เรียน "ภาษาพม่า" ทลายกำแพงความไม่เข้าใจ

เรียน "ภาษาพม่า" ทลายกำแพงความไม่เข้าใจ

เรียน "ภาษาพม่า" ทลายกำแพงความไม่เข้าใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เหนือสุดแดนสยาม" หากเอ่ยประโยคนี้ ทุกคนคงนึกถึงจังหวัดเชียงรายที่ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศไทย

ด้วยพื้นที่ราว 11,680 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดทั้ง สปป.ลาวและพม่า เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรฐกิจอาเซียนหรือที่พูดกันติดปากว่าเออีซี เชียงรายจึงเป็นหนึ่งในจังหวัดยุทธศาสตร์สำคัญ ด้วยมีความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ มีถนนหนทางเชื่อมโยงทั้ง สปป.ลาวที่อยู่ทางตะวันออก พม่าทางทิศตะวันตก และจีนทางตอนเหนือ เชื่อมโยงทั้งการค้าและวัฒนธรรม

จากหลายปัจจัย เชียงรายจึงมีความพร้อมที่จะพัฒนาและปรับตัวเพื่อเข้าสู่เวทีประชาคมอาเซียนได้อย่างเต็มภาคภูมิ จึงมีการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ รู้เรา รู้เขา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มีการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนให้รู้จักตนเอง เสริมสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านให้แน่นแฟ้นด้านการค้าขาย และด้านภาษาที่เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารและค้าขาย

โดยเฉพาะ ภาษาจีนและพม่า

จากแนวคิด "บ ว ร" โมเดล การจัดการชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่เออีซี โดย พระธรรมภาวนาวิกรม (เจ้าคุณธงชัย) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ประธานมูลนิธิร่มฉัตร จึงจับมือกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และ จังหวัดเชียงราย เปิด ศูนย์ศึกษาอาเซียนภาคเหนือ ที่โรงเรียนบ้านแม่จัน (เชียงแสนประชานุสาสน์) อ.แม่จัน จ.เชียงราย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ภาษาพม่าให้เยาวชนและหน่วยงานที่สนใจ

หลังจากเปิดหลักสูตรแรก ได้รับความสนใจจากเยาวชนและหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่จัน จ.เชียงราย เข้าคอร์สเรียนมาถึง 30 นาย

พ.ต.อ.วีระวุธ ชัยชนะมงคล ผู้กำกับการ สภ.แม่จัน อธิบายสาเหตุที่ส่งเจ้าหน้าที่อบรมภาษาพม่า ว่า เนื่องจากด่านตรวจ สภ.แม่จันต้องพบกับชาวพม่าที่เดินทางเข้าออกประเทศเป็นจำนวนมาก เป็นจุดศูนย์กลางที่จะเดินทางไปยัง อ.เชียงแสน อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.เชียงของ จึงต้องเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมด้านภาษา สามารถสื่อสารกับชาวพม่าได้เข้าใจ เกิดความร่วมมือ ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ในการให้บริการด้านความปลอดภัย การจราจร และการป้องกันยาเสพติด ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจใน สภ.แม่จันได้อบรมภาษาอังกฤษ การเรียนภาษาพม่าเพิ่มเติม จึงเป็นการทำให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ในการปฏิบัติงาน

"ต้องยอมรับว่าเขารู้เรา แต่เราไม่รู้เขา เพราะชาวพม่าฟังภาษาเราได้แต่เราไม่เข้าใจภาษาพวกเขา การเรียนรู้ภาษามากขึ้นจึงเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อสารกันเข้าใจ ลดการปะทะและความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้น ทั้งยังสร้างความประทับใจแก่พวกเขาให้มาท่องเที่ยวหรือค้าขาย รวมถึงรู้เท่าทันหากเป็นผู้กระทำความผิด เพราะมีหลายครั้งที่ผู้กระทำผิดสื่อสารกันด้วยภาษาพม่าเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ไทยเข้าใจ" พ.ต.อ.วีระวุธ กล่าว

การรู้ภาษาพม่า จึงจำเป็นและสร้างความต่างในด้านดีแก่เจ้าหน้าที่ได้

ในส่วนของผู้ร่วมอบรมอย่าง พ.ต.ท.วิเชียร วรรณสุข รองผู้กำกับการ สภ.แม่จัน เล่าว่าตอนที่ยังไม่ได้เรียนภาษาพม่า เคยสอบสวนผู้ต้องหาชาวพม่าเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษแต่ผู้ต้องหาทำบ่ายเบี่ยง แกล้งไม่เข้าใจ บอกว่าไม่รู้บ้าง ไม่ทราบบ้าง ส่ายหัวอย่างเดียว เพราะไม่มั่นใจว่าตำรวจไทยให้ความยุติธรรมได้มากน้อยแค่ไหน ในทางกลับกัน หากมีล่ามภาษาพม่าไม่ว่าจะเป็นชาวอะไร ผู้กระทำผิดชาวพม่าจะตอบคำถามทั้งหมด

"ตอบทุกอย่าง บางครั้งสารภาพเลยก็มี บอกว่าทำอะไรมาบ้าง เราจะได้ข้อมูลส่วนนี้มาขยายผลการสืบสวนต่อไปได้ บางครั้งยังถามผ่านล่ามว่าต้องฝากขังกี่วันประกันตัวได้ไหม เมื่อมีการสื่อสารที่ถูกต้อง การบังคับใช้กฎหมายไทยจึงมีประสิทธิผลได้"

"ดังนั้น การเข้าอบรมภาษาพม่าจึงมีผลต่อการทำงานอย่างมาก ทำให้เราสามารถพูดคุยกับเขา สืบทราบความจริง และทำงานได้อย่างยุติธรรมที่สุด" พ.ต.ท.วิเชียรกล่าว

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้เรียนภาษาพม่าและนำไปใช้จริงอย่าง ดาบตำรวจเกรียงไกร ลือชัย ผบ.หมู่ฯ.สภ.แม่จัน เล่าว่าตอนตั้งด่าน บางครั้งพบผู้ขับขี่ผิดกฎจราจรเป็นชาวพม่า จึงเรียกให้หยุดพร้อมทักทายว่า "มิงกะลาบา" (สวัสดี) และขอตรวจใบขับขี่เป็นภาษาพม่า เขายิ้มตอบกลับจึงเกิดความผ่อนคลายในการทำงาน ไม่ทำหน้าถมึงทึงใส่กัน ดีใจที่ได้ร่วมอบรมเพราะระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต้องพบกับชาวพม่าทุกวัน ทำให้สามารถนำสิ่งที่เรียนไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ที่เห็นได้ชัดคือเขาเป็นกันเองกับเรา ให้ความร่วมมือมากขึ้น

"บางคนเป็นกันเองมาก จนถึงขั้นต่อรองค่าปรับ ขอลดค่าปรับจาก 300 เป็น 200 บาทก็มี" ดาบตำรวจเกรียงไกร ทิ้งท้ายด้วยเสียงหัวเราะ

ในส่วนของหลักสูตรภาษาพม่า สว่าง มโนใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่จัน มาไขข้อข้องใจว่าเป็นอย่างไร เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดี

สว่าง มโนใจ มีอีกบทบาทเป็นผู้ดูแลศูนย์ศึกษาอาเซียน เล่าว่า หลักสูตรอบรมภาษาพม่าแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เป็นระดับเยาวชน และผู้ประกอบการ โดยในระดับผู้ประกอบการจะรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในอนาคตต้องนำภาษาพม่าที่เรียนไปใช้ในหน่วยงานเพื่อติดต่อสื่อสารกับชาวพม่า โดยเฉพาะหากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ภาษานับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยหลักสูตรที่ตำรวจทั้ง 30 นายเรียนเป็นหลักสูตรเร่งรัดที่จะมีเรียนเพียง 3 วัน แต่จะเป็นการเรียนกับเจ้าของภาษาชาวพม่า ซึ่งจบจากมหาวิทยาลัยในย่างกุ้ง ด้านเอกภาษาไทย

"แม้จะเป็นหลักสูตรระยะสั้น แต่สอนเฉพาะศัพท์ที่เจ้าหน้าที่สามารถใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การขอตรวจบัตรประชาชน ตรวจใบขับขี่ ชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ เป็นต้น หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่จะฝึกฝน ต่อยอดความรู้จากแบบฝึกหัดที่ให้ไว้ และนำไปใช้ในการปฏิบัติงานอย่างไร เพราะภาษาต้องกล้าใช้และใช้เป็นประจำ จึงสามารถพัฒนา จดจำ และนำไปใช้ได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต" ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่จัน กล่าว

เสียงสะท้อนของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนาย ตอบตรงกันว่าต้องการให้มีการเปิดหลักสูตรภาษาพม่ารุ่น 2 รวมทั้งอยากให้มีหลักสูตรต่อเนื่อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถพัฒนาตัวเองจนสามารถสื่อสารภาษาพม่าได้อย่างคล่องแคล่ว ทำงานในพื้นที่เชียงรายได้เต็มที่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือพม่าดังคำกล่าวของ พ.ต.ท.วิเชียร ที่ว่า "แต่ก่อนเราต้องทำงานบริการประชาชนโดยยึดถือชาวไทยเป็นสำคัญ แต่ในอนาคต จำเป็นต้องปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงให้ก้าวทันโลก บริการประชาชนไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ต้องบริการให้ประทับใจชาวอาเซียนทุกคน"

หากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ เชื่อเหลือเกินว่าอนาคตอันใกล้นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงคงสื่อสารภาษาพม่าได้คล่องแน่นอน

เพราะภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้

โดย สรวิศ รุ่งเลิศมณีพงศ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook