งานสัปดาห์หนังสือภาคใต้ครั้งที่ 1.... เปิดประตูความรู้สู่ด้ามขวาน

งานสัปดาห์หนังสือภาคใต้ครั้งที่ 1.... เปิดประตูความรู้สู่ด้ามขวาน

งานสัปดาห์หนังสือภาคใต้ครั้งที่ 1.... เปิดประตูความรู้สู่ด้ามขวาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นครั้งแรกที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ขนทัพขบวนหนังสือกว่า 120 สำนักพิมพ์ไปบุกดินแดนปลายด้ามขวาน หลังจากที่ตระเวนพบกับหนอนนักอ่านทั่วประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว


จริงๆแล้วสมาคมฯมีแผนที่จะจัดงานสัปดาห์หนังสือภาคใต้ ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลามาหลายปีแล้ว โดยเป็นโครงการที่วางไว้ในคณะกรรมการสมาคมหลายๆสมัย แต่เพิ่งจะสำเร็จในยุคของจรัญ หอมเทียนทอง เป็นนายกสมาคมฯป้ายแดง และได้ปัณณธร ไชยบุญเรือง กรรมการสมาคมฯที่เชี่ยวชาญงานหนังสือต่างจังหวัดมาเป็นแม่งานบุกเบิกอีกครั้ง ด้วยความร่วมมือจากหลายๆหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.), องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา, เทศบาลนครหาดใหญ่, ชมรมร้านหนังสือภาคใต้ และสำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ภายใต้แนวคิด "อ่านเพื่อรู้ มุ่งสู่สังคมอาเซียน"


ปัณณธรเล่าว่า การจัดงานหนังสือในส่วนภูมิภาคเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของสมาคมฯที่เห็นว่า หากจะให้คนไทยหันมาสนใจและร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการอ่านจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรณรงค์ไปยังภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

"จากการได้จัดงานสัปดาห์หนังสือภาคอีสาน ที่ม.ขอนแก่นที่ผ่านมา ซึ่งจัดเป็นจังหวัดที่ 3นับจากการจัดครั้งแรกที่ชลบุรี,อุบลราชธานี นับว่าได้ผลในเชิงการกระตุ้นความตื่นตัวของนักอ่านในท้องถิ่นได้พอสมควร ถ้ามีการจัดงานอย่างต่อเนื่องและสามารถดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในท้องถิ่นให้หันมาใส่ใจและเห็นความสำคัญของการอ่าน คนไทยน่าจะหันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลถึงการพัฒนาบุคลากรของประเทศด้วย ทางสสปน.ก็สนับสนุนในการจัดอบรมสัมมนาต่างๆ ควบคู่ไปกับการจัดงานด้วย"


ปัณณธรอธิบายด้วยว่า เพราะปีนี้เป็นครั้งแรกที่มาจัดในภาคใต้ ซึ่งพี่น้องส่วนใหญ่ในภาคใต้ตอนล่างนับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้นจึงได้กำหนดแนวคิดเพิ่มเติมอีกหัวข้อหนึ่งคือ "เปิดโลกมุสลิมและโลกมลายูสู่การเรียนรู้" เพื่อให้พี่น้องมุสลิมได้มีโอกาสเข้าถึงหนังสือหลากแนวมากขึ้น ซึ่งความรู้ต่างๆน่าจะช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างกันได้มากขึ้นด้วย


"นอกจากคาราวานหนังสือพร้อมส่วนลดกว่า 20-70% และบุฟเฟต์หนังสือ ช็อปเต็มถุงจ่ายเพียง 99 บาทจากสำนักพิมพ์ชั้นนำ120 สำนักพิมพ์ กว่า 250 บูธแล้ว ในส่วนของนิทรรศการ การอบรมสัมมนา การแข่งขันทางวิชาการ และการจัดเสวนานักเขียน เรายังได้จัดเต็มใกล้เคียงกับงานใหญ่ของทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯที่จัดในส่วนกลางอีกด้วย เช่น นิทรรศการ Jewels of Aseanนิทรรศการเปิดโลกมุสลิมและโลกมลายูสู่การเรียนรู้ ด้วยหนังสือที่ช่วยเปิดโลกกว่า 100 เล่มที่รวบรวมมาทั้งภาษาไทยและภาษายาวี ในส่วนของนักเขียนชื่อดังก็มาร่วมพูดคุยเยอะมาก อาทิ คุณบัณฑิต อึ้งรังสี คุณริว จิตสัมผัส ด็อกเตอร์ป๊อบ และนักเขียนซีไรต์เชื้อสายชาวใต้ อย่างคุณจเด็จ กำจรเดช และคุณมนตรี ศรียงค์ รวมถึงศิลปินแห่งชาติ คุณสถาพร ศรีสัจจัง"


ด้าน "ภูริพันธ์ บุนนาค" ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการตลาดภายในประเทศ สสปน. ซึ่งสนับสนุนงานหนังสือภาคใต้ให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกแบบสุดตัวก็ว่า เป็นเพราะสสปน.มองเห็นถึงศักยภาพของคนไทยที่จะเกิดขึ้นได้จากความรู้


"เราอยากให้การอ่านขยายไปต่างจังหวัดเลยตัดสินใจสนับสนุน โดยเฉพาะภาคใต้ที่นอกจากสงขลาแล้วยังรวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย แน่นอนว่างานสัปดาห์หนังสือเป็นเรื่องการเสริมเพิ่มความรู้ให้เกิดแก่ประชาชนทุกเพศทุกวัย ช่วยเพิ่มจำนวนการอ่านอย่างที่ภาครัฐ และถ้าการอ่านเพิ่ม คนมีความรู้มากขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน"


อย่างไรก็ตาม การจัดงานสัปดาห์หนังสือในต่างจังหวัด มักจะมีข้อกังขาหนึ่งเกิดขึ้นเสมอคือคำถามที่ว่าด้วยผลกระทบถึงร้านค้าในท้องถิ่น


ทว่าสำหรับงานสัปดาห์หนังสือภาคใต้นั้น ชมรมร้านหนังสือภาคใต้กลับยินดีสนับสนุนและให้ความร่วมมือทุกอย่างเต็มที่


เพราะพวกเขามองว่า นี่คือการสร้างฐานการอ่านให้เกิดขึ้นในระยะยาว

"ไพรัช ทองเจือ" เจ้าของร้านหนังสือชื่อดังในอ.หาดใหญ่อย่าง "เพลินอักษรบุ๊คเซ็นเตอร์" หรือนายอิทร์หาดใหญ่ สำหรับพวกเขาซึ่งเป็นร้านหนังสือท้องถิ่นแล้ว การมีกิจกรรมดีๆมาถึงที่บ้าน จะทำให้คนรู้สึกสนใจและตื่นตัวเกี่ยวกับหนังสือ

"ร้านหนังสือเราเปิดทั้งปี จริงอยู่ที่ช่วงนี้อาจกระทบบ้าง แต่เมื่อมองระยะยาว กิจกรรมต่างๆจะช่วยให้คนสนใจหนังสือ เมื่องานจบไปแล้วความสนใจก็ยังคงอยู่ โอกาสของเราก็จะเกิดขึ้นมากกว่าเดิม อย่างงานครั้งนี้ร้านท้องถิ่นเองก็มาออกบูทด้วย และมีการเปิดบูทในนามของชมรมหนังสือภาคใต้ขึ้นมาด้วย เพราะการอ่านในภาคใต้ไม่ได้หายไป มีคนอ่านมากขึ้นด้วยซ้ำ เพียงแต่รูปแบบการอ่านอาจเปลี่ยนไป ร้านหนังสือก็มากขึ้นด้วย คาดว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นโดยภาพรวม ร้านท้องถิ่นก็ต้องปรับตัว หนีกันไม่ได้" ไพรัชอธิบาย

งาน "สัปดาห์หนังสือภาคใต้" ครั้งที่ 1 จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ตั้งแต่วันนี้ - 2 กันยายน 2556

ทุกฝ่ายหวังว่านี่จะไม่ใช่เป็นเพียงครั้งแรกและครั้งเดียว สำหรับการนำความรู้ไปสู่ประตูด้ามขวาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook