สธ.เผยเด็กไม่กินอาหารเช้า ส่งผลเสียต่อสุขภาพและการเรียน

สธ.เผยเด็กไม่กินอาหารเช้า ส่งผลเสียต่อสุขภาพและการเรียน

สธ.เผยเด็กไม่กินอาหารเช้า ส่งผลเสียต่อสุขภาพและการเรียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยเด็กวัยเรียนอายุ 6-11 ปี ไม่กินอาหารเช้าถึงร้อยละ30 โดยเฉพาะนักเรียนหญิง อายุ 12-14 ปี ไม่กินอาหารเช้าถึงร้อยละ 52 เสี่ยงส่งผลเสียต่อการเรียนและสุขภาพ แนะผู้ปกครองให้ความสำคัญกับอาหารเช้าสำหรับลูก ด้วยเป็นเมนูง่ายๆ แต่ได้คุณค่าทางโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่และหลากหลาย

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า อาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด เพราะช่วงระยะเวลาระหว่างอาหารเย็นถึงเช้า แม้จะเป็นช่วงที่นอนหลับแต่ร่างกายก็ยังเผาผลาญสารอาหารตามปกติ หากเด็กไม่กินอาหารเช้าจะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง อ่อนเพลีย หงุดหงิด อารมณ์เสีย ไม่มีสมาธิในการเรียนอาจถึงขั้นหน้ามืดเป็นลม และเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะอาจต้องพักการเรียนได้ เนื่องจากสมองได้รับน้ำตาลกลูโคสไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารเช้าของวัยเรียนพบว่าเด็กวัยเรียนอายุ 6-11 ปี ไม่กินอาหารเช้าถึงร้อยละ 30 โดยเฉพาะนักเรียนหญิง อายุ 12-14 ปี ไม่กินอาหารเช้าถึงร้อยละ 52

ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรให้ความสำคัญกับอาหารเช้าด้วยการเตรียมอาหารเช้าให้กับเด็ก ซึ่งอาหารเช้าที่เหมาะสมควรให้พลังงานประมาณ 400-450 กิโลแคลอรี และต้องครบ 5 หมู่ มีความหลากหลาย ควรเป็นเมนูที่ถูกหลักโภชนาการ ให้โปรตีนสูง และเตรียมง่าย เช่น ข้าวต้มเครื่อง โจ๊ก ข้าวผัด อาหารประเภทซีเรียลผสมนมรสจืด ขนมปังแซนวิส สำหรับข้าวเหนียวหมูปิ้ง ซึ่งเป็นเมนูอาหารเช้าที่หาซื้อได้ง่ายต้องเลือกเป็นหมูปิ้งไม้ที่ไม่ติดมัน ไม่ไหม้เกรียมจนเกินไป และควรเพิ่มผักสดเพื่อเป็นการฝึกให้เด็กกินผักด้วยควรใช้ผักที่ไม่มีกลิ่นฉุน และรสขม เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักบุ้ง แครอท หรือหั่นผักให้เป็นชิ้นเล็กเพื่อเพิ่มสีสันในเมนูอาหารที่สำคัญควรเตรียมนมรสจืด 1 กล่อง และผลไม้ประมาณ 1 ผล เช่น กล้วยน้ำว้า ส้ม แอปเปิ้ล ชมพู่ เพื่อให้เด็กได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมและครบถ้วน

"ทั้งนี้ ตามหลักโภชนาการที่ถูกต้องควรกินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้าซึ่งถือเป็นมื้อที่สำคัญมาก หากไม่มีเวลาเตรียมอาหารเช้าเองก็ควรจะเพิ่มเวลาซัก10-20นาที เพื่อออกไปเลือกเมนูอาหารเช้าที่เหมาะสมนอกบ้าน เพราะทุกวัยโดยเฉพาะเด็กวัยเรียนเป็นวัยที่ต้องการพลังงาน สารอาหารที่ครบถ้วน และหลากหลายให้เพียงพอต่อร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงน้ำอัดลม ขนมหวาน ขนมขบเขี้ยว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนของเด็กไทย พร้อมทั้งควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง เพราะการพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง ทำให้สมองสามารถเรียนรู้ จดจำ มีสมาธิ พร้อมเริ่มวันใหม่ ตลอดจนทำกิจกรรมการเรียนรู้กันเพื่อนได้อย่างดี ควบคู่กับสุขภาพแข็งแรงอีกด้วย" อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook