เรื่องของ"ชาย กับ ชาย" และวรรณกรรม"วาย"กับสังคมไทย

เรื่องของ"ชาย กับ ชาย" และวรรณกรรม"วาย"กับสังคมไทย

เรื่องของ"ชาย กับ ชาย" และวรรณกรรม"วาย"กับสังคมไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"คู่จิ้น" เป็นศัพท์วัยรุ่นสุดฮิตที่เชื่อว่าคงเคยได้ยินกันมาบ้าง ยิ่งในโลกโซเชียลมีเดียที่มีกระแสการจับคู่จิ้นดาราคนนั้นคนนี้ ก็มีมาให้เห็นไม่ขาด

เปรียบเทียบกับสมัยก่อนก็คงจะคล้าย "ดาราคู่ขวัญ" ที่มาเจอกันเมื่อไหร่แฟนคลับเป็นต้องกรี๊ดเมื่อนั้น

ผิดกับที่สมัยนี้คู่จิ้นไม่จำกัดแค่ "หญิง" กับ "ชาย" เท่านั้น แต่ยังมีคู่จิ้นระหว่าง "หญิง" กับ "หญิง" และ "ชาย" กับ "ชาย" โดยเฉพาะอย่างหลังที่ดูเหมือนจะมีมากที่สุดในมหกรรมคู่จิ้นทั้งหมด

จนทำให้บรรดาสาวๆ ที่เห็นดาราหนุ่มๆ ไม่ว่าจะนักร้อง นักแสดง ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกัน จับคู่ให้เป็นคู่จิ้น ซึ่งเราจะเรียกสาวๆ กลุ่มนี้ว่า "สาววาย" และด้วยความที่ "สาววาย" มีมากมายเหลือเกิน ทำให้ "ชมรมวรรณศิลป์" จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนคุยในประเด็น "วายทำไม : สังคมไทย วรรณกรรม และการมาของสาววาย"

เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของความเป็น "วาย" ในแง่มุมต่างๆ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ สังคม วรรณกรรม และวัฒนธรรมร่วมสมัย หาเหตุผลของการเกิดคู่จิ้นชายรักชาย และการมาของสาววายผู้มีความสุขกับการจินตนาการถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของลูกผู้ชาย

ชานันท์ ยอดหงษ์ นักวิชาการสตรีศึกษา เจ้าของผลงาน "นายใน สมัยรัชกาลที่ 6" บอกว่า ถ้าพูดถึงวรรณกรรมวาย หรือวรรณกรรมชายรักชายในสังคม ถ้าเป็นเชิงประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีอยู่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์เสียอีก ในโลกตะวันตก สังคมกรีก-โรมันจะคุ้นเคยกับความสัมพันธ์ระหว่างชายรักชาย เห็นได้จากงานศิลปะและวรรณกรรมต่างๆ ด้วยความที่สังคมเชื่อว่าความเป็นชายคือความยิ่งใหญ่ แสดงถึงความมีอำนาจ ขณะที่เขาเชื่อว่าเพศหญิง คือเป็นเพศที่อ่อนแอ เป็นเพศที่ต่ำกว่าผู้ชาย มีคุณค่าเท่ากับสุนัขและผ้าในยุคกรีก ผู้หญิงจึงต้องถูกเก็บไว้ในบ้านเหมือนผ้า ยุคโรมันมีความเชื่อเช่นนั้น

"ผู้ชายยุคนั้นจะมีพื้นที่ของผู้ชาย จะอยู่ในโคลอสเซียม ออกกำลังกาย เพาะกล้ามเนื้อด้วยกัน นำไปสู่การสัมผัสเนื้อตัวกัน ไม่แปลกที่วรรณกรรมกรีก โรมัน หรือนิยายปกรณัม เทพนิยายของเทพเจ้า ก็มีพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย เช่น เรื่องราวของเทพซูส (Zeus) กับเด็กหนุ่มนาม แกนีมีด (Ganymede) เจ้าชายแห่งทรอย"

นักวิชาการสตรีศึกษาบอกว่า ฝั่งตะวันออกอย่างประเทศจีน สมัยราชวงศ์โจวหรือราชวงศ์ฮั่น มีวรรณกรรมที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายเช่นกัน ซึ่งความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานของความจงรักภักดีนำไปสู่ความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นผู้ปกครอง กับผู้ใต้ปกครอง ความสัมพันธ์ในชนชั้นปราชญ์ หรือระหว่างศิษย์ อาจารย์ รวมถึงเรื่องราวของชายที่มีอายุมากกว่ากับเด็กหนุ่มอายุน้อยกว่า เป็นต้น

ในประเทศไทยก็มีการแฝงวรรณกรรมเกี่ยวกับชายรักชายอยู่เช่นกัน โดยมากจะแฝงอยู่ในนิราศ และบทกลอนต่างๆ โดยซ่อนอยู่ในบรรทัดของวรรณกรรม ซึ่งถ้าอ่านระหว่างบรรทัดก็จะเห็นความรักความผูกพันระหว่างเพื่อนชายผ่านตัวอักษรที่เขียนจดหมายถึงกัน เป็นต้น

ด้าน ภูมิ น้ำวล นักวิชาการและบรรณาธิการอิสระ อดีตประธานชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ บอกว่า เดิมความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายเป็นเรื่องที่เกิดทุกยุคทุกสมัย แต่ถูกตีความว่าเป็นเรื่องผิดปกติในยุคสมัยใหม่ ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มมีการแบ่งเพศสถานะชัดเจน ทั้งทางกายภาพและทางโครโมโซม แต่การกดดันและบังคับให้อยู่ในกรอบนี้ไม่สามารถคงไว้ได้ตลอดไป

ภูมิบอกอีกว่า ในส่วนของวรรณกรรมวาย เริ่มมาจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบร่วมสมัยที่เรียกว่า มังงะ (การ์ตูนญี่ปุ่น) ซึ่งผู้บุกเบิกการ์ตูนประเภทนี้คือ เทะซึกะ โอะซะมุ นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นผู้เขียนเรื่องแรกที่มีการพูดถึงความสัมพันธ์ที่ข้ามเพศ หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็จะเริ่มสังเกตเห็นความหลากหลายทางเพศในวัฒนธรรมญี่ปุ่นต่อมาเรื่อยๆ ต่อมาในยุคของโชมังงะ หรือการ์ตูนผู้หญิงเฟื่องฟูจะเริ่มมีเรื่องราวความสัมพันธ์ของตัวละครชายกับชายที่มีความรักกัน แต่ยังเป็นตัวละครธรรมดา

และมีนิตยสารสำหรับกลุ่มรักร่วมเพศออกมา ในนั้นจะมีบทความ การ์ตูน ซึ่งนิตยสารนี้กลับมีกลุ่มผู้อ่านที่เป็นผู้หญิงจำนวนมาก จนมีการ์ตูนที่เป็นแบบชายรักชายเป็นตัวเอกออกมา โดยนักเขียนหญิง หรือที่เรียกว่า "การ์ตูนวาย" หรือที่เรียกว่า ยาโอย (Yaoi, Yaoai) ซึ่งการมาของสาววายก็เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย

ทัศนธร ภูมิยุทธ์ อดีตกรรมการชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ ในฐานะตัวแทนสาววาย กล่าวว่า สาววายมีหลายแบบ ซึ่งคำจำกัดความแบบกว้างคือ ผู้หญิงที่ชอบอ่านและดูผู้ชายรักกัน ซึ่งสาววายแต่ละคนก็จะมีพฤติกรรมที่ต่างกัน ส่วนตัวตอนเด็กไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้ชายก็รักกันได้ เริ่มรู้จักความสัมพันธ์แบบมิตรภาพของผู้ชายที่แสนจะลึกซึ้ง จากการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น จากอ่านโดจิน สาววายในยุคแรกจะมีพื้นที่จำกัด จะเสพงานจากการ์ตูนทางเดียว การพูดคุยจะอยู่ในวงจำกัด ความชอบจะอยู่ที่จินตนาการลายเส้น ชอบผู้ชายที่เป็นภาพวาด

"ยุคหลังเริ่มมีการเกิดพฤติกรรมสาววายที่จินตนาการถึงผู้ชายจริงๆ เป็นการขยายฐานความชอบหลังจากการอ่านการ์ตูน โดยสาววายจะจินตนาการต่อยอดว่าทำแบบนี้สิเหมือนในการ์ตูนที่อ่าน และยิ่งยุคหลังนี้มีอินเตอร์เน็ตเข้ามายิ่งทำให้จำนวนสาววายและการจิ้น ที่มาจากการจินตนาการเพิ่มมากขึ้น"

จนหลายครั้งอาจจะพบปัญหาของพฤติกรรมของบางคน เมื่อสิ่งที่อยู่ในจินตนาการหลุดมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง จนทำให้ผู้ชายที่พวกเธอจินตนาการจับคู่ให้นั้นเสียหาย

สุดท้ายทัศนคติ ความชอบ เป็นเรื่องรสนิยมของแต่ละบุคคล

โดย อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล

ที่มา นสพ.มติชน
ภาพ อินเทอร์เน็ต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook