เลิกเล่น "เฟซบุ๊ก" ยากกว่าที่คิด

เลิกเล่น "เฟซบุ๊ก" ยากกว่าที่คิด

เลิกเล่น "เฟซบุ๊ก" ยากกว่าที่คิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ก่อนหน้านี้เคยมีผลการวิจัยจากเมืองนอกที่ระบุว่า คนที่ใช้เฟซบุ๊กมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ใช้มีความสุขน้อยลง มาคราวนี้ มีผลการวิจัยชิ้นใหม่ ที่เว็บไซต์ข่าวเดลีเมล์ ของอังกฤษรายงานเอาไว้ เกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊ก เครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดฮิต ว่า ตอนนี้ มีผู้ที่ "เลิกใช้" เฟซบุ๊ก เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ด้วยเหตุผลเรื่องความเป็นส่วนตัวที่รู้สึกว่า มันไม่ได้เป็นส่วนตัวแล้ว

ผลการวิจัยนี้เป็นของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย ที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า 600 คน พบว่า มีผู้ที่เลิกใช้เฟซบุ๊ก จะด้วยวิธีที่เรียกกันว่า "ระงับการใช้" และการลบบัญชีเฟซบุ๊กทิ้งไปเลย เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานที่จัดทำโดย "โซเชียลเบเกอส์" เผยว่า เฟซบุ๊กสูญเสียผู้ใช้ในสหรัฐที่แอ๊กทีฟในแต่ละเดือนมากถึง 9 ล้านคน และในอังกฤษอีกเดือนละ 2 ล้านคน แต่ตัวนี้เป็นตัวเลขของคนที่แอ๊กทีฟ ซึ่งหมายถึงว่ามีการเข้าใช้งานเฟซบุ๊กภายในเวลา 30 วัน ที่พบว่า มีน้อยลงเรื่อยๆ

แต่อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่คนไม่เข้ามาใช้เฟซบุ๊กในช่วงเวลา 30 วันนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นจะทิ้งเฟซบุ๊กไปเลยทีเดียว

ศาสตราจารย์ สเตฟน สตีเกอร์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเวียนนา บอกไว้ว่า การวิจัยของเขาและทีมงานที่ทำการสำรวจความเห็นของกลุ่มตัวอย่างราว 600 คนนั้น เป็นการประเมินโดยวัดจากความห่วงกังวลในการใช้งานจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยเหตุผลหลักส่วนใหญ่มาจากความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัว อาการติดเฟซบุ๊ก และความระมัดระวังที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับผู้ที่เลิกเล่นเฟซบุ๊กเพราะมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว มีมากถึง 48.3 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยความไม่พอใจทั่วๆ ไป 13.5 เปอร์เซ็นต์ มุมมองในแง่ที่ไม่ดีต่อเพื่อนออนไลน์ 12.6 เปอร์เซ็นต์ และเริ่มรู้สึกเสพติดมากขึ้น 6.0 เปอร์เซ็นต์

เบรนดา วีเดอร์โฮลด์ บรรณาธิการวารสารไซเบอร์ไซโคโลจี บีเฮวิเออร์ แอนด์ โซเชียล เน็ตเวิร์กกิง ที่เผยแพร่รายงานชิ้นนี้ กล่าวว่า การออกมาแฉเกี่ยวกับการจารกรรมข้อมูลของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์จอมแฉอย่างวิกิลีกส์ หรือการออกมาแฉเรื่องโครงการลักลอบเอาข้อมูลบนโลกออนไลน์ของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ของสหรัฐ ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกมีความเป็นห่วงกังวลต่อความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์มากขึ้น

แม้ความรู้สึกอยากเลิกเฟซบุ๊กจะมีเพิ่มมากขึ้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า การเลิกเล่นเฟซบุ๊ก ยากกว่าที่คุณคิดจริงๆ ซาราห์ เคสส์เลอร์ ผู้สื่อข่าวจากฟาสต์คอมพานี หนึ่งในคนที่เคยอยากเลิกเล่นเฟซบุ๊กบอกไว้ว่า

การจะลบบัญชีเฟซบุ๊ก ยากตั้งแต่การหาเมนู "ลบบัญชี" ของเฟซบุ๊กแล้ว เรียกว่า ต้องใช้กูเกิลช่วยหาวิธี เมื่อหาพบและเข้าไปได้แล้ว เฟซบุ๊กก็จะเลือกภาพของเพื่อนในเฟซบุ๊กของคุณให้แสดงผลขึ้นมา พร้อมกับข้อความอ้อนวอนอย่างน่าสงสารว่า "พวกเขาเหล่านี้จะคิดถึงคุณมากแค่ไหน ถ้าคุณจากไป"

หลังจากนั้น คุณก็จะต้องตอบคำถามว่า เหตุใดจึงอยากเลิกใช้เฟซบุ๊ก เมื่อเคสส์เลอร์ตอบไปว่า "เพราะห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัว" เฟซบุ๊กก็จะเพียรพยายามขอร้องให้คุณอยู่ต่อไป โดยอธิบายว่า คุณสามารถควบคุมให้ข้อมูลของคุณเป็นส่วนตัวได้อย่างไร ด้วยเครื่องมือที่เฟซบุ๊กมี

พร้อมกับเตือนคุณว่า ทันทีที่คุณ "ลบบัญชี" ออกไป คุณจะสูญเสียรูป (เก่าๆ ที่เราเคยถ่ายไว้) และข้อความ (ที่คุณเคยพร่ำบ่นไว้) ทั้งหมด

เมื่อคุณเริ่มลังเลที่จะลบบัญชี เฟซบุ๊กก็จะได้ที ยื่นข้อเสนอให้ว่า คุณสามารถ "ระงับการใช้งาน" (Deactivate) บัญชีเฟซบุ๊กของคุณได้ ซึ่งทุกสิ่งที่อยู่ในโปรไฟล์ของคุณ ก็จะยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือโพสต์ต่างๆ ที่จะยังคงอยู่ตลอดไป จนกว่าเมื่อใดที่คุณอยากจะกลับมาใช้เฟซบุ๊กอีก ก็เพียงแค่ "เปิดการใช้งาน" (Reactivate) อีกครั้ง ทุกอย่างก็กลับมา

ที่สุดแล้ว เคสส์เลอร์ก็เลือกวิธีการ "ระงับการใช้" งานแทนที่จะลบบัญชีทิ้ง และที่สุดแล้ว หลังจากนั้น 3 วัน เธอก็กลับมาเปิดใช้เฟซบุ๊ก เพราะต้องการติดต่อกับอดีตแฟน !!

เคสส์เลอร์กล่าวว่า เฟซบุ๊กใช้เทคนิคในการชักจูงคุณ 4 ข้อ เพื่อให้คุณยังคงใช้เฟซบุ๊กต่อไป ตั้งแต่การทำให้การเข้าไปลบบัญชีเป็นไปอย่างยุ่งยาก การยื่นข้อเสนอในการเลือกที่จะระงับการใช้แทนที่จะลบทิ้ง การใช้ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงมาล่อ และการพยายามหาทางแก้ปัญหาที่คุณประสบอยู่กับการใช้เฟซบุ๊ก

ตบท้ายด้วยคำสวยๆ ของเดลีเมล์ต่อเรื่องนี้ ที่ว่า "การแตกหักกับเว็บไซต์หนึ่งควรจะง่ายกว่าการแตกหักกับคนคนหนึ่ง แต่สำหรับเฟซบุ๊กแล้ว คุณต้องสู้กับมันอย่างมหาศาลทีเดียว"

โดย ศรีสกุล ลีลาพีระพันธ์

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook