กยศ.งัดไม้แข็งเบี้ยวหนี้"กู้เงินเรียน" ส่งข้อมูลแบล็กลิสต์เข้าเครดิตบูโร

กยศ.งัดไม้แข็งเบี้ยวหนี้"กู้เงินเรียน" ส่งข้อมูลแบล็กลิสต์เข้าเครดิตบูโร

กยศ.งัดไม้แข็งเบี้ยวหนี้"กู้เงินเรียน" ส่งข้อมูลแบล็กลิสต์เข้าเครดิตบูโร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กยศ.แก้ เกมลูกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเบี้ยวหนี้ เล็งส่งเข้า "เครดิตบูโร" หวังสร้างวินัยการชำระเงิน ให้เวลาปรับตัว 5 ปี ประเดิมปรับสัญญาเงินกู้ใหม่ตั้งแต่ปี 2557 พร้อมนำเข้าที่ประชุมบอร์ด กยศ. 25 ก.ค.นี้ เผยปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 4 แสนล้าน ผู้กู้ราว 4 ล้านราย ชี้ 20-30% ไม่ยอมชำระเลย

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากปัญหาของ กยศ.ที่มีเด็กจำนวนมากที่กู้เงินเรียนแล้วไม่มาชำระหนี้ ทาง กยศ.จึงมีแนวคิดที่จะให้ลูกหนี้ กยศ.ที่ค้างชำระหนี้ถูกบันทึกในบัญชีเครดิตบูโรด้วย เพื่อสร้างวินัยในการชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกจะเป็นการสร้างความรับรู้ เพื่อให้ผู้กู้เกิดจิตสำนึกให้มีวินัยการชำระหนี้มากกว่าที่จะไปบังคับอย่างเข้มข้นเหมือนลูกหนี้สถาบันการเงิน

โดยคาดว่าจะเริ่มในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2561 เพื่อรอให้นักศึกษาที่เพิ่งเข้าเรียนในปีการศึกษา 2556 จบการศึกษาก่อน แต่สำหรับลูกหนี้ใหม่ในปีการศึกษา 2557 ทาง กยศ.จะมีการปรับสัญญาเงินกู้ เพื่อให้ทราบว่า หากครบกำหนดชำระแล้วไม่ชำระ จะต้องถูกส่งข้อมูลให้เครดิตบูโร

"เราจะมีเวลาให้ปรับตัว ไม่ได้ใช้ทันที โดยเริ่มแรกต้องสร้างการรับรู้ก่อนว่ามีเด็กไม่ชำระหนี้เป็นจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดที่ว่ารัฐจะให้เงินเรียนฟรี ขณะเดียวกัน กระบวนการติดตามหนี้ของ กยศ.เอง ก็อาจจะไม่ค่อยชัดเจน บวกกับเด็กบางคนฐานะไม่ดี เรียนจบแล้วหางานทำไม่ได้ ก็มีหลายเหตุผล ซึ่งคนที่ไม่เคยชำระเลย สัดส่วนประมาณ 20-30%" นายอารีพงศ์กล่าว

นายอารีพงศ์กล่าวอีกว่า แนวทางนี้จะรวมถึงลูกหนี้ กยศ.เก่าที่ครบกำหนดชำระ แล้วยังไม่ชำระหนี้ในช่วงที่ผ่านมาด้วย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังรวมถึงลูกหนี้กองทุนเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ซึ่งต่อไปทั้ง 2 กองทุนนี้จะต้องยุบรวมกันเหลือเพียงกองทุนเดียว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมาย

ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทางเครดิตบูโรได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมให้ประสานงานไปยัง กยศ.ให้แจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมมายังเครดิตบูโร เพื่อให้บริษัทรับทราบในการดำเนินการตามขั้นตอนของบริษัท โดยบริษัทอยู่ระหว่างการตีความทางกฎหมาย ว่า กยศ.จะสามารถเป็นสมาชิกของเครดิตบูโรได้หรือไม่ คำว่า "สถาบันการเงิน" ของเครดิตบูโร จะรวมไปถึง กยศ.ด้วยหรือไม่

"เราขอให้ กยศ.คิดให้รอบคอบอีกครั้งในเรื่องส่งข้อมูลคนค้างชำระ เพราะเครดิตบูโรไม่ต้องการเป็นผู้ร้าย หรือเป็นเครื่องมือในการลงโทษ แต่ต้องการส่งเสริมวินัย เรื่องนี้สำคัญมาก บอร์ดขอให้ระมัดระวัง การเอื้ออาทร สอนสั่งให้เห็นผิดเห็นชอบสำคัญกว่าการทำโทษ" นายสุรพลกล่าว

ทั้งนี้ หากฝ่ายกฎหมายตีความแล้วว่า กยศ.สามารถเข้าสู่ขบวนการเครดิตบูโรได้ สิ่งที่สำคัญต่อจากนี้ที่ กยศ.ต้องเตรียมพร้อมมี 3 ประการ คือต้องสื่อสารให้ลูกหนี้เกิดความรู้ความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของเครดิตบูโร และที่สำคัญต้องทำให้เกิดการสร้างวินัยทางการเงิน

ถัดมาคือข้อมูลที่จะนำส่งมายังเครดิตบูโรจำเป็นต้องครบถ้วน 100% เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะสามารถเป็นสมาชิกได้นั้น จำเป็นต้องมีการส่งข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน และสุดท้ายคือการพัฒนาด้านระบบไอทีให้มีความทันสมัย ถึงจะสามารถเดินหน้าตามแนวทางดังกล่าวได้

"ในต่างประเทศมีการนำระบบเครดิตบูโรมาใช้กับสถานศึกษากับผู้กู้ได้ เพราะเมืองนอกผู้กู้ต้องผ่านหลักสูตรบริหารเงินส่วนบุคคล มีการรับรองความประพฤติก่อน มีระบบคัดกรองก่อนที่จะให้กู้ยืมเรียน ให้รู้ผิดรู้ชอบ จึงจะอนุมัติให้กู้ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่สามารถยื่นกู้ได้ ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยขาดคือสิ่งเหล่านี้" นายสุรพลกล่าว

โดยในวันที่ 25 ก.ค.นี้ กยศ.จะนำแผนทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กรอ.และ กยศ.ที่มีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในขั้นตอนสุดท้าย ถึงแนวทาง หรือเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อาจต้องมีการบังคับใช้

ในเบื้องต้นจะยังไม่มีการนำส่งข้อมูลของลูกหนี้ กยศ.ทั้งรายใหม่และรายเก่าเข้าสู่ขบวนการของเครดิตบูโรจนกว่าจะครบเวลา 5 ปี นับจากที่เริ่มดำเนินการ 31 ส.ค.นี้ โดยวันที่จะครบกำหนดและเริ่มส่งข้อมูลบัญชีเข้าเครดิตบูโรคือ ก.ย. 2561 เป็นต้นไป

ขณะที่นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่กำกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยถึงแนวคิดดังกล่าวว่า เพื่อแก้ไขภาระหนี้ของ กยศ.หลังลูกหนี้ไม่มาชำระหนี้ตามกำหนด ตามเกณฑ์ของกองทุน ทำให้กองทุนมีเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอในการรองรับนักเรียน นักศึกษาใหม่ในแต่ละปี

โดยเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ กยศ.พบว่ามียอดที่ครบชำระในปีนี้ที่ 5 หมื่นล้านบาท แต่มีลูกหนี้เข้ามาชำระหนี้เพียง 25,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราเบี้ยวชำระหนี้ถึง 50% และจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่านักศึกษาที่กู้ยืมเงินมีความสามารถในการผ่อนชำระ แต่ไม่ยอมมาใช้หนี้ถึง 70% อีก 30% ไม่มีงานทำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของ กยศ.พบว่านับตั้งแต่ปี 2539 ที่เริ่มโครงการจนถึงปีงบประมาณ 2556 กยศ.ได้จัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 3.78 แสนล้านบาท ขณะที่ กรอ.ได้รับจัดสรรกว่า 2.25 หมื่นล้านบาท รวม 2 กองทุนได้รับจัดสรรงบประมาณไปแล้วราว 4 แสนล้านบาท จำนวนผู้กู้รวมกว่า 4 ล้านราย

สำหรับในปีงบประมาณ 2557 ทั้ง 2 กองทุนของบประมาณไปกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท กยศ. 3.5 หมื่นล้านบาท และ กรอ.ประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่ในส่วนของ กยศ.ถูกตัดไป 5,752 ล้านบาท ทำให้ยอดรวมทั้ง 2 กองทุนเหลือประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ กยศ.ปรับลดเป้าหมายการให้กู้ยืมลงจาก 865,200 ราย เหลือ 670,620 ราย

ขณะที่การชำระหนี้งวดปี 2556 ซึ่งมีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ทั้งสิ้น 2.6 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ที่ครบกำหนดประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้ไม่มาชำระหนี้กว่า 5.24 แสนราย คิดเป็น 20% ชำระต่ำกว่าเกณฑ์สูงถึง 1.13 ล้านราย คิดเป็น 44% ขณะที่ชำระตามเกณฑ์มี 4.52 แสนราย คิดเป็น 17% ส่วนผู้ที่ชำระสูงกว่าเกณฑ์มีราว 4.7 แสนราย คิดเป็น 18% และลูกหนี้ที่เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 2.5 หมื่นราย คิดเป็น 1%

ในการติดตามหนี้ช่วงที่ผ่านมา กยศ.จะมีหนังสือแจ้งภาระหนี้เมื่อครบกำหนดชำระครั้งแรก จากนั้นหากมีการค้างชำระจะดำเนินการ ดังนี้ 1.กรณีค้างชำระไม่เกิน 1 ปี จะมีหนังสือแจ้งผู้ค้างชำระ 4 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 3 เดือน 2.ค้างชำระตั้งแต่ 2-4 ปี จะแจ้งผู้ค้างชำระปีละครั้ง พร้อมแจ้งผู้ค้ำประกัน 3.ค้างชำระ 4 ปี ขึ้นไป แจ้งให้ชำระหนี้ และเชิญเข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ย 4.บอกเลิกสัญญา และ 5.ดำเนินคดี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เคยวิเคราะห์ว่า กยศ.ถือเป็นกองทุนนอกงบประมาณกองทุนหนึ่งที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลัง เป็นกองทุนที่การดำเนินการขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล หากการดำเนินงานกองทุนมีผลขาดทุน รัฐบาลก็ต้องชดเชยเงินอุดหนุนให้แก่กองทุน ดังนั้น ความเสี่ยงของกองทุนจึงขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลเป็นสำคัญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook