ทรรศนะต่าง ′ชุดนักศึกษา′ สังเคราะห์ให้ดีมีเหตุผล

ทรรศนะต่าง ′ชุดนักศึกษา′ สังเคราะห์ให้ดีมีเหตุผล

ทรรศนะต่าง ′ชุดนักศึกษา′ สังเคราะห์ให้ดีมีเหตุผล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เกาะกระแสประเด็น "ชุดนักศึกษา" ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมช่วงนี้

ความจริงจะว่าไป ประเด็นชุดนักศึกษาก็ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมวงกว้างอยู่บ่อยครั้ง แต่หากคิดในอีกมุม ที่ไม่ได้ถาม "นิสิต-นักศึกษารุ่นปัจจุบัน" หรือ ถามครู อาจารย์ นักวิชาการ หรือนักสิทธิมนุษชน

แต่ "ถาม" ในฐานะ "คนเคยเรียน" ในรั้วมหาวิทยาลัยมาก่อน

เมื่อพ้นจากสถานะนิสิต-นักศึกษามาแล้ว ก้าวเข้ามาสู่วัยทำงานแล้ว คิดเห็นอย่างไรกับเสื้อขาว กระโปรง กางเกงสีดำ หรือสีกรมท่า เข็มขัด และเข็มมหาวิทยาลัย

นางสาวชมนภัส ตางจงราช ศิษย์เก่าจากสาขาวิชาการสื่อสารมวลชน เอกวารสารศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกว่า การแต่งกายชุดนิสิตนักศึกษา มองว่าแต่ละสถาบันย่อมมีความภูมิใจในการแต่งกายอยู่แล้ว แต่งมาเรียนทุกวันก็คงไม่ใช่เรื่องที่หนักหนาอะไร หรือบางคนไม่สะดวกก็ว่ากันไปแล้วแต่บุคคล

"โดยส่วนตัวเชื่อว่าการแต่งกายก็เหมือนกับกฎระเบียบอย่างหนึ่ง หากเราสามารถรักษาไว้ได้ แสดงว่าเรามีความรับผิดชอบคนหนึ่ง เพราะว่าในชีวิตหนึ่งเราเรียนมหาวิทยาลัยเพียง 4 ปี ไม่ได้ใส่ตลอดชีวิต"

นายธนเวศม์ สัญญานุจิต ศิษย์เก่าจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา บอกว่า ตอนสมัยเรียนก็ไม่ได้แต่งกายถูกระเบียบ เสื้อนิสิตก็ไม่เคยรีด ใส่กางเกงยีนส์แทบจะทุกวัน รองเท้าก็ใส่แต่ผ้าใบ คือจะแต่งตัวสุภาพเฉพาะเวลาพิเศษจริงๆ อย่างนำเสนองานต่อหน้าผู้ใหญ่ หรือ ติดต่อราชการกับทางมหาวิทยาลัย

"ผมคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องบังคับใส่ คุณอาจบอกให้ใส่เฉพาะวันสำคัญ วันที่มีพิธีทางการอะไรแบบนี้ก็ได้ เราสามารถสร้างกฎระเบียบให้แต่งกายสุภาพก็ได้ เสื้อคอปก กางเกงขายาว รองเท้าหุ้มส้น"

ขณะที่ นางสาวอินทิรา ช้างขวัญยืน ศิษย์เก่าจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ บอกว่า โดยส่วนตัวตอนสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยแต่งกายถูกระเบียบ ชุดนักศึกษาไม่ได้หมายถึงเสื้อผ้าอย่างเดียว แต่หมายถึงเกียรติของสถาบันที่ให้ความรู้ พัฒนาคนที่จะเป็นอนาคตของชาติ

"การทำตามกฎไม่ได้หมายความว่าไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง แต่มันหมายถึงเราเข้ากับระบบระเบียบสังคมได้ สิทธิย่อมมีกรอบ การแต่งกายชุดนักศึกษาถือเป็นความภาคภูมิใจของคนสวมใส่"

นางสาวนิรันดา ทองประเสริฐ ศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยว่า มองเรื่องการแต่งกายชุดนักศึกษาเข้าเรียนเป็นเรื่องปกติ ตอนเรียนปริญญาตรีก็ใส่ไปเรียนทุกวัน ไม่ได้รู้สึกแปลกหรือตั้งคำถาม ไม่เคยฉุกคิดว่าถูกจำกัดสิทธิอย่างไร เพราะเป็นนักศึกษาใส่ชุดนี้ก็ถูกต้องแล้ว

"เรื่องนี้มองให้เป็นเรื่องดีช่วยฝึกวินัยได้ เช่น เวลาแต่งกายไปสัมภาษณ์งาน เขาไม่รู้จักเราก็ต้องมองที่การแต่งกายก่อน บุคลิกภาพสำคัญมาก ความคิดที่ว่าเก่งซะอย่าง แต่งตัวอย่างไรก็ได้ ไม่ใช่เรื่องที่ถูกนัก อย่างตอนเรียนมัธยมก็เคยตั้งคำถามว่าทำไมต้องให้ตัดผมสั้น ห้ามซอยผม ห้ามกระโปรงสั้น แต่พอขึ้นมหาวิทยาลัยเห็นเด็กทำแบบนั้น ก็รู้สึกไม่น่ารักสมวัย ของแบบนี้ต้องโตขึ้นมา มองย้อนกลับไปแล้วถึงจะเข้าใจโลกเอง"

ขณะที่ นายฟรานซิส ทองปลาด อดีตนักศึกษาแลกเปลี่ยน Thai studies วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นบัณฑิตด้านชีววิทยาและโมเลกุล มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย เบิร์คเลย์ เล่าว่า ขณะที่มาเรียนแลกเปลี่ยนก็เคยสงสัยว่าทำไมต้องใส่ชุดนักศึกษาเข้าสอบ แต่เข้าใจว่าเป็นวัฒนธรรมที่ต้องเรียนรู้ไป ซึ่งก็ได้เห็นข้อดีของการใส่ชุดนักศึกษาว่าทำให้ไม่ต้องคิดว่าจะใส่ชุดอะไรไปเรียน และมีเวลาคิดเรื่องเรียนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาก็ควรมีเหตุผลรองรับกฎที่ออกมาอย่างสมเหตุสมผลด้วย ต้องบอกให้ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร ประโยชน์ที่ได้คืออะไร เพราะไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กจะตั้งคำถาม ในขณะที่เขาคิดว่าเขามีความสามารถดูแลตัวเองได้อยู่แล้ว

ปิดท้าย นางสาวศศิธร ไพรสุขวิศาล ศิษย์เก่าจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า เท่าที่สอบถามรุ่นน้องนักศึกษา พบว่ากฎระเบียบข้อบังคับทุกอย่างของทางมหาวิทยาลัยในปัจจุบันยังเหมือนเดิม คือไม่ได้บังคับให้นักศึกษาต้องใส่ชุดนักศึกษาเข้าชั้นเรียน จะใส่ชุดไปรเวตไปเรียนก็ได้ ขอเพียงให้ชุดสุภาพ จะบังคับก็เพียงตอนสอบกลางภาคและปลายภาค

"สมัยนั้นถามว่าเรื่องชุดสายเดี่ยว แขนกุดก็มีแล้วนะ แต่ในคอมมอนเซนส์นั่นคือ ไม่สุภาพ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ราชการ นักศึกษาจำเป็นต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ตอนนั้น แม้เราจะไม่ค่อยได้ใส่ชุดนักศึกษา แต่ทุกครั้งที่ใส่ ยอมรับว่าภูมิใจกับชุดนักศึกษาธรรมศาสตร์มาก เพราะคิดย้อนไปว่ากว่าที่จะฟันฝ่าสอบผ่าน มันยากเย็นแค่ไหน วินาทีก่อนที่จะรู้ผลสอบเอ็นท์ มันลุ้นและพอผลสอบออกมาว่าเราผ่าน เราได้มาเรียนที่นี่ เรามีความสุข มีความภาคภูมิใจมาก"

รุ่นพี่ มธ.ยังบอกอีกว่า การใส่ชุดนักศึกษาเป็นเรื่องการปลูกฝังเรื่องความเป็นระเบียบ และการเคารพกฎ

"เมื่อนักศึกษาก้าวพ้นออกจากมหาวิทยาลัย เข้าสู่สังคมแท้จริง ต้องเคารพกฎต่างๆ ทั้งที่ทำงาน และที่ใหญ่สุดคือ กฎหมายของบ้านเมือง ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความวุ่นวาย อยากตั้งคำถามที่ท้าทายกับคนรุ่นใหม่ว่า เข้าใจคำว่าสิทธิเสรีภาพกับการเคารพกฎระเบียบ อย่างถูกต้องหรือไม่"

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook