พิชญา-พริษฐ์ คู่แฝดลูก "เฮียเพ้ง" กับ "ชีวิตที่เลือกเอง"

พิชญา-พริษฐ์ คู่แฝดลูก "เฮียเพ้ง" กับ "ชีวิตที่เลือกเอง"

พิชญา-พริษฐ์ คู่แฝดลูก "เฮียเพ้ง" กับ "ชีวิตที่เลือกเอง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

2 พี่น้อง "กุ๊ก-พริษฐ์ และ กิ๊ก-พิชญา รักตพงศ์ไพศาล" ลูกแฝดหัวแก้วหัวแหวนของ "เฮียเพ้ง-พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพิ่งจบไฮสกูลจากโรงเรียนนานาชาติ KIS และกำลังจะเดินทางไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ




ทั้งคู่เปิดบ้านหลังใหญ่สุดซอยในหมู่บ้านเกศินีวิลล์ ให้ทีมข่าวประชาชาติธุรกิจเข้าไปสัมภาษณ์ถึงในบ้าน 2 ชั้นของรัฐมนตรี ที่แบ่งอาคารเป็น 2 ฝั่ง มีสระว่ายน้ำตรงกลาง โดยซีกซ้ายเป็นโซนของรัฐมนตรีและภรรยา ส่วนซีกขวาเป็นของบุตรฝาแฝด ติดวิวสนามหญ้าเขียวขจีทอดยาวไปจนสุดรั้ว

พี่น้องฝาแฝด "รักตพงศ์ไพศาล" วัย 18 ปี เข้ามาทักทายทีมข่าวด้วยใบหน้าแช่มชื่นสมวัย หากมองอย่างผิวเผินก็เหมือนกับเด็กหนุ่มสาววัยรุ่นทั่วไป ซึ่งฝ่าย "กุ๊ก" พี่ชาย ค่อนข้างจะขี้เล่น ชอบพูดคุยเป็นนิสัย ส่วนน้องสาว "กิ๊ก" ค่อนข้างประหยัดคำพูดมากกว่า สิ่งที่เหมือนกันคือ อารมณ์ (ดี)

เมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนสอบถามความคิดจากทั้งคู่ ยิ่งทำให้รู้สึกว่า เด็กทั้ง 2 คนไม่ธรรมดา เพราะต่างมีความคิดเป็นผู้ใหญ่ นึกคิดเป็นระบบ คิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน รวมถึงกำหนดเป้าหมายในชีวิตที่ขีดกันเองไว้อย่างแจ่มชัด

เพราะขณะที่บทสัมภาษณ์นี้ตีพิมพ์ "กุ๊ก" ลูกชายเฮียเพ้ง ได้เดินทางไปถึงมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียนต่อด้านรัฐศาสตร์ ตามเส้นทางที่เขาขีดเอง

"ผมชอบอะไรที่เป็นลำดับขั้นตอน อยากเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น และเรียนที่นี่ก็จะมีการโต้วาทีบ่อย ๆ น่าจะเหมาะมาก ผมชอบพูด ชอบคุย ชอบแสดงความคิดเห็น จึงเลือกเรียนด้านนี้ อาจจะเดินตามรอยพ่อเล่นการเมือง แต่ในอนาคตก็ยังไม่แน่ใจ เพราะดูทิศทางการเมืองไทยตอนนี้ก็น่ากลัวพอสมควร" พี่ชายฝาแฝดวิเคราะห์ตามสิ่งที่เห็นและเสริมอีกว่า

"ถ้ามองสังคมไทยทุกวันนี้มีการแบ่งแยก ใครพูดอะไรก็จะโยงไปสีเสื้อ แต่ก่อนประเทศไทยไม่ใช่แบบนี้ ต้องโยงกลับไปที่การศึกษา เด็กไทยถูกสอนให้จำ และเชื่อให้สิ่งที่ครูหรือใครพูดก็จะถูกต้องเสมอ ส่งผลให้สังคมสมัยนี้เชื่อโดยไม่กลั่นกรอง ไม่หาข้อมูลสนับสนุนสุดท้ายก็เป็นเหยื่อ

ผมเลือกเรียนการเมือง รัฐศาสตร์ในต่างประเทศ เพื่อดูแนวคิด ระบบการปกครองของเขา ถ้ามองที่สหรัฐอเมริกา ระบบการเมืองเขาล้ำหน้ากว่าเรามาก ไม่มีใครฝ่าฝืนกฎหมาย แต่คนไทยเราสบาย ๆ ไม่อยู่ใต้กฎเกณฑ์ จึงอยากไปเรียนรู้เพื่อนำแนวคิดเหล่านั้นกลับมาพัฒนาประเทศ ถ้ามีโอกาส"

ส่วนกิ๊ก หญิงสาวผู้มุ่งมั่นในสายวิชาการ ต้องการไปเรียนพื้นฐานด้านสังคมศาสตร์และจิตวิทยา ที่ NYU นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อต่อยอดไปสู่ความรู้ด้านการศึกษา พร้อมกับเหตุผลที่ว่า

"ปริญญาโทจะเรียนต่อด้านการศึกษา แต่อยากได้วิชาพื้นฐานเพื่อเข้าใจสังคม เพราะเรียนด้านการศึกษาต้องทำความรู้กับเด็กเพื่อเรียนรู้สู่การพัฒนาต่อไป และเมื่อกลับมาจะได้ช่วยบริหารโรงเรียนนานาชาติ KIS ด้วย"
แม้ทั้งคู่จะเลือกเรียนประเทศเดียวกัน แต่ก็อยู่กันคนละฝาก ครานี้จึงเป็นครั้งแรกที่ฝาแฝดคู่นี้ต้องห่างกันเกิน 5 วัน (ยกเว้นช่วงที่กุ๊กเข้าค่าย รด.) ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ทั้งคู่เกิดวันเดียวกัน ห่างกันแค่ 1 นาที




พวกเขาเติบโตมาด้วยกัน ตอนเด็ก ๆ แต่งตัวเหมือนกัน ได้ของเล่นเหมือนกัน มีเค้ก (2 ก้อน) วันเกิดเหมือนกัน มีความคิดเห็นคล้ายๆ กัน และใจตรงกัน แต่นิสัยทั้งคู่กลับแตกต่างกันมาก

กุ๊กเริ่มอธิบายก่อนว่า "ถึงกิ๊กจะเป็นน้อง แต่ก็เป็นผู้ใหญ่มากกว่า ไม่ชอบเล่น อย่างเวลาทำงาน เขาไม่ชอบเสียเวลา ต้องทำงานให้เสร็จก่อนถึงจะเล่นได้ แต่ผมขอทำงานนิดหนึ่ง ขอพักขอเล่นก่อน แต่สุดท้ายงานก็เสร็จเหมือนกัน ผมค่อนข้างขี้เล่น ไม่ได้เคร่งเครียดขั้นนั้น"

กิ๊กเสริมว่า พี่ชายเป็นคนร่าเริง ชอบแหย่ ชอบแกล้ง ส่วนตัวเองจะเป็นคนซีเรียส มีหน้าที่เป็นเลขานุการเตือนพี่ชายเรื่องการบ้านตลอด

จนกระทั่งแฝดผู้พี่ยกให้น้องสาวเป็น "แม่" ในบางคราที่เธอทำหน้าที่เหมือนเลขาฯส่วนตัว คอยตักเตือนให้ทำงานส่ง ด้วยเกรงว่าพี่ชายจะทำงานเสร็จไม่ทัน แต่สุดท้ายพ่อหนุ่มขี้เล่นก็ทำคะแนนสอบได้ดีเยี่ยม วัดจากเกรดเฉลี่ย 3.87 แพ้น้องสาวอยู่แค่ 0.2 เท่านั้น

เรียกว่าทั้งคู่ต่างดูแลกันและกัน ในยามที่มีผู้ชายมาจีบน้องสาว พี่ชายก็จะคอยสกัด ทำตัวเป็นเครื่องสแกนให้น้องสาว จึงเป็นเรื่องปกติที่ทั้งคู่จะ "รู้สึกใจหาย" เมื่อต้องอยู่ห่างกัน แต่ฝ่ายพี่ชายยังคงร่าเริง ไม่รู้สึกกังวลเพราะคิดว่าเรียกใช้เลขานุการได้ทุกเวลา

"มีโทรศัพท์ ติดต่อกันได้" พี่ชายว่า

น้องสาวรีบสวนขึ้นมาทันที "ไม่รับ" (ฮา)

การเดินทางของทั้งคู่ นอกจากไปหาความรู้เพิ่มเติมแล้ว สิ่งที่พวกเขาต้องเจอคือ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าทั้งคู่พร้อมที่จะเผชิญชีวิตทุกรูปแบบภายใต้ภูมิคุ้มกันไม่จำกัด จากที่ได้สั่งสมมาตลอดชีวิต แต่ก็อดคิดห่วงไม่ได้

"ตอนนี้มีหลายความรู้สึก หนึ่ง คิดถึงบ้าน คิดถึงน้อง คิดถึงเพื่อน สอง ไปที่นั่นก็เหมือนเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไปสร้างเพื่อนใหม่ อีกอย่างสังคมที่นั่นก็ไม่เหมือนเรา ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ในชีวิต


ภาพฝีมือของแฝดผู้น้อง ที่ กิ๊ก อธิบายความหมายว่า เชือกสองเส้นที่เกี่ยวพันกันไว้ แต่ที่สุดแล้วปลายทางต้องแยกจากกัน

ตอนแรกเราก็จะไปเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกันแต่เราก็รู้สึกว่าการเรียนมหาวิทยาลัยจะเป็นช่วงที่เราจะได้ค้นพบตัวเองเป็นช่วงเวลาที่เราจะโต แต่ถ้าเราไปเรียนที่เดียวกันก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม โอกาสน้อยมากที่เราจะหลุดออกไปจากกรอบของตัวเอง ถ้าแยกกันอยู่

เราจะมีโอกาสได้ทำสิ่งใหม่ ๆ ได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ได้ค้นพบตัวเองด้วย" นี่คือความรู้สึกของฝาแฝดผู้พี่ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูด โดยยอมรับว่าส่วนใหญ่มาจากความคิดพ่อ ที่มาจากความคิดตัวเองแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ (หัวเราะ)

สิ่งที่หล่อหลอมให้เด็กทั้ง 2 มีความคิดความอ่านที่ดี ไม่ออกนอกลู่นอกทาง เกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัว และระบบการศึกษา ที่มีส่วนสำคัญมาก ให้อิสระทางความคิดและการใช้ชีวิตของทั้งคู่ เปิดโอกาสให้รู้จักเลือก รู้จักคิด รู้จักผิดชอบชั่วดีด้วยตนเอง

"พ่อแม่ปล่อยพอสมควร อยากลองทำอะไรก็ลองไป แต่ให้รู้ขอบเขต ทำอย่างมีสติ" กุ๊กอธิบาย

"ให้เราเรียนรู้เอง" กิ๊กเสริม

"เขาสอนให้คิดได้อย่างอิสระ ทำอะไรก็คิดก่อน ว่าสิ่งที่ทำจะมีผลตามมายังไง" กุ๊กขยายความต่อ

"เพราะในที่สุดแล้ว ถ้าเราไปเจออะไรที่ผิดพลาดมา เราก็จะเรียนรู้จากสิ่งนั้นเอง" กิ๊กสรุปเนื้อความ

เมื่อทั้งคู่ประสบปัญหา สิ่งแรกที่พวกเขาทำคือ ปรึกษาหารือกันเองก่อน

"ถ้ามันตื้อจริง ๆ ค่อยปรึกษาพ่อแม่" กุ๊กแฝดผู้พี่เล่าอย่างอารมณ์ดี

จากการเลี้ยงดูที่ไม่มีกรอบและการศึกษาที่ฝึกให้รู้จักคิดวิเคราะห์เองทำให้เด็กทั้ง2คนโดดเด่นขึ้นมาเป็นผู้นำกุ๊กมีตำแหน่งเป็นประธานนักเรียน ส่วนกิ๊กเป็นเฮดออฟเฮาส์ มีหน้าที่ดูแลบ้านต่าง ๆ ในโรงเรียน คล้าย ๆ กับในภาพยนตร์เรื่อง "แฮร์รี่ พอตเตอร์"

"ผมอยากให้เด็ก ๆ มีอะไรตื่นเต้นบ้าง ทุกคนจะได้มารู้จักกัน นอกจากชั้นเรียนของตัวเอง ให้ได้คุยกันบ้าง ทำแบบนี้ขึ้นมาก็มีข้อดี ที่สร้างสปิริต สร้างทีมเวิร์ก สร้างสังคม" กุ๊กในฐานะต้นคิดอธิบาย


ภาพพอร์ตเทรตตัวเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งคู่เกิดมาในครอบครัวที่อบอุ่น ถึงเฮียเพ้งจะทุ่มเทเวลาให้กับหน้าที่การงาน ตั้งแต่การเป็นนักธุรกิจเต็มขั้น กระทั่งเป็นนักการเมืองเต็มตัว แต่สำหรับครอบครัวแล้ว "เวลา" เป็นสิ่งมีค่าที่เฮียเพ้งไม่เคยเพิกเฉยที่จะยกให้ลูก ๆ อย่างเต็มกำลัง ชีวิตวัยเด็กของฝาแฝดคู่นี้จึงได้ใกล้ชิดกับพ่อ มีเวลาดูหนัง เดินช็อปปิ้งด้วยกันตลอด

ทั้งคู่จึงไม่เคยเรียกร้องขอเวลาจากพ่อแม่ แม้ปัจจุบันด้วยหน้าที่เฮียเพ้งจะมีเวลาน้อยลง

"เข้าใจว่าพ่อทำงานเป็นรัฐมนตรี หน้าที่ใหญ่พอสมควร ช่วงนี้ก็หนักเจอเรื่องไฟฟ้าด้วย ไม่ใช่ย่อย (หัวเราะ) และตอนนี้อาจเพราะเราโตขึ้น พ่ออยากให้เรามีเวลากับตัวเอง ดูแลตัวเองบ้าง ไม่จำเป็นต้องดูแลเราตลอดเวลา เราโตแล้ว ดูแลตัวเองได้" กุ๊กอธิบาย กับชีวิตที่เลือกได้ และได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ทำให้ทั้งคู่ค้นหาสิ่งที่ตัวเองรักและชอบเป็นงานอดิเรก เช่น การเล่นดนตรีได้สารพัด เล่นกีฬาเก่ง ฟุตบอลเป็นกีฬาโปรดของกุ๊ก ส่วนกิ๊กชอบขี่ม้ากวาดรางวัลหลายรายการ และอีกหนึ่งความสามารถของแฝดคู่นี้ที่มีเหมือนกัน


ภาพนี้กิ๊กใช้แบบตอนเป็นเด็กแต่ใส่หน้าตัวเองตอนปัจจุบัน สื่อว่าแม้อายุจะมากขึ้น แต่ความเป็นเด็กจะมีอยู่ในตัวตลอด

"การวาดภาพ" กุ๊กถนัดสเกตช์ภาพสื่อความหมาย เช่น ชิ้นมาสเตอร์พีซที่วาดภาพสถานการณ์การเมืองตั้งแต่เรียนไฮสกูล ส่วนกิ๊กถนัดวาดภาพระบายสีสื่อถึงอารมณ์ ทั้งคู่ใช้ห้องซ้อมดนตรีเป็นแกลเลอรี่เพื่อจัดวางภาพศิลปะจากผืนผ้าใบเรียงรายเต็มห้อง

หากดูกิจกรรมส่วนใหญ่ของทั้งคู่ทำที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ทำให้วันแต่ละวันไม่ค่อยได้ใช้เงิน ประกอบกับนิสัยประหยัดถึงขั้น "เหนียว" ตามที่น้องสาวพาดพิงพี่ชาย

เจ้าตัวรีบแจงทันทีว่า "ไม่มีอะไรต้องซื้อ ต้องใช้ เพราะที่บ้านเราก็มีหมดแล้ว" พร้อมกับเล่าที่มาของนาฬิกาข้อมือจากเมืองจีนที่ใช้มากว่า 10 ปี

มุมมองความคิดที่โตเกินวัยของ "ฝาแฝดมหัศจรรย์" คู่นี้ จะยกความดีความชอบไปให้ใครเสียไม่ได้ นอกจาก "เฮียเพ้ง" รัฐมนตรีพลังงานคนปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook