ภาษาอังกฤษคนไทยโคม่า...กูรูแนะเด็กไทยพัฒนาอังกฤษเตรียมพร้อมสู่ AEC

ภาษาอังกฤษคนไทยโคม่า...กูรูแนะเด็กไทยพัฒนาอังกฤษเตรียมพร้อมสู่ AEC

ภาษาอังกฤษคนไทยโคม่า...กูรูแนะเด็กไทยพัฒนาอังกฤษเตรียมพร้อมสู่ AEC
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลสำรวจจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ชี้ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่ในอันดับที่ 8 จาก 10 ประเทศในเอาเซียน ดีกว่าลาว และกัมพูชาเท่านั้น ส่วนคะแนนโทเฟลอยู่อันดับ 6 ในกลุ่มอาเซียน* โดยเวียดนามแซงหน้าแล้ว หากไม่เร่งปรับทัศนคติ และพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตนให้ทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน อีกสามปีข้างหน้าสถานการณ์แรงงานไทยจะ เสียเปรียบในเวที AEC ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับแรงงานประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนได้ ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ในสายงานนั้น ๆ หรือมีทักษะในด้านอื่น ๆ ก็ตาม

แรงงานไทยเจอศึกหนักหากไม่รู้ภาษาอังกฤษ

ปี 2558 ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภูมิภาคอาเซียนจะกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ส่งผลให้แรงงาน สินค้าและบริการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีภายในภูมิภาค

นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับแรงงานไทย เพราะจะมีการแข่งขันสูงในตลาดแรงงาน เพราะจะมีอาชีพ 8 อาชีพที่แรงงานสามารถทำงานได้ทั่วภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ วิศวกร พยาบาล สถาปนิก การสำรวจ นักบัญชี ทันตแพทย์ แพทย์ การบริการ/การท่องเที่ยว บริษัทต่าง ๆ จะเริ่มคัดเลือกพนักงานในระดับภูมิภาคแทนการหาแรงงานในประเทศเพียงอย่างเดียว วุฒิการศึกษาเท่ากัน เกรดเท่ากัน แต่จุดที่จะตัดสินว่าใครจะได้งาน คือความสามารถทางภาษา

อริสรา ธนาปกิจ หรือครูแนน ผู้พลิกวงการภาษาอังกฤษด้วยเสียงเพลง และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันพัฒนาภาษา Enconcept E- Academy เบื้องหลังความสำเร็จของเด็ก ๆ จำนวนมาก ให้ข้อคิดเห็นในงาน "Think Beyond : คิดข้ามช็อต" ว่า "การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าภาษาอังกฤษดี คนไทยจะได้เปรียบ ภาษาอังกฤษไม่ได้สำคัญแค่เรื่องการติดต่อสื่อสาร แต่ยังเป็นเหมือนประตูบานใหญ่ในการหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพราะต้นทางความรู้ส่วนใหญ่ เช่น วารสารทางการแพทย์ หรือ การค้นคว้าวิจัยต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต มักจะเป็นภาษาอังกฤษ"

ทีมงานผู้เชี่ยวชาญจาก Enconcept E- Academy ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษ โดยยกตัวอย่างบริษัทผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันของผู้ที่จบทางด้านวิศวกรรมที่อยากทำงานที่แท่นขุดเจาะ เพราะรายได้เริ่มต้นสูงถึงหนึ่งแสนบาทต่อเดือน บริษัทดังกล่าวใช้วิธคัดเลือกพนักงานด้วยการให้พนักงานโทรข้ามประเทศไปยังโรงเรียนสอนภาษาที่ประเทศอังกฤษ เพื่อวัดทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของผู้เข้าสมัคร

ท่องเที่ยวและโลจิสติกส์มาแรงหลังเปิด AEC

หลังเปิด AEC โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระหว่างประเทศจะพัฒนามากขึ้น เช่น จะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีนมายังสิงคโปร์ ซึ่งเส้นทางส่วนใหญ่ผ่านประเทศไทย เป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว แนวโน้มการท่องเที่ยวของไทยจะขยายตัวสูงมาก มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยกว่า 20 ล้านคน นับว่าเป็นโอกาสทองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เพราะเราเชี่ยวชาญเรื่องการบริการและการท่องเที่ยวอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการรู้ภาษาอังกฤษและภาษาที่สามอื่น ๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสของแรงงานไทยในการหางานในอุตสาหกรรมนี้ได้ "อาชีพที่มาแรงอย่าง อาชีพบริการและการท่องเที่ยว ก็เป็นอาชีพที่น่าสนใจสำหรับเด็กสายศิลป์ เพราะต้องใช้ความสามารถทางด้านภาษาอย่างมาก เด็ก ๆ ควรมีความแข็งแกร่งทางด้านภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาที่สามที่แนะนำคือ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอาหรับ เพราะในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเหล่านี้เดินทางมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก" ครูพี่แนนชี้

นอกจากนี้ไทยจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในด้านการขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ หากวิเคราะห์ถึงที่ตั้งของประเทศไทยแล้ว ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์หรือเรียกว่า HUB กล่าวคือ ด้านบนเป็นจีน ฝั่งหนึ่งเป็นอินเดีย อีกฝั่งหนึ่งเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ส่วนด้านล่างเป็นออสเตรเลีย จะมีการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมโยงทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ดังนั้นอีก 1 อาชีพที่น่าสนใจคือโลจิสติกส์ หรือการขนส่ง ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดการด้านการขนส่งสินค้าจากคลังไปยังผู้บริโภค ซึ่งไทยยังขาดแคลนทรัพยากรบุคคลด้าน โลจิสติกส์ อยู่มาก

จะเห็นได้ว่าประเทศไทย ไม่ว่าจะขยับตัวไปทางไหน สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้อง "กำจัดจุดอ่อน" เริ่มต้นเรียนรู้และฝึกฝนภาษาอังกฤษเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้ก้าวสู่ AEC ได้อย่างมั่นใจและมั่นคง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook