ชีวิต "อั้ม เนโกะ" ท่ามกลางกระแสพายุ หลังแคมเปญไม่เอาชุดนศ.

ชีวิต "อั้ม เนโกะ" ท่ามกลางกระแสพายุ หลังแคมเปญไม่เอาชุดนศ.

ชีวิต "อั้ม เนโกะ" ท่ามกลางกระแสพายุ หลังแคมเปญไม่เอาชุดนศ.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เวลา 18.00 น.

...ยกนาฬิกาขึ้นมองเวลาพร้อมกับชะเง้อคอมอง...เธอยังไม่มา

และแล้วชั่วอึดใจเดียว เธอคนนั้นก็เดินเข้ามาในชุดสายเดี่ยว กระโปรงผ้าพลิ้วพื้นสีขาวสายน้ำเงิน สั้นแค่ต้นขา เส้นผมที่ยาวตรงเสมอหลังปลิวนิดๆ ยามต้องสายลม

ตื่นเต้นยิ่งกว่าการออกเดทครั้งไหนๆ เพราะ "เธอ" ที่อยู่ตรงหน้าคือ "อั้ม เนโกะ" นักศึกษาสาวข้ามเพศ ชั้นปี 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

นาทีนี้น้อยคนที่จะไม่รู้จักเธอ หากย้อนกลับไปเมื่อปีที่เเล้ว เธอโด่งดังจากการเป็นนักศึกษาสาว (เทียม) ผู้โหนรูปปั้นอาจารย์ปรีดี ผู้ประศาสน์การเเห่ง มธ.

ล่าสุด แรงยิ่งกว่าเมื่อเธอจัดทำโปสเตอร์ภาพชายหญิงในชุดนักศึกษาแสดงท่าทางมีเพศสัมพันธ์ 4 รูปแบบ ติดทั่วมหาวิทยาลัย มธ. ศูนย์รังสิต พร้อมคำบรรยายใต้ภาพ "midterm ที่ผ่านมา คุณยังต้องใส่ชุดนักศึกษาอยู่หรือเปล่า?" "เมื่อชุดนักศึกษากำลังถูกท้าทาย" "ปลดแอกความเป็นมนุษย์ของคุณออกมา" เเละ "ชุดนักศึกษามีเซ็กซ์มันส์กว่าป่ะ?"

ทั้งหมดเพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านที่อาจารย์ผู้สอนวิชาสหวิทยาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ TU 130 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาเข้าเรียน มิฉะนั้นจะไม่สามารถทำข้อสอบเก็บคะแนนเรียนในห้องเรียนได้

ความคิดเห็นมากมายในโลกโซเซียลมีเดียถาโถมเข้าใส่เธอทั้งในเเง่บวกเเละลบ

ฝ่ายบวกนั้นว่า "สิ่งที่เธอทำนั้นช่างเป็นสิ่งที่เเสดงถึงเสรีภาพซะจริงๆ" ขณะที่ฝ่ายลบเห็นว่า "การกระทำดังกล่าวถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินขอบเขตเเละไม่เหมาะสม"

ที่สระน้ำข้างตึกคณะศิลปศาสตร์ อั้มเล่าถึงการใช้ชีวิตในแต่ละวันให้ฟังว่า เธอมีชีวิตนักศึกษาเหมือนคนปกติทั่วๆ ไป ที่ตื่นนอนแล้วอาบน้ำแต่งหน้าแต่งตัว ก่อนจะออกมาเรียน อาจจะเหนื่อยกว่านักศึกษาหลายๆ คนตรงต้องนอนดึก เพราะมีอาชีพพิเศษเป็นเด็กเชียร์เบียร์หลังจากเลิกเรียน ตั้งแต่เวลา 1 ทุ่มถึงตี 2 เพื่อหาเงินมาช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้านมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ "อั้มตื่นไม่ค่อยทันไปเรียน เพราะทำงานเป็นสาวเชียร์เบียร์ อยากหาเงินใช้เองเพื่อแบ่งเบาภาระให้ที่บ้าน เลยทำให้ต้องนอนดึกกว่าจะกลับก็ตั้งตีสอง กลับมาก็เล่นเฟซบุ๊กบ้าง อ่านหนังสือบ้าง กว่าจะได้นอนก็ตีสี่" อั้มที่ยังโสดเเต่ไม่สนิทบอก เเละว่าถึงผู้ชายในสเปก

"ชอบหลายแบบ ขาว ตี๋ หรือถ้าเข้มๆ ล่ำๆ ก็ได้ ถ้าจะเป็นแฟนอั้มต้องมีนิสัยเข้ากันได้ พูดคุยกันรู้เรื่อง เเต่ด้วยความที่เป็นคนที่เรียกร้องประเด็นสิทธิเสรีภาพ การจะคบหาดูใจกับใครมันยากขึ้น เพราะคนมองว่าเป็นขบถต่อสังคม ผู้ชายที่เคยชอบก็พากันกลัว หนีหายกันไปหมดเลย บางคนบอก อีนี่มันแรงส์วะ"

แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ชีวิตเธอยากลำบากหรือสบายขึ้นเเต่อย่างใด

"ทุกวันนี้ยังใช้ชีวิตปกติสุขดี แม้เพื่อนในคลาสบางคนจะแอบเอาไปนินทาลับหลังบ้าง แต่อั้มไม่สนใจ เพราะเราไม่สามารถทำให้ใครพอใจเเละเข้าใจในการกระทำของเราได้ทุกคน เเต่อยากให้ทุกคนคิดว่า เราต้องยอมรับให้กับความคิดความเห็นที่แตกต่างกัน สำหรับอั้ม อั้มก้าวข้ามเรื่องพวกนี้แล้ว เวลาโดนด่าก็ชินเเล้ว"

หญิงสาวตรงหน้าสารภาพว่า เธอสนใจการเมืองเป็นที่สุด สถานที่ๆ ชอบไปคือ ห้องเสวนา เพราะเห็นว่าเป็นที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน

อั้ม เนโกะ เล่าถึงอุดมการณ์การต่อสู้อย่างฉะฉานว่า ส่วนตัวเป็นเด็กที่ตื่นตัวทางการเมืองมาตลอด ก่อนหน้านี้ก็เคลื่อนไหวในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับการเมือง เช่น การต่อต้านรัฐประหาร การรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 เกี่ยวกับการเมืองเชิงโครงสร้างที่สังคมไทยพูดไม่ได้ และที่เคลื่อนไหวมากที่สุด คือเรื่องโซตัส เรื่องการแต่งกาย และสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ

เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าไม่เรียกร้องต่อไปคุณจะกลายเป็นคนที่ถูกอำนาจควบคุมบงการอยู่ตลอดเวลาโดยที่คุณไม่รู้ตัว

"ระบบโซตัส มักมีคนชอบพูดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับนักศึกษา แต่ความเป็นจริง เป็นการสร้างวาทกรรมของระบบอำนาจนิยม ด้วยกระบวนการถ่ายทอดทางสังคมเเละวัฒนธรรม (Socialization) จากรุ่นสู่รุ่น ถ้าเราจะเเก้ไขตรงนี้ เราก็ต้องเริ่มจากเปลี่ยนระบบการศึกษา หมายถึงว่าเริ่มเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กไปสู่จุดใหญ่" อั้มเผย

เมื่อลองให้อั้มพูดถึง "ความเหมาะสม" ในสิ่งล่าสุดที่ตัวเองได้ทำ

"ถ้าเอาความเหมาะสมมาเทียบกับความเป็นไทย สิ่งที่อั้มทำก็ไม่เหมาะสม เพราะสังคมไทยยังกดทับเรื่องเพศ เรื่องการมีเซ็กซ์อยู่ แต่สังคมไทยไม่เคยมีการทำความเข้าใจกับเรื่องนี้เลย มักปิดกั้นเเละทำให้ดูเหมือนเป็นเรื่องผิด ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นว่าสังคมที่กดทับเรื่องเพศนั้นเเหละที่มีปัญหาเรื่องเพศมากที่สุด"

ไหนๆ ก็มาอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็น "ดินเเดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" เลยลองถามอั้มดูว่าจริงไหม

"ไม่จริงค่ะ" อั้มตอบกลับก่อนจะสิ้นสุดคำถามเสียอีก

"อย่างแรก หลายๆ คณะยังมีการบังคับใส่ชุดนักศึกษา ซึ่งมันผิดแต่แรกเพราะธรรมศาสตร์ไม่เคยมีเครื่องแบบ อีกอย่าง สิทธิในการแสดงออกก็ไม่สามารถกระทำได้เช่น การคัดค้านไม่ให้กลุ่มนิติราษฎร์ใช้พื้นที่ธรรมศาสตร์จัดงาน และที่สำคัญความศักดิ์สิทธิ์ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ต้องแก้มากที่สุด เพราะถือเป็นสิ่งที่ขัดกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของมหาวิทยาลัย"

พูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพกับอั้ม เธอบอกว่าจะเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพต่อไปเรื่อยๆใน "ธรรมศาสตร์"

"มีหลายอย่างที่อยากเรียกร้อง สิ่งเเรกที่อยากเรียกร้องเลยก็คือ ขอยกเลิกวิชา TU 100 วิชาหน้าที่เเละพลเมืองก่อนเลย, อยากขอให้ยกเลิกการบังคับการใส่ชุดนักศึกษาไปสอบ, อยากทำให้นักศึกษาสร้างพื้นที่วิชาการของแต่ละคณะให้มากขึ้นกว่าที่เป็น เพราะบางคณะไม่เคยนำงานวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ

และที่สำคัญอยากเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยหาความหมายของตนเอง เช่น กล้าแสดงความคิดเห็นเเละเรียกร้องสิทธิเเละเสรีภาพของตัวเองกันมากขึ้น อั้มทิ้งท้ายอย่างมีความหวัง

อั้ม เนะโกะ ในวันนี้ไม่ได้หวั่นต่อกระเเสสังคม เเละมั่นใจในสิ่งที่ทำว่าเป็นความถูกต้อง

"หนูไม่ได้ละเมิดสิทธิใครตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เเต่หนูละเมิดในกฎศีลธรรมเเห่งความเป็นไทย" อั้มกล่าวทิ้งท้าย

โดย เมธาวุฒิ เสาร์เเก้ว และ วรรณโชค ไชยสะอาด


ที่มา นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook