สึกผูกพัน และสุดท้าย เป็นเสาค้ำยัน ที่จะเป็นเสาที่รับเขาว่า เขาคือ คนคนที่อยู่ตรงนี้ และยินดีกับการกลับมาของเขาเสมอ ไม่ว่าเขาจะโซเซอยู่มุมไหนของสังคมก็ตาม" ผศ.ดร.วิมลทิพย์กล่าว

ปิดท้าย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ บอกว่า ในแวดวงธุรกิจจะรู้ว่าทุกคนจะมุ่งเข้าสู่อาเซียน และพุ่งเข้ามาสู่ไทย เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่เฉพาะอาเซียน โลกจะพุ่งเข้ามาหาไทย แล้วไทยก็จะเป็นแกนอยู่ในเซ็นเตอร์สำคัญ สิ่งที่เราต้องคิดอย่างหนัก คือ เราจะอยู่อย่างไร เด็กไทยเราเรียนรู้สู้เขาได้ไหม ปรับตัวได้ไหม ฯลฯ

"ปัญหาเด็กที่เกิดขึ้นขณะนี้ เกิดจากระบบที่วางผิดพลาด และมันกำลังทำลายตัวเองอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะระบบการเรียนของเด็กไทยกลายเป็นวงจร เมื่อพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเข้ามหาวิทยาลัยที่ดี ก็จะให้เด็กเรียนหนักตั้งแต่มัธยม ต้องเรียนพิเศษ และพออยากให้เข้ามหาวิทยาลัยที่ดี ต้องให้เรียนมัธยมที่ดี อยากเรียนมัธยมที่ดี ต้องเรียนประถมที่ดี อยากเรียนประถมที่ดี ต้องเรียนอนุบาลที่ดี ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องให้เรียนกวดวิชาตั้งแต่อนุบาล

"อันนี้คือสิ่งที่เราเจอ ชีวิตของพ่อแม่ในยุคนี้รันทดจริงๆ ที่ต้องส่งลูกไปเรียน"

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น

ทพ.กฤษดาเล่าว่า มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทชั้นนำของไทย ทั้งโตโยต้า, เอสซีจี ซึ่งบ่นว่าเด็กจบออกมาสมัยนี้ "ใช้งานไม่ได้เลย" แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่เป็น ซึ่งโจทย์ของการทำงานจริง คือ การแก้ปัญหา แต่ปัญหาที่พบไม่มีในตำรา ไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง

"จากปัญหานี้ เขาตัดสินใจเปิดมหาวิทยาลัยของตัวเอง ซึ่งเราจะเห็นซีพีมีปัญญาภิวัฒน์ เพราะเขาบอกว่าเด็กจบใหม่สมัยนี้ไม่ตอบโจทย์การทำงานของเขา ซึ่ง

ซีพีพูดชัดเลยว่า ไม่ต้องการเด็กเรียนดี แต่ต้องการคนมีความรับผิดชอบ"

ทพ.กฤษดาเสนอวิธีแก้ปัญหาว่า อันดับแรกต้องรณรงค์ให้พ่อแม่ปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการศึกษา และสำคัญที่สุด เปลี่ยนระบบการศึกษา ระบบการพัฒนาเด็ก และระบบสื่อ และสร้างให้เด็กมีภูมิต้านทานต่อสิ่งยั่วยุต่างๆ

"ยกตัวอย่างล่าสุด ที่กระทรวงศึกษาธิการมี

นโยบายให้ยกเลิกผมเกรียน ผมติ่งหู ซึ่งเด็กๆ ต่างพูดกันว่าเป็นผลงานดีที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งกระทรวงศึกษาฯมา เพราะเป็นการให้สิทธิเด็กเลือกดีไซน์ทรงผมเอง แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ส่งผลต่อเด็กอย่างมาก" ทพ.กฤษดาทิ้งท้าย

ถึงเวลาหรือยังที่ระบบการศึกษาไทยต้องแก้อย่างจริงจัง???

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook