′มจธ.-มหิดล-จุฬาฯ′ ติดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย

′มจธ.-มหิดล-จุฬาฯ′ ติดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย

′มจธ.-มหิดล-จุฬาฯ′ ติดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันที่ 11 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นิตยสาร Times Higher Education ของอังกฤษ ได้จัดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียเป็นครั้งแรก ปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยไทยติดอยู่ใน 100 อันดับ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) อันดับที่ 55 ซึ่งอยู่ในลำดับสูงสุดของไทยคือลำดับ 55 มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) อันดับที่ 61 และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ 82 สาเหตุที่ มจธ.ถูกจัดอยู่ในอันดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยไทย เนื่องจากมีผลงานวิจัยที่โดดเด่น ขณะที่ มม.โดดเด่นด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ และจุฬาฯ แม้จะไม่มีสาขาไหนที่โดดเด่นชัดเจน แต่ได้คะแนนในทุกตัวบ่งชี้อยู่ในระดับดี

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย 10 อันดับแรก อยู่ในประเทศญี่ปุ่น 2 แห่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 2 แห่ง และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง 2 แห่ง ประเทศเกาหลีใต้ 3 แห่ง และประเทศสิงคโปร์ 1 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยที่อยู่ใน 5 อันดับแรกของเอเชียคือ มหาวิทยาลัยโตเกียวของญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง มหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีน และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโปฮังของเกาหลีใต้

นายศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า มจธ.อยู่ในอันดับที่ 55 เข้าใจว่าตัวชี้วัดน่าจะใกล้เคียงกันการจัดอันดับครั้งที่ผ่านมา โดยดูจากผลงานวิจัยที่มีความหมายกับการเรียนการสอน ความร่วมมือกับภาคเอกชน รวมถึงเป็นงานวิจัยที่เห็นผลอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ที่ มจธ.ติดอันดับมหาวิทยาลัยของ Times Higher Education เกิดจากการสั่งสมงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึง ทำความร่วมมือกับภาคเอกชน และต่างประเทศ ขณะเดียวกันคิดว่าหากรัฐบาลต้องการให้มหาวิทยาลัยสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศมากกว่านี้ จะต้องลงทุนเรื่องสร้างความรู้อีกมาก เพื่อไม่ให้กระทบกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และจะต้องลงทุนเรื่องโครงสร้าง อาทิ การสร้างบรรยากาศ และสถานที่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักวิจัยได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ สร้างห้องแล็บให้เพียงพอต่อความต้องการ เป็นต้น

"ปัจจุบันรัฐบาลลงทุนเรื่องงานวิจัยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะไม่ถึง 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าอีก 4-5 ปี จะเพิ่มงบประมาณด้านงานวิจัยเป็น 1% ของ GDP รวมกับภาคเอกชนอีก 1% ของ GDP เป็น 2% แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีท่าทีว่าจะเพิ่มขึ้น" นายศักรินทร์กล่าว

นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า น่าจะเป็นครั้งแรกที่ Times Higher Education หันมาจัดอันดับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งใช้ข้อมูลเดิมจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดยดูจากงานวิจัย และความร่วมมือกับภาคเอกชน รวมถึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ เท่าที่ดูคะแนนมหาวิทยาลัยไทยที่ติดอันดับครั้งนี้ ยังถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยไทยยังด้อยคือ ผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิง และความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น คิดว่ารัฐบาลควรจะทุ่มเทงบให้มหาวิทยาลัยสร้างงานวิจัยเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้เห็นได้ชัดจากประเทศเพื่อนบ้านคือมาเลเซีย ที่เมื่อก่อนไทยไปไกลกว่า แต่เมื่อรัฐบาลมาเลเซียเปลี่ยนนโยบาย ทุ่มสนับสนุนงบวิจัยให้มหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ทำให้ขณะนี้มาเลเซียไปไกลกว่าไทยมาก

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook