โรงเรียนออนไลน์สแตนฟอร์ด จุดเปลี่ยนการศึกษาเพื่ออนาคต

โรงเรียนออนไลน์สแตนฟอร์ด จุดเปลี่ยนการศึกษาเพื่ออนาคต

โรงเรียนออนไลน์สแตนฟอร์ด จุดเปลี่ยนการศึกษาเพื่ออนาคต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Stanford Pre-Collegiate Studies หรือเดิมชื่อ Education Program for Gifted Youth อยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะความรู้ของเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษโดยเฉพาะ ให้สามารถเรียนรู้เนื้อหาวิชาที่มีความก้าวหน้าและท้าทาย ซึ่งเหมาะกับความสามารถของเด็ก

ภายใต้ Stanford Pre-Collegiate Studies มี The Stanford University Online High School (OHS) โรงเรียนออนไลน์ที่เปิดสอนสำหรับนักเรียนเกรด 7-12 (ชั้น ม.1-ม.6) ได้รับการรับรองวิทยฐานะจาก Western Association of School and Colleges ปัจจุบันมีนักเรียน 541 คนจาก 42 ประเทศ

จากงานมหกรรมความรู้ในธีม "ความรู้คือโอกาส" จัดโดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD มี "เรย์มอนด์ ราวาเกลีย" รองคณบดีและผู้อำนวยการ Stanford Pre-Collegiate Studies เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง OHS ได้มาพูดถึงการเรียนการสอนของสถาบัน อันถือเป็นแบบอย่างของการพลิกโฉมการศึกษาคนรุ่นใหม่ในอนาคต

มุ่งสร้างความแตกต่าง

การเรียนของ OHS นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ทั้งแบบเต็มเวลาและพาร์ตไทม์หรือเฉพาะบางวิชาที่สนใจ โดยรูปแบบ การเรียนเป็นแบบ Asynchronous กล่าวคือ นักเรียนต้องศึกษาเนื้อหาด้วยตัวเองจากวิดีโอการบรรยายของครูก่อน หลังจากนั้นจะเข้าสู่ห้องเรียน ซึ่งนักเรียนและครูจะพูดคุยกันแบบเรียลไทม์ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยจะถกเถียงกัน และหารือเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้วิชานั้น ๆ และถือว่าครูเป็นคนสำคัญในการทำให้นักเรียนจากประเทศต่าง ๆ

เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายจากเพื่อนต่างประเทศ เมื่อจบคลาสแล้วนักเรียนมีข้อสงสัยต่อสามารถสอบถามเพิ่มเติมไปที่อีเมล์ของครูได้ เนื่องจากนักเรียนมาจากทั่วโลก และเวลาของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ทำให้การสอนของที่นี่เป็นแบบ 24 ชั่วโมง โดยพบว่าเด็กที่เรียนจากหลากหลายกลุ่ม ทั้งเด็กที่อยู่ในเมืองและชนบท

"การสร้างห้องเรียนออนไลน์ เราพยายามหลีกเลี่ยงจากรูปแบบการเรียนการสอนของห้องเรียนปกติ โดยเราคำนึงว่าทำอย่างไรให้เด็กตื่นเต้นไปกับการเรียน หรืออะไรที่ทำให้เด็กเรียนรู้อย่างได้ผล ซึ่งเด็กทุกคนจะมีความสนใจ หรือสิ่งที่เขาอยากเรียนอยู่แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องหาให้ได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร และดึงศักยภาพออกมา อย่างไรก็ตาม การเรียนแบบนี้มีจุดอ่อนเช่นกัน เพราะเด็กบางส่วนไม่ชอบเรียนรู้ล่วงหน้า ทำให้มีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ดรอปเรียนหรือลาออก"

พัฒนาทักษะทุกรูปแบบ

สำหรับหลักสูตรการเรียนมีทั้งวิชาบังคับและวิชาที่นักเรียนอยากเรียน ซึ่งจะเน้นด้านการเขียน การอภิปราย รวมถึงวิชาที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย ตลอดจนหลักสูตรสหวิทยาการวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่จะช่วยพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์ ตรรกะ และเหตุผล วิชาประวัติของวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม, ประชาธิปไตย อิสรภาพ และหลักนิติธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ หากนักเรียนกลุ่มหนึ่งมีความสนใจเรื่องเดียวกัน นอกเหนือไปจากวิชาที่เปิดสอนทางโรงเรียนจะเปิดวิชาใหม่ขึ้นมารองรับความต้องการด้วย

"เรย์มอนด์ ราวาเกลีย" มองว่าการเรียนออนไลน์สอนให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ เพราะเด็กต้องบรรยายความคิดของตัวเองออกมาให้ครูและเพื่อนเข้าใจ และเกิดการต่อยอดจากความคิดเห็นของผู้อื่น ขณะเดียวกัน ยังทำให้นักเรียนกล้าถกเถียง, แลกเปลี่ยนข้อมูล และเกิดการเชื่อมโยงระหว่างคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้นักเรียนมีอุปนิสัยรักการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นทักษะที่ติดตัวไปตลอดชีวิต

ไม่เพียงแต่การพบเจอกันในโลกไซเบอร์เท่านั้น โรงเรียนยังเปิดช่องทางให้นักเรียนเข้าถึงสังคมด้วยการจัดตั้งชมรมและกิจกรรมในช่วงสุดสัปดาห์ หรือตามเทศกาลต่าง ๆ นอกจากนี้ แม้เป็นการเรียนออนไลน์ ครูก็ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลนักเรียนด้วย โดยจะดูถึงปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนว่ามีการพูดคุย และแสดงออกกับเพื่อนอย่างไร แตกต่างจากห้องเรียนปกติที่ครูจะสังเกตความประพฤติของนักเรียนจากการเรียน หรือการทำงานร่วมกับคนอื่น

หนุนเรียนออนไลน์คู่เรียนปกติ

ทั้งนั้น นักเรียนที่จบจาก OHS สามารถเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้ด้วย โดย 12% ของนักเรียนที่เรียนจบสามารถศึกษาต่อที่ ม.สแตนฟอร์ด ซึ่งโรงเรียนได้ติดตามชีวิตในมหาวิทยาลัยของเด็กทุกคน พบว่ามีความสุขกับการเรียน และต้องการให้มหาวิทยาลัยมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นเหมือนที่เคยได้รับตอนเรียนออนไลน์

เพราะมีหลายประเทศนิยมการเรียนออนไลน์ อย่างประเทศอังกฤษมีนักเรียนบางส่วนเรียนออนไลน์เพิ่มเติมจากการเรียนปกติ เพราะเป็นช่องทางในการเสริมสร้างศักยภาพให้กับตัวเอง หรือมีพ่อแม่บางครอบครัวของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ให้ลูกเรียนโฮมสกูล จะได้จัดการเรียนการสอนให้ลูกเรียนออนไลน์ควบคู่ไปกับการสอนเองด้วย ขณะเดียวกัน โรงเรียนบางแห่งสนับสนุนให้เด็กเรียนออนไลน์ในช่วงปิดเทอม และนำเครดิตที่ได้จากการเรียนออนไลน์มาเทียบเคียงกับเครดิตของโรงเรียนได้

"เรย์มอนด์ ราวาเกลีย" กล่าวทิ้งท้ายว่า การศึกษาต้องเน้นกระบวนการระหว่างการเรียน ไม่ใช่เน้นผลลัพธ์ หรือคะแนนสอบ เพราะแม้คำตอบอาจถูกต้อง แต่อาจมีกระบวนการคิดที่ผิดได้ ดังนั้น การเรียนการสอนต้องคำนึงถึงสิ่งที่อยู่ระหว่างทางมากกว่าผลสัมฤทธิ์ปลายทาง ซึ่งถือเป็นรูปแบบสำคัญสำหรับการเรียนรู้ในปัจจุบันและอนาคต

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook