′จุฬา-มธ.′ อัดรัฐไม่จริงใจ หั่นงบวิจัยพัน ล.ทำไทยตก ′ม.โลก′

′จุฬา-มธ.′ อัดรัฐไม่จริงใจ หั่นงบวิจัยพัน ล.ทำไทยตก ′ม.โลก′

′จุฬา-มธ.′ อัดรัฐไม่จริงใจ หั่นงบวิจัยพัน ล.ทำไทยตก ′ม.โลก′
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันที่ 25 เมษายน นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงบประมาณตัดงบประมาณโครงการส่งเสริมงานวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ในปีงบประมาณ 2557 ไปจำนวน 1,000 ล้านบาท ว่า การที่รัฐบาลตัดงบดังกล่าว ทั้งที่มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติพยายามขอให้รัฐบาลผลักดันงบดังกล่าว ซึ่งยังเหลืออยู่จำนวน 1,667 ล้านบาท ให้ครบ เพื่อจะได้ไปดำเนินงานวิจัยต่างๆ ที่ค้างอยู่ให้เห็นผลสัมฤทธิ์ตามที่วางเป้าหมายไว้ เท่ากับเป็นการสวนทางกับที่รัฐบาลบอกว่า สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยสร้างงานวิจัย ซึ่งคงจะกระทบกับงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยต่างๆ กำลังดำเนินการอยู่พอสมควร ทั้งนี้ในระยะยาวจะกระทบกับศักยภาพการแข่งขันของมหาวิทยาลัยด้วย ในส่วนของจุฬาฯเอง คงต้องไปดูว่าจะหาเงินจากแหล่งไหนได้บ้าง เพื่อมาสานต่องานวิจัยให้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้

"มหาวิทยาลัยเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการงานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม และการเกษตร แต่รัฐบาลก็ต้องเข้าใจด้วยว่า เราจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ รวมถึงสร้างงานวิจัยพื้นฐานขึ้นก่อน เพื่อที่จะได้ไปต่อยอดสู่งานวิจัยที่จะไปพัฒนาในส่วนต่างๆ ต่อไปได้" นพ.ภิรมย์กล่าว

ด้านนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า รัฐบาลประกาศมาตลอดว่าจะสนับสนุนงานวิจัย แต่สิ่งที่รัฐบาลพูดกลับสวนทางกับงบประมาณที่ถูกตัดลงเรื่อยๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อาจจะกระทบกับสิ่งที่รัฐบาลตั้งความหวังไว้ว่ามหาวิทยาลัยไทย จะติดอันดับโลก และสร้างงานวิจัย หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาประเทศ เพราะทุกอย่างล้วนต้องใช้งบต่อเนื่องอย่างเพียงพอ ส่วนที่รัฐบาลบอกว่าอยากให้มหาวิทยาลัยสร้างงานวิจัยที่สามารถพัฒนาประเทศได้โดยเร็วนั้น ที่จริงมหาวิทยาลัยทำอยู่แล้ว และมหาวิทยาลัยก็แข่งขันกันเอง เพราะงานวิจัยทุกชิ้นมหาวิทยาลัยจะต้องส่งให้รัฐบาลดู ซึ่งหากรัฐบาลเห็นว่าชิ้นไหนมีประโยชน์ก็สามารถผลักดันต่อได้ หรืออาจจะกำหนดมาเลยว่าอยากให้มหาวิทยาลัยทำงานวิจัยอะไร และสนับสนุนไปตามที่รัฐบาลกำหนด

"ผมพูดหลายครั้งว่า งบที่รัฐบาลให้มหาวิทยาลัยเดิมก็ไม่มากอยู่แล้ว ยิ่งมาตัดลงอีก มหาวิทยาลัยยิ่งทำงานลำบาก แต่ส่วนตัวเข้าใจ เพราะจากการที่เคยเข้าหารือกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เองก็มีความเข้าใจ และรับปากจะช่วยผลักดัน แต่รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ไม่ได้ดูแลงบ ดังนั้นผู้ที่จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องนี้จริงๆ คือคนที่ดูแลงบ และนายกรัฐมนตรี ส่วนทปอ.คงไม่พูดคุยเรื่องนี้ เพราะคุยกันมาหลายรอบแล้ว มหาวิทยาลัยคงทำอะไรไม่ได้ จะไปประท้วงก็ไม่ได้ เพราะเราเป็นปัญญาชน ทำได้แค่สะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้น และต่อไปหากมหาวิทยาลัยไทยไม่ติดอันดับโลก รัฐบาลจะมาโทษมหาวิทยาลัยไม่ได้" อธิการบดี มธ.กล่าว และว่า ในส่วนของ มธ.อาจต้องเจียดงบจากส่วนอื่น เพื่อมาสานต่องานวิจัยให้เสร็จ แต่อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้เท่าที่ควร

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook