เมื่อสื่อตะวันตกมอง"การศึกษาไทย"ฝังราก"ระบบทหารกับเด็ก"-"นักเรียน"เริ่มท้าทาย-รบ.ล้างระบบ"

เมื่อสื่อตะวันตกมอง"การศึกษาไทย"ฝังราก"ระบบทหารกับเด็ก"-"นักเรียน"เริ่มท้าทาย-รบ.ล้างระบบ"

เมื่อสื่อตะวันตกมอง"การศึกษาไทย"ฝังราก"ระบบทหารกับเด็ก"-"นักเรียน"เริ่มท้าทาย-รบ.ล้างระบบ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเร็ว ๆ นี้ "นิวยอร์กไทมส์"ได้ตีพิมพ์รายงานชื่อว่า"In Thailand's Schools, Vestiges of Military Rule"หรือ"ในโรงเรียนไทย ปรากฎคราบการปกครองแบบทหาร" โดยชี้ว่า เมืองไทยมีบางสิ่งที่แย่และตรงข้ามกับภาพลักษณ์ของการเป็นเมืองท่องเที่ยว นั่นคือระบบการศึกษาไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากระบบเผด็จการทหารไทยในอดีต มีการใช้กฎระเบียบ และการบังคับให้ยอมรับยึดถือกฎเกณฑ์ โดยนักเรียนไทยต่างมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกัน

"นิวยอร์กไทมส์"รายงานว่า ตามโรงเรียนรัฐในย่านอุตสาหกรรมของเมืองหลวงกรุงเทพฯ กลับมีภาพครูถือไม้เรียวตีเด็กนักเรียน และดุด่าว่ากล่าวนักเรียนที่ไว้ผมยาว และสั่งให้ตัดผมได้ทันที และว่านักเรียนไทยจะต้องถูกตรวจเช็คว่าพวกเขามีเล็บยาวหรือไม่,ใส่ถุงเท้ามีสีสันลวดลายหรือไม่ รวมทั้งทำผิดกฎละเมิดการแต่งกายของโรงเรียนหรือไม่ โดยนายอรุณ วันเพ็ญ รองอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่ไม่มีการเปิดเผย บอกว่า ตามพื้นฐานแล้ว นักศึกษาจะต้องแต่งกายเหมือน ๆ กัน พวกเขามีหน้าที่จะต้องไว้ผมสั้น ร้องเพลงชาติ สวดมนต์ และปฎิญาณตนว่าจะอุทิศตนเพื่อประเทศชาติ และพระมหากษัตริย์ และไม่ก่อความเดือดร้อนใด ๆ

อย่างไรก็ตาม"นิวยอร์กไทมส์"อ้างว่า แม้ว่าทุกวันนี้มรดกของการปกครองของทหารในเมืองไทยจะลางเลือนไปแล้ว แต่นักเรียนบางคนก็ได้ลุกขึ้นมาท้าทาย โดยบางรายประสบความสำเร็จกับการท้าทายระบบที่บังคับให้นักเรียนต้องเชื่อฟังโดยห้ามโต้เถียง เด็กเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจาก"พันธมิตร"ในรัฐบาลที่ต้องการจะลดบทบาททหารในชีวิตพลเรือน และได้เสนอการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนต่อระบบการศึกษาที่ยังมีคราบของพฤติกรรมทหารอยู่

โดยเมื่อปีที่แล้ว "แฟรงค์"นักศึกษารายหนึ่ง ของโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ได้รณรงค์ผ่านเฟซบุ๊ค เรียกร้องให้มีการยกเลิกระบบการศึกษาที่ปฎิบัติต่อนักศึกษาเหมือนเครื่องจักร แฟรงค์และกลุ่มเพื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ได้จัดตั้งกลุ่มชื่อว่า"พันธมิตรปฎิวัติการศึกษาไทย"และเขากลายเป็นที่กล่าวถึง หลังจากได้ออกรายการโทรทัศน์พูดถึงอุดมการณ์ของเขา ขณะที่เจ้าตัวกล่าวว่า ทุกวันนี้ โรงเรียนในเมืองไทยเป็นเหมือนเครื่องจักรที่ผลิตบุคคลให้ออกมาเป็นพิมพ์เดียวกัน ขณะที่ครูอาจารย์ก็เป็น"เผด็จการ"ที่เอาแต่ให้นักเรียนให้"ก้มหัวคำนับ"และห้ามโต้แย้งพวกเขา

"นิวยอร์กไทมส์"ระบุว่าสารของแฟรงค์และกลุ่มได้รับการตอบสนองบางส่วนจากนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีดีกรีจบจากเมืองนอกอย่างสหรัฐ โดยนายพงษ์เทพประกาศที่จะให้นักเรียนไทยไว้ผมยาว(รองทรง)ได้ และได้เสนอร่างเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาเพื่อลดการให้ความสำคัญต่อ"ระบบท่องจำ"และสนับสนุนให้นักเรียนคิดอย่างมีเหตุผล โดยนายพงษ์เทพได้เสนอให้โรงเรียนไทยให้การบ้านแก่นักเรียนน้อยลงและลดเวลาเรียนลง และให้หลักสูตรการศึกษามุ้งเน้นความจำเป็นในการเรียนด้านภาษา,วิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

โดยเขากล่าวว่า ในยุคของ"วิกิพีเดีย"เช่นปัจจุบัน เป็นเรื่องไร้เหตุผลที่จะให้นักเรียนมานั่งท่องจำชื่อหรือความยาวของแม่น้ำต่าง ๆ เหมือนที่เขาเคยเจอตอนเป็นนักเรียนมาก่อน นอกจากนี้ นายพงษ์เทพ ซึ่งเคยฝึกงานด้านทนายความจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน บอกว่า การกระตุ้นให้เด็กนักเรียนไทยได้สร้างรูปแบบความเห็นของตัวเอง และโต้เถียงกัน จะเป็นเรื่องดีสำหรับประชาธิปไตย และสำหรับประเทศไทย

"นิวยอร์กไทมส์"เผยว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นายพงษ์เทพ ได้ประกาศว่าเขาจะผ่อนปรนระเบียบการไว้ผมของนักเรียน ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของระบอบเผด็จการทหารที่ถูกนำมาใช้ในโรงเรียนไทย ตั้งแต่ปี 1972 โดยกฎระเบียบดังกล่าวบังคับให้ผู้หญิงต้องไว้ผมยาวไม่เกินติ่งหู ส่วนเด็กนักเรียนชายต้องไว้ผมสั้นเกรียนเหมือนนักเรียนทหาร แต่ขณะนี้รัฐบาลกำลังมีกฎระเบียบใหม่ออกมา ซึ่งนายพงษ์เทพกล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้นักเรียนไทยเป็นบุคคลที่"คิดอย่างมีเหตุผล"และเราไม่สามารถจะไปบังคับให้พวกเขาทำสิ่งที่ไม่มีเหตุผลได้

"นิวยอร์กไทมส์"กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือว่าจะส่งผลกระทบต่อหัวใจของโรงเรียนในเมืองไทยซึ่งนิยมการใช้เวลาในห้องเรียนให้มากและเรียนให้หนักซึ่งถือเป็นหนึ่งในสูตรหลักของความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก โดยเมืองไทยต้องการจะเลียนแบบโมเดลนี้ เพื่อไต่เต้าตามประเทศเพื่อนบ้านที่มีเศรษฐกิจร่ำรวย

แต่ทว่าตอนนี้ นักเรียนไทยกำลังเหนื่อยกับพฤติกรรมนี้ และสมุดพกของนักเรียนไทยแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่จะต้องพัฒนา จากคะแนนการสอบระดับชาติที่ตกลง และการที่นักศึกษาไทยมีคะแนนด้านคณิตศาสตร์อยู่ที่ระดับ 52 จากการประเมินของระบบนักศึกษาสากล ซึ่งเป็นดัชนีสากล ทำให้พวกเขามีเกณฑ์คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ของกลุ่มประเทศความร่วมมือและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของยุโรปหรือ"โออีซีดี"(ขณะที่นักศึกษาในเมืองเซี่ยงไฮ้ของจีนและสิงคโปร์ติดอันดับหนึ่งและสองจากการประเมินผลดังกล่าว)

นิวยอร์กไทมส์ยังได้อ้างบรรดาผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาของเมืองไทย ซึ่งบอกว่า หลักสูตรปัจจุบัน อัดแน่นไปด้วยเรื่องของ"การท่องจำ"และไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้คิดเอง โดยนายสมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการแก้ไขหลักสูตรการศึกษาไทย กล่าวว่า เขาเคยพูดมานานแล้วว่า ยิ่งเราเรียนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งโง่มากเท่านั้น เพราะทุกอย่างที่นักเรียนบ้านเราทำก็คือต้องคอยท่องจำ ไม่เคยได้คิดอย่างมีเหตุผล และไม่เคยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเลย

อย่างไรก็ตาม สำหรับอรุณ วันเพ็ญ รองครูใหญ่ฯ ซึ่งมีแนวทางที่เข้มงวดต่อนักเรียน มองว่า ในกรณีของระเบียบการแต่งกาย เขามองว่า การแต่งกายตามกฎระเบียนเดิมเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อต่อสู้กับสภาพสังคมแย่ ๆ หรือ"ความชั่วร้ายทางสังคม" ที่กำลังคุกคามนักเรียนในประเทศ เช่น ยาเสพติด,การท้องในวัยเรียน,การตีกันระหว่างนักเรียนนักศึกษา เขากล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะเป็นคนออกนโยบาย แต่โรงเรียนเป็นผู้ปฎิบัติ ซึ่งโรงเรียนก็จะต้องดูว่านโยบายของรัฐบาลเหมาะสมกับโรงเรียนหรือไม่ พร้อมทั้งกล่าวว่า ทหารต้องใช้ปืน ครูต้องใช้ไม้เรียว และบางครั้งเราก็จำเป็นต้องตีนักเรียนบ้าง แต่ตีเฉพาะที่ก้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ด้านนายจิรพัฒน์ หอแสงไชย สมาชิกกลุ่มพันธมิตรปฎิวัติการศึกษาไทย นักเรียนวัย 16 ปี กล่าวว่า ที่ผ่านมา นักเรียนไทยไม่เคยได้ฉลาดด้วยตัวเอง แต่ต้องรับการป้อนข้อมูลให้จากระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ขณะที่กลุ่มนี้ประกอบด้วยเหล่านักศึกษาที่ชอบการโต้แย้ง โดยสมาชิกบางคนได้แฮ็กเจาะเข้าไปยังหน้าเว็บของกระทรวงศึกษาธิการ สารภาพว่า เขาถูกจ้างให้ทำเพื่อทดสอบระบบความมั่นคงของกระทรวงศึกษาธิการ

ขณะที่น.ส.นุชชา พิบูลวัฒนา นร.หญิงวัย 16 ปีของกลุ่ม บอกว่า เธอมีภารกิจสองด้าน ด้านหนึ่งคือการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการศึกษาของไทย และให้นักเรียนหญิง ซึ่งเคยถูกฝึกให้ไม่รู้จักการโต้แย้ง รู้จักความกล้าและท้าทายมากขึ้น เธอกล่าวว่า ทุกวันนี้ เด็กนักเรียนหญิงไทยคิดอยู่แต่ในกรอบ เก่งแต่เฉพาะในตำรา และเธอต้องการให้นักเรียนเหล่านี้ได้ตระหนักว่า โลกภายนอกจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook