โอบามา ประกาศวาระแห่งชาติ "ลงทุนในเด็กปฐมวัย" (1)

โอบามา ประกาศวาระแห่งชาติ "ลงทุนในเด็กปฐมวัย" (1)

โอบามา ประกาศวาระแห่งชาติ "ลงทุนในเด็กปฐมวัย" (1)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ Education Alert

โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เช่ยวชาญนโยบาย ด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา (สสค.)

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี บารัก โอบามา (Barack Obama) ได้แถลงนโยบายแก่รัฐสภาสหรัฐอเมริกา (State of the Union : SOU) เป็นครั้งแรก หลังจากได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นวาระสุดท้ายของเขา

SOU ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการแถลงพิมพ์เขียว (Blueprint) นโยบายสำคัญที่ประธานาธิบดีโอบามา ตั้งใจจะทำให้สำเร็จภายใน 4 ปีข้างหน้านี้ โดยหนึ่งในนโยบายที่ได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากรัฐสภาผ่านธรรมเนียมการยืนปรบมือของสมาชิกรัฐสภาทุกท่านอย่างยาวนาน (Standing Ovation) คือ การประกาศนโยบายด้านการศึกษา 3 ประเด็น ได้แก่

1.นโยบายให้การศึกษาก่อนวัยเรียนแก่เด็กปฐมวัยทุกคนทั่วประเทศ
(Nationwide Early Childhood Pre-school Program) 2.นโยบายส่งเสริมโครงการความร่วมมือแบบ "ไตรภาคี" ระหว่างสถานศึกษา มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการเอกชนในการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำให้แก่เด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย และ 3.นโยบายส่งเสริมความรับผิดชอบของสถาบันอุดมศึกษา และการควบคุมต้นทุนค่าเทอมที่สูงขึ้นของผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษานโยบายที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากทั้งนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

ปี 2543 Prof.James Heckman และนักการศึกษาชื่อดังอย่าง Prof.Timothy Knowles แห่งมหาวิทยาลัย Chicago คือ นโยบายการให้การศึกษาก่อนประถมศึกษาแก่เด็กปฐมวัยทุกคน โดยเป็นการร่วมจ่ายระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลของแต่ละรัฐทั้ง 50 รัฐทั่วประเทศ โดยให้สิทธิแต่เฉพาะเด็กที่มีพื้นฐานครอบครัวที่ยากจนเป็นหลัก

ประธานาธิบดีโอบามาได้ยกเอาผลการวิจัยกว่าหลายทศวรรษที่สอดคล้องตรงกันว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยนั้นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างมากทั้งต่ออนาคตของเด็กเอง และต่อสังคมเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย โดยอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในเด็กปฐมวัย 1 ดอลลาร์ในวันนี้ ประเทศจะได้ผลตอบแทนคืนกลับมาสูงถึง 7 เท่าในอนาคต

ทั้งในรูปของการเพิ่มโอกาสการเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็ก การลดโอกาสการตั้งครรภ์ในวัยเรียน และการลดอัตราการก่ออาชญากรรมในอนาคต ซึ่งล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องใช้เงินในการบำบัดรักษาและแก้ไขปัญหาที่สูงกว่าต้นทุนในการสร้างระบบป้องกันเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย (Early intervention)

นอกจากนั้น Prof.Knowles ยังได้กล่าวย้ำถึงเด็กในช่วงอายุ 0-5 ปีว่า เป็นช่วงที่สมองกว่า 90% กำลังเจริญเติบโต หากรัฐไม่ลงทุนในการพัฒนาเด็กในช่วงเวลานี้แล้ว รัฐจะหมดโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถทางสติปัญญาและการวางรากฐานทั้งทางด้านพฤติกรรม อารมณ์ และสังคมของเด็กไปตลอดชีวิต โดยงานวิจัยที่ติดตามพัฒนาการของเด็กตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงวัยแรงงานหลายพันคน

ทั่วสหรัฐอเมริกาพบว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความแตกต่างในโอกาสการเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานและมหาวิทยาลัย โอกาสในการสร้างปัญหาให้แก่สังคม และโอกาสในการสร้างรายได้ที่สูงกว่าสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวเดิมอีกด้วย

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมซึ่งประธานาธิบดีโอบามายกขึ้นเป็นโมเดลการพัฒนาเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัยเพื่อพัฒนาชุมชน คือ Harlem Children"s Zone (HCZ) ในมหานครนิวยอร์ก ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย

ที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพเด็กและประชาชนในย่านฮาร์เล็มให้มีคุณภาพและห่างไกลจากปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะความยากจน แต่การดูแลเด็กของฮาร์เล็มในระดับปฐมวัยเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการดูแลเด็กทั้งระบบไปจนเข้าสู่มหาวิทยาลัยหรือการมีงานทำ

การดูแลเด็กปฐมวัยไม่ใช่เพียงการให้การศึกษาแก่เด็กเท่านั้น แต่เป็นการให้การศึกษาแก่พ่อแม่และผู้ปกครองในการดูแลเด็กอีกด้วย โดย HCZ ได้มีการคัดสรรโปรแกรมคุณภาพที่ผ่านกระบวนการวิจัยว่าสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย อาทิ โปรแกรม The Baby College ที่อบรมพ่อแม่ที่มีลูกอายุ 0-3 ปี ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับพัฒนาการและการดูแลเด็กในด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดครอบครัวคุณภาพที่มีความสุขและสุขภาพแข็งแรง โปรแกรม Get Ready For Pre-K ที่เตรียมความพร้อมเด็กก่อนเข้าสู่รั้วโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งกระบวนการในการดูแลเด็กทั้งระบบตั้งแต่ปฐมวัยเหล่านี้ ฮาร์เล็มได้มองถึงการสร้างระบบป้องกันเด็กในพื้นที่ ควบคู่กับการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในย่านฮาร์เล็ม

นี่เป็นตัวอย่างของการให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัยในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ในตอนหน้าจะพูดถึงประเทศอื่น ๆ ว่าเขาทำกันอย่างไร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook