เปิดผลวิจัย อุดมศึกษาไทย-ญี่ปุ่น เน้นเรียนรู้เชิงปฏิบัติ-ต่อยอดการทำงาน

เปิดผลวิจัย อุดมศึกษาไทย-ญี่ปุ่น เน้นเรียนรู้เชิงปฏิบัติ-ต่อยอดการทำงาน

เปิดผลวิจัย อุดมศึกษาไทย-ญี่ปุ่น เน้นเรียนรู้เชิงปฏิบัติ-ต่อยอดการทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นผู้แพ้สงครามและบอบช้ำจากการสู้รบอย่างหนัก หลังจากนั้นญี่ปุ่นได้เร่งปฏิรูปและพัฒนาตัวเองจนสามารถกลับมาเป็นมหาอำนาจของโลกได้อีกครั้ง โดยปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จมีหลายด้าน แต่ปัจจัยหนึ่งที่ถือได้ว่ามีความสำคัญคือ การวางรากฐานการศึกษาที่ดี ซึ่งปรากฏผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากการจัดอันดับทางการศึกษา จะพบว่าประเทศญี่ปุ่นติดอันดับท็อปมาโดยตลอด

มองลึกลงไปถึงความเข้มแข็งทางการศึกษาของญี่ปุ่น อาจมาจากระบบการเรียนการสอน ซึ่งปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทยได้ทำวิจัยเรื่อง "เปรียบเทียบวิธีการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยไทยและมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น" ในสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

"รศ.ดร.เรืองศักดิ์ แก้วธรรมชัย" คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงสร้างระบบการศึกษาของไทยกับญี่ปุ่น มีโครงสร้างของระดับการเรียน

การสอนเหมือนกัน โดยคณะทำงานได้ทำการวิจัยใน 5 ประเด็นพบว่า ลักษณะการจัดการเรียนการสอนของญี่ปุ่นจะมีจำนวนรายวิชาที่เน้นการสัมมนาหรือเชิงปฏิบัติการมากกว่าไทย โดยเฉลี่ยแล้วมีรายวิชาด้านนี้ประมาณ 33% และมีทุกเทอม ส่วนของไทยมีประมาณ 10% และมีในบางเทอม

"นักศึกษาญี่ปุ่นจะได้ฝึกการคิดและวิเคราะห์มากกว่า แต่ของไทยจะเน้นความจำ ซึ่งทำให้เมื่อเรียนจบแล้ว บัณฑิตญี่ปุ่นรู้จักการต่อยอดและสามารถทำงานได้ทันที ขณะที่บัณฑิตไทยอาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว ผมมองว่าไทยน่าจะเพิ่มรายวิชาที่เน้นการคิดวิเคราะห์ หรือฝึกปฏิบัติมากขึ้น ไปอยู่ที่ 30%"

ต่อมาคือประเด็นระบบอาจารย์ที่ปรึกษา มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นจะมีอาจารย์ที่ปรึกษา 2 ระดับ คือ อาจารย์ที่ปรึกษาทางวิชาการในปี 1 จากนั้นปี 2 เป็นต้นไปจะมีอาจารย์รายวิชาสัมมนา และโดยเฉลี่ยนักศึกษาสายสังคมศาสตร์จะพบอาจารย์ที่ปรึกษา 1 ครั้ง/สัปดาห์ และพบ 5 ครั้ง/สัปดาห์ สำหรับนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์

กล่าวได้ว่า อาจารย์ที่ปรึกษาของญี่ปุ่นจะให้คำปรึกษาได้ใกล้ชิดมากกว่า ขณะที่ไทยใช้ระบบอาจารย์ที่ปรึกษาด้านวิชาการตลอด 4 ปี โดยเฉลี่ยพบกันเทอมละครั้ง และมีอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ตอนปี 4 ที่จะเจอโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง

นอกจากนี้ ยังพบว่าระบบการปฏิบัติงานของอาจารย์สายสังคมศาสตร์ของญี่ปุ่นไม่ต่างจากไทยมากนัก คือ ส่วนใหญ่แล้วอาจารย์จะเจอนักศึกษาในรายวิชาสัมมนา กลับกันกับสายวิทยาศาสตร์ที่อาจารย์และนักศึกษาจะมีห้องพักติดกัน ทำให้นักศึกษาญี่ปุ่นผูกพันกับอาจารย์ค่อนข้างสูง ต่างจากไทยที่โซนห้องพักของอาจารย์จะแยกจากนักศึกษาอย่างชัดเจน

"รศ.ดร.เรืองศักดิ์" บอกอีกว่า ความแตกต่างของการศึกษาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นคือ เรื่องเงินเดือน โดยเงินเดือนเริ่มต้นของอาจารย์คุณวุฒิปริญญาเอกที่จบใหม่ของมหาวิทยาลัยเอกชนญี่ปุ่นอยู่ที่ 1-1.5 แสนบาท ขณะที่ของมหาวิทยาลัยเอกชนไทยอยู่ที่ 3-4 หมื่นบาท ยิ่งกว่านั้น ยังมีระเบียบในการปฏิบัติงานที่อาจารย์ญี่ปุ่นไม่สามารถทำงาน Part Time ได้ แต่ของไทยสามารถทำได้ นั่นทำให้อาจารย์ญี่ปุ่นปฏิบัติงานสม่ำเสมอ และไม่จำเป็นต้องทำงานเพิ่มเติมเนื่องจากมีรายได้เพียงพอ

สำหรับเรื่องของการสนับสนุนทางการเงิน รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้งบประมาณทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน และภาคเอกชนจะสนับสนุนเงินวิจัยให้กับมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นสามารถพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพดีได้ง่าย เพราะมีการเรียนรู้จากโจทย์จริงและห้องปฏิบัติการจริง รวมถึงมีงบฯที่จะสามารถซื้ออุปกรณ์ได้มากกว่า ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนของไทยจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และภาคเอกชนอาจสนับสนุนงบฯวิจัยให้มหาวิทยาลัยอยู่บ้าง

"ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีงบฯวิจัยสูงมาก อย่างซัมซุงของประเทศเกาหลี เขาจะหว่านเงินไปยังมหาวิทยาลัย แล้วให้อาจารย์ที่เก่ง ๆ คิดนวัตกรรมเพื่อเอาไปต่อยอด ส่วนของไทยงบฯวิจัยมีไม่ถึง 1% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) อาจเป็นเพราะบริษัทไทยกำลังอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตไปสู่การเป็นผู้ผลิต การให้งบฯวิจัยกับมหาวิทยาลัยจึงไม่มากเท่าประเทศที่เป็นผู้ผลิต แต่บริษัทที่อยากมีนวัตกรรมของตัวเองจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก เพราะจะส่งผลต่อการเป็นผู้นำทางธุรกิจในอนาคต"

ประเด็นสุดท้ายคือ การมุ่งเน้นความเป็นเฉพาะทาง โดยมหาวิทยาลัยไทยจะพยายามทำตัวให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือทำให้มีวิชาที่หลากหลาย จึงสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ แต่มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นจะเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือการมีชื่อเสียงทางใดทางหนึ่ง ดังนั้น ไทยน่าจะสร้างมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเฉพาะทางมากขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยวิชาชีพ หรือมหาวิทยาลัยแห่งองค์กรภาคธุรกิจ

"ญี่ปุ่นมีจุดแข็งด้านการเรียนการสอนที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 1-4 ทำให้นักศึกษารู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร และเขาจะไม่เน้นการสอนแบบ What เพราะเป็นเพียงแค่เรื่องความจำ แต่จะเน้น Why และ How to มากกว่า

อย่างไรก็ดี จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไทยชี้ว่า นักศึกษาส่วนใหญ่อ่อนด้อยด้านภาษา ซึ่งญี่ปุ่นก็มีจุดอ่อนด้านนี้เหมือนกัน แต่ผู้บริหารสถานศึกษาของญี่ปุ่นมองว่า ต้องการให้นักศึกษาพูดได้ก็พอ ที่เขาเน้นคือภาษาวัฒนธรรม คือ นักศึกษาควรรู้พื้นฐานทางวัฒนธรรมของชาตินั้น ๆ ซึ่งจะเป็นหัวข้อในการคุยต่อยอดได้ เรียกได้ว่าถ้าเข้าใจวัฒนธรรมแล้วก็สามารถคุยเรื่องธุรกิจต่อได้เลย"

ทั้งนี้ "รศ.ดร.เรืองศักดิ์" ยอมรับว่า การปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาต้องปรับตั้งแต่ระดับอนุบาลเป็นต้นมา กระนั้น หากมหาวิทยาลัยไทยนำจุดแข็งด้านวิธีการเรียนการสอนของญี่ปุ่นมาปรับใช้ ก็จะช่วยเสริมศักยภาพให้นักศึกษามีความโดดเด่น และจบไปเป็นบัณฑิตซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานได้อีกทางหนึ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook