เด็กไทยยุคโซเชียลฯ ไม่เมิน "ห้องสมุด"

เด็กไทยยุคโซเชียลฯ ไม่เมิน "ห้องสมุด"

เด็กไทยยุคโซเชียลฯ ไม่เมิน "ห้องสมุด"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รายงาน โดย พชรอร ชินทะวัน

ยุคของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่การสื่อสารทุกอย่างง่ายและสะดวก การค้นหาข้อมูลต่างๆ จึงง่ายด้วยการสืบค้นจากเว็บไซต์เพิ่มความสะดวก รวดเร็วแก่ผู้คนในยุคนี้มาก เหตุนี้จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า "ห้องสมุด" ในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ยังมีนักศึกษามาใช้บริการกันมากน้อยแค่ไหน เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ต้องเข้าห้องสมุดก็สามารถโหลดหนังสือ วิทยานิพนธ์เล่มโตมาอ่านได้ และยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเสียเวลาในการเดินทางไปห้องสมุดอีกด้วย

ในวันนี้ได้มีโอกาสไปสำรวจบรรยากาศหอสมุดกลาง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะอยู่ในช่วงปิดภาคเรียนแต่ก็ยังมีนักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้ามาหยิบยืม และนั่งอ่านหนังสือกันอยู่ไม่น้อย

"น.ส.วรธิดา ชื่นสุขม" หรือ "น้องมายด์" นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ที่เข้ามาใช้บริการ เล่าว่ายังให้ความสำคัญกับการเข้าห้องสมุดเป็นประจำไม่ว่าจะห้องสมุดทางของคณะวิทยาศาสตร์ หรือห้องสมุดจุฬาฯ เข้ามาค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประกอบการเรียนและเป็นสถานที่ในการติวหนังสือที่เงียบสงบ ห้องสมุดยังคงมีความสำคัญในยุคของเด็กรุ่นใหม่ที่ต่างหันมาใช้เทคโนโลยี เพราะส่วนตัวคิดว่าข้อมูลจากหนังสือนำมาอ้างอิงและมีความน่าเชื่อถือมากกว่าข้อมูลในเว็บไซต์ที่เปิดกว้างให้ใครก็ได้สามารถนำข้อมูลมาใส่และแก้ไขได้ตลอด โดยเราไม่อาจทราบว่าข้อมูลนั้นเท็จจริงแค่ไหน

"สิ่งที่ห้องสมุดควรปรับปรุงคือ บรรยากาศความน่าเข้ามาใช้ อย่างที่จุฬาฯ จะเห็นว่าในส่วนของชั้น 2 ได้มีการปรับปรุงทำให้พื้นที่สะอาด และผู้คนไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือประชาชนเองมาใช้บริการมากขึ้น ส่วนการจัดวางหนังสือบางทีจะมีคนทั่วไปมาใช้ควรจะทำให้การค้นหาหนังสือ รวดเร็วและใช้ง่ายขึ้น ทั้งนี้การเข้าห้องสมุดไม่คิดว่าเชย แต่เด็กปัจจุบันเข้าห้องสมุดน้อยลงอาจ เป็นเพราะข้อดีของอินเตอร์เน็ตที่เข้ามามีบทบาทมากทำให้เราหาข้อมูลได้ตลอดเวลานั่นเอง" น้องมายด์กล่าว

ขณะที่ "นายสิรวิชย์ หอมศรี" หรือ "น้องตึก" นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 บอกว่า วันนี้เดินทางมากับเพื่อนเพื่อค้นหาข้อมูลที่ห้องสมุดจุฬาฯ โดยปกติตนเลือกที่จะค้นคว้าข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเพราะสามารถตอบโจทย์เราได้ เพียงแค่ค้นหาสิ่งที่ต้องการในเว็บไซต์ดังกูเกิล เพราะตนไม่มีเวลาในการเข้าห้องสมุดมากนัก หากต้องการหาข้อมูลเชิงลึกที่อาจารย์สั่งงานและไม่สามารถค้นคว้าในกูเกิลก็จะเลือกใช้ห้องสมุดใกล้บ้านเพื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งนี้สิ่งที่อยากให้ห้องสมุดต่างๆ ได้ปรับคือ ควรมีมุมเฉพาะให้กับพระภิกษุที่เข้ามาใช้บริการด้วย จะได้ไม่ต้องไปนั่งรวมกับฆราวาสทั่วไป ดูแล้วอาจจะไม่เหมาะสม

น้องตึกยังบอกด้วยว่า การเข้าห้องสมุดเป็นสิ่งที่ไม่เชยสำหรับเด็กยุคนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของคนและวัตถุประสงค์ในการเข้ามาใช้งาน ทุกวันนี้ห้องสมุดในประเทศไทยมีมากและเพียงพอให้ประชาชนเข้ามาเลือกใช้บริการแต่ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะเลือกเข้ามาใช้ประโยชน์จากห้องสมุดหรือไม่

ส่วนบรรยากาศสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รังสิต หรือรู้จักดีในนาม "หอสมุดป๋วย" ก็มีบรรยากาศที่คึกคักไม่ต่างกัน "น.ส.เบญจวรรณ คำหาญพล" นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. บอกว่า มาใช้บริการห้องสมุดป๋วยเป็นประจำและไม่คิดว่าเชย เป็นการดีที่เรามีห้องสมุดอำนวยความสะดวกเพื่อค้นคว้าข้อมูลมาประกอบในการทำงานส่งอาจารย์ เช่น การเขียนเรียงความที่จะต้องมีข้อมูลอ้างอิงเยอะๆ และช่วงสอบจะมาติวหนังสือบ่อยเพราะเป็นสถานที่ที่เงียบสงบ อย่างทางหอสมุดป๋วยจะมีการแบ่งเป็นโซนอย่างชัดเจน เช่น โซนเงียบ โซนใช้โทรศัพท์ โซนที่เป็นห้องสำหรับไว้ให้นักศึกษาใช้ติวหนังสือเพียงใช้บัตรนักศึกษา 5 คนขึ้นไป เพื่อทำการเปิดห้อง ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าการหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตนั้นเมื่อพิมพ์ไปจะหาง่ายกว่า แต่อาจจะได้ข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับความต้องการ และหากเป็นไปได้อยากให้ห้องสมุดเปิดบริการ 24 ชั่วโมง

ด้านอาจารย์ประดับศรี เนตรนี รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สะท้อนว่า ห้องสมุดในยุคปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีบางส่วนเข้ามาใช้ เช่น งานบริการยืม-คืนหนังสืออัตโนมัติ สามารถนำหนังสือพร้อมบัตรนักศึกษาไปใช้ได้เลย ยอมรับว่าก่อนนี้นักศึกษาจะให้ความสนใจในส่วนที่เป็นหนังสือมาก ศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองในการค้นคว้าหาหนังสือ แต่ในทุกวันนี้ไอทีเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น นักศึกษาก็สามารถเลือกใช้ในสิ่งที่เขาสะดวกที่จะหาข้อมูล ดังนั้น ปริมาณของผู้ใช้ก็ต้องยอมรับว่าน้อยลงไปตามกาลเวลาแต่ไม่ได้หายไปทั้งหมด ในฐานะที่เป็นบรรณารักษ์ก็มีหน้าที่ทำแบบสอบถามว่านักศึกษามีความต้องการอย่างไร ห้องสมุดในยุคใหม่จะทำอย่างไรให้เยาวชนยังเห็นความสำคัญต่อการศึกษาหาความรู้ ทั้งนี้อาจารย์ประจำวิชาต้องให้ความร่วมมือในวิชาที่สอนโดยให้งานเด็กที่หาจากอินเตอร์เน็ตไม่ได้และต้องใช้ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือ เป็นต้น

"ทุกวันนี้แม้กระทั่งเด็กตัวเล็กๆ ใช้เทคโนโลยีกันอย่างแพร่หลาย ผู้ปกครองควรหันมาให้ความสนใจในการดูแลบุตรหลานไม่ให้ใช้เทคโนโลยีในทางที่ไม่เหมาะสมมากไป ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในฐานะที่เป็นบรรณารักษ์คอยดูแลห้องสมุดและบุคคลที่เข้ามาใช้ห้องสมุดนั้นเห็นว่า ถึงแม้เทคโนโลยีจะก้าวกระโดดแค่ไหน หนังสือยังสำคัญและอยู่คู่กับการเรียนการสอนอยู่ดี" อาจารย์ประดับศรีกล่าว

"ทั้งนี้ถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ห้องสมุดยังคงมีความสำคัญไม่ได้ลดน้อยลง ในฐานะแหล่งที่รอให้ทุกคนเข้ามาค้นคว้าหาความรู้"

หน้า 23,มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤาภาคม 2556

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook