'พุทธศึกษา' สืบสานการสร้างสุขที่ยั่งยืน

'พุทธศึกษา' สืบสานการสร้างสุขที่ยั่งยืน

'พุทธศึกษา' สืบสานการสร้างสุขที่ยั่งยืน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี คือวันวิสาขบูชา อีกหนึ่งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนควรน้อมรำลึกถึงพระคุณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธองค์

ย้อนหลังไปกว่า 2600 ปีมาแล้ว ณ ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ พระโคตมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้อริยสัจสี่ หรือหลักแห่งความจริง 4 ประการในการพ้นทุกข์ จากนั้นจึงส่งพระภิกษุออกไปประกาศศาสนา ดังเช่นที่มีพุทธพจน์ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกว่า

"...ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขของชนหมู่มาก..."

จวบจนถึงทุกวันนี้ "พระสงฆ์" ผู้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พุทธศาสนา ก็ยังคงทำหน้าที่นั้นอย่างต่อเนื่อง

พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม กล่าวถึงการบูรณาการ 'พุทธศาสนา' กับ 'ศาสตร์' สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาจิตใจผู้คนในสังคมปัจจุบันว่า นอกจากการเผยแผ่พระธรรมแล้ว ที่ผ่านมาบทบาทของพระสงฆ์อีกอย่างหนึ่งก็คือ การนำธรรมมะไปสอดแทรกการทำงานเพื่อสังคม โดยใช้การทำงานนั้นๆ เป็น 'เครื่องมือ' ในการสื่อธรรมสู่ 'ใจ' คนด้วย

"การที่พระสงฆ์หรือองค์กรทางศาสนา จะเข้าไปพัฒนาในเรื่องต่างๆ แล้วสอดแทรกธรรมให้เนียนไปกับกิจนั้น จะต้องนำความรู้ที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการสื่อธรรมออกไป อย่างเช่น หากเราพูดถึงการพัฒนาอาชีพของคน จะให้คนประกอบสัมมาชีพ เพื่อการอยู่ดีกินดี ทางโลกมีระบบทางเศรษฐศาสตร์เป็นตัวชี้วัด ตัวเศรษฐศาสตร์นี้ เราจะนำธรรมะใส่เข้าไปได้อย่างไร ให้เป็นเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธที่สอนให้คนอยู่ดีกินดีอย่างมี 'ศีลธรรม' ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายกันเอง หากแต่สอนให้คนปฏิบัติธรรมควบคู่ไปกับการดำรงชีวิตได้"

ก้าวต่อไป 'พุทธศึกษา' ของคณะสงฆ์ จึงเป็นการนำหลัก 'พุทธศาสตร์' และ 'ศาสตร์' ทางโลก มาบูรณาการซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างความสงบสุขและสันติภาพอย่างมีคุณภาพให้กับสังคมสืบไป

ด้าน พระมหาสุทิตย์ อาภากโร ดร.ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวถึง 'การพัฒนาระบบการบริหารจัดการและการสร้างเครือข่ายองค์กรพระพุทธศาสนาในประเทศไทย' ว่า เป็นการศึกษาวิจัยคณะสงฆ์ เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ และหาแนวทางที่จะนำไปสู่ "การเปิดพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ตามแนวพระพุทธศาสนา" ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาบุคคลและสังคมบนพื้นฐานของพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมไทยให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

สำหรับวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 10 ที่จะถึงนี้ ดร.ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ ยังกล่าวถึงความสำคัญที่พุทธศาสนิกชนพึงตระหนักว่า ควรมี 'ความเมตตา' แก่กันให้มาก ดังที่สะท้อนจากจุดมุ่งหมายที่พระพุทธองค์ทรงส่งพระสาวกออกไปประกาศธรรมว่า เป็นไป 'เพื่อประโยชน์และความสุขของชนหมู่มาก'

ฉะนั้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระพุทธองค์ในวันวิสาขบูชาที่จะถึงนี้ พุทธศาสนิกชนจึงควรใช้ 'เมตตา' เป็น 'เครื่องค้ำจุน' ต่อกัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และความสุขในสังคมยิ่งๆ ขึ้นไป

"การสร้างความสุขสงบนี้ มิได้หมายถึงพุทธศาสนาหรือพระสงฆ์เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ไปสร้างความสุขแก่ 'คน' แต่หมายรวมถึง ทุกคนในสังคม ต้องร่วมกันสร้างความสุขสงบให้แก่กัน ดูแลซึ่งกันและกัน ยามเห็นใครลำบากหรือเดือดร้อน ก็เข้าไปช่วยเหลือดูแลกัน ใครทุกข์ใจ ก็แบ่งปันธรรมมะให้เขาคลายจิตที่เศร้าหมองลงแล้วมีสุขได้

ตามหลักพุทธศาสนา ธรรมะคือธรรมชาติที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง จุดเริ่มต้นในการนำธรรมะมาใช้ ก็คือการนำมาใช้กับชีวิตประจำวันของเรา อย่างเช่น มีสติทุกครั้งในการประกอบกิจกรรม หรือการออกไปใช้ชีวิต โดยถ้าเรามีสติในการควบคุมตนเอง เราจะตระหนักรู้ว่า สิ่งนี้ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตน สิ่งนี้ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เมื่อทำได้ ประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมก็จะตามมา"

นอกจากนี้ พระมหาสุทิตย์ อธิบายเสริมว่า บรรดาธรรมทั้งหลายแห่งพุทธองค์ คือการตั้งอยู่ในความไม่ประมาทในที่ทุกสถาน ซึ่งหากเรายังไม่รู้ว่าการไม่ประมาทในทางพุทธศาสนาคืออะไร ก้าวต่อไปก็คือการไป 'เรียนรู้' และ 'ฝึกฝน' ตนเองให้มาก

"ธรรมะที่เน้นย้ำกันบ่อยๆ ให้ต้องตระหนัก นอกจากหลักไตรสิกขาว่าด้วยเรื่องศีล สมาธิ และปัญญาแล้ว ควรคำนึงถึงหลัก 'ภาวนา' ที่มีความหมายว่า ทำให้เจริญ ทำให้มากด้วย เพราะเมื่อทำให้เจริญและทำให้มากแล้ว ธรรมนั้นย่อมเกิดประโยชน์และความสุขแก่ผู้ประพฤติ ซึ่งหากยังไม่รู้ว่า จะภาวนาอย่างไร ก็ขอให้ยึดหลักภาวนา 4 ได้แก่ กายภาวนา การเจริญ - การฝึกอบรมกาย ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ สีลภาวนา การเจริญศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อน จิตภาวนา การฝึกอบรมจิตใจให้เข้มแข็งมั่นคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย และสุดท้าย ปัญญาภาวนา การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้ถูก เข้าใจถูก ถึงสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอย่างเท่าทันและเห็นโลก"

เมื่อทำได้เช่นนี้แล้ว ขณะที่ 'คณะสงฆ์' ร่วมศึกษาเพื่อหาแนวทางคุณภาพในการเผยแพร่พุทธศาสนาเพื่อสร้างสุขแก่สังคม การน้อมนำหลักธรรมมาใช้จริงในทุกๆ วันของ 'พุทธศาสนิกชน' ก็ย่อมจะก่อให้เกิด 'พลัง' สร้างพื้นที่ของความสุขอันจีรังได้ ฉันนั้น...

เรื่องโดย ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ Team Content www.thaihealth.or.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook