ศรัณย์ ฉุยฉาย "อั้ม เนโกะ" ผู้ชักธงดำสู่ยอดโดม

ศรัณย์ ฉุยฉาย "อั้ม เนโกะ" ผู้ชักธงดำสู่ยอดโดม

ศรัณย์ ฉุยฉาย "อั้ม เนโกะ" ผู้ชักธงดำสู่ยอดโดม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย เมธาวุฒิ เสาร์แก้ว

ราวกับเอาน้ำมันไปรดกองไฟ เมื่อมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งพยายามชักธงดำขึ้นสู่ยอดโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เพื่อประท้วงเชิงสัญลักษณ์ถึงการประกาศปิดการเรียนการสอน ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์ทางการเมืองอันวุ่นวาย ณ ขณะนั้น

...ถ้าหนึ่งในนักศึกษากลุ่มนี้จะไม่มีคนที่ชื่อ "อั้ม เนโกะ" ร่วมอยู่ด้วยเช่นเคย กับการแต่งกายด้วยกางเกงขาสั้น-เสมอหู กับเสื้อเกาะ (เฉพาะ) อก

แม้ว่าความตั้งใจที่จะชักธงดำขึ้นสู่ยอดโดมจะถูกขัดขวางทันท่วงที แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ กลับลุกลามเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากชาวเหลืองแดงทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ผสมผเสทั้งการด่าทอต่างๆ นานา ไปจนถึงข่มขู่จะทำร้ายร่างกาย

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ยังไม่หยุดเพียงนั้นกลับพัฒนาใหญ่โตไปสู่การตรวจสอบพฤติกรรมตามระเบียบข้อบังคับ และบานปลายไปสู่การรวบรวมรายชื่อ เพื่อถอดถอนให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา ต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยที่เธอศึกษาอยู่

ปะหน้าเธอครานี้ เธอมาในเครื่องแต่งกายที่สร้างความประหลาดใจ

...กระโปรงตัวหลวม แขนกุด สีดำ! ดูเรียบร้อยผิดตา!

"อั้มแต่งดำไว้ทุกข์ให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เพิ่งเปิดการเรียนการสอนใหม่อีกครั้งค่ะ" เธออธิบายแบบตรงไปตรงมาเหมือนเคย

หลังจากทักทายสารทุกข์สุกดิบแล้ว สอบถามถึงความคืบหน้า

"การจะมาแจ้งข้อหาและถอดถอนการเป็นนักศึกษาอั้มนั้น ถือว่ามีกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมอย่างมาก มากกว่านั้นคนที่เป็นคณะกรรมการชุดนี้ก็เป็นคนละคนกับเมื่อตอนสอบสวน มิหนำซ้ำยังไม่เห็นระบุเลยว่าอั้มทำผิดกฎระเบียบมหาวิทยาลัยข้อใด และไม่เคยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าด้วย ดังนั้นจึงไม่ถูกต้อง"

อั้ม เนโกะ ตอบอย่างฉะฉาน และยืนยันว่าจะเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับตนเอง จะต่อสู้อย่างถึงที่สุด โดยอุทธรณ์คำกล่าวหาต่อคณะกรรมการชุดนี้ เพราะเป็นการฟ้องร้องที่อยุติธรรมที่ต้องมีผลโมฆะไป ด้วยไม่มีเหตุผลที่จะฟ้องร้องโดยเอาสาเหตุจากพฤติกรรมการประท้วงเชิงสัญลักษณ์หลายๆ เหตุการณ์มารวมกันและเหมารวมว่าผิด แทนที่จะพิจารณาเป็นกรณีไป

อั้ม เนโกะ หรือนายศรัณย์ ฉุยฉาย มีพื้นเพเป็นชาวกรุงเทพฯ ย่านฝั่งธน เกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2536 บิดาประกอบอาชีพรับราชการเป็นตำรวจ ส่วนมารดาประกอบอาชีพเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง

สำหรับการศึกษาเธอเล่าเรียนในโรงเรียนชายล้วนมาโดยตลอด นับตั้งแต่สมัยประถมวัยศึกษาที่โรงเรียนบูรณวิทย์ มัธยมต้นที่โรงเรียนบดินทรเดชา นนทบุรี และย้ายมาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนทวีธาภิเศก สายศิลป์-เยอรมัน กระทั่งจบการศึกษา

"ตอนอยู่ ม.4 อยู่ ได้รับโอกาสสำคัญเพราะได้ทุนจากสถาบันเกอเธ่ โดยได้รับเลือกเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่ประเทศเยอรมนี ตอนนั้นชอบมากได้เจอเพื่อนหลากหลายวัฒนธรรมทั่วทุกมุมโลก ทำให้เห็นความคิดและวัฒนธรรมแห่งการถกเถียงถือเป็นเรื่องปกติ" อั้มเผยด้วยความภูมิใจ

ด้วยความใฝ่ฝันอยากเป็นครู และความหลงใหลภาษาเยอรมัน หญิงสาวเล่าให้ฟังว่า ได้ตัดสินใจสอบเข้าที่คณะครุศาสตร์ เอกภาษาเยอรมัน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทยที่เปิดสอนภาษาเยอรมนีในขณะนั้นว่า เป็นเฟรชชี่อยู่เพียงปีเดียวก็ตกลงใจละทิ้งสถานภาพการเป็นลูกพระเกี้ยว ลงสนามสอบอีกครั้งโดยมีจุดหมายที่ดินแดนที่ร่ำลือว่า มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว

อั้ม เนโกะ หรือนายศรัณย์ ฉุยฉาย สถานภาพปัจจุบันเป็นนักศึกษาคณะศิลป ศาสตร์ ภาควิชาภาษาเยอรมัน ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถ้าไม่มอง "แพคเกจจิ้ง" ที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอก เนื้อในของเธอมีอะไรที่น่าสนใจทีเดียว...

- ทำไมวันนั้นจึงชักธงดำขึ้นยอดโดม ?

พวกเราต้องการประท้วงถึงการที่อาจารย์บางคน แสดงออกว่าฝักใฝ่อำนาจกลุ่มทางการเมืองมากเกินไป ด้วยการแอบอ้างธรรมศาสตร์สนับสนุนม็อบของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ดังนั้น พวกเราเลยได้คิดแคมเปญการประท้วงขึ้นมาเพื่อต่อต้านการกระทำของอาจารย์ท่านนี้ จึงออกมาเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ประท้วงด้วยการลดธงชาติ และชักธงดำขึ้นสู่ยอดโดม โดยร่วมกับกลุ่มสภาหน้าโดม สื่อว่า ธรรมศาสตร์ได้ตายไปแล้ว

แม้พวกเราจะทำไม่สำเร็จก็ตาม แต่ได้สะท้อนออกชัดว่ามหาวิทยาลัยที่อ้างเสรีภาพทุกตารางนิ้วก็จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก เราไม่ได้เอาธงมาทำลาย หรือเผาไฟ แต่เรามีเจตนาที่ต้องการแค่เอาธงลงมา เป็นสัญลักษณ์เป็นการแสดงออกอย่างสันติ

- การเคลื่อนไหวแรงๆ เริ่มมาต้นมาจากไหน ?

ตั้งแต่ตอนที่อยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ตอนนั้นต่อต้านระบบโซตัสอย่างสุดขีด ที่เป็นรูปธรรมคือเคลื่อนไหวในนาม CCP "ประชาคมจุฬาเพื่อประชาธิปไตย" จัดงานเสวนา เป็นที่โจษขานกันมาก และเป็นเวทีแรกที่อั้มได้มีโอกาสขึ้นพูด อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ยังร่วมวงเสวนาด้วยเลยตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นมากๆ (หัวเราะ) และอีกทีก็ตอนเหตุการณ์เมษา พฤษภาคม 2553 ได้ออกเคลื่อนไหวร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) โดยเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา และจัดการเลือกตั้ง และยังมีไปพูดเรื่องมาตรา 112 ดังนั้น อาจจะเริ่มเป็นนักกิจกรรมในช่วงนี้ก็ได้ แต่ไม่ได้เป็นที่รู้จักเหมือนตอนนี้ (หัวเราะ)

- มาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ก็ยังคงออกมาเคลื่อนไหวแรงๆ อีก ?

พอเข้ามาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ได้ก็พิจารณาถึงวิธีคิดของนักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นอย่างไร แล้วก็รู้สึกตกใจมาก เพราะในวันที่ 11 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันปรีดี พนมยงค์ นักศึกษาใหม่ทุกคนต้องไปร่วมงาน "รับเพื่อนใหม่" ซึ่งอั้มคิดว่านักศึกษาทุกคนจะเสมอภาคกัน แต่พอเอาจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น มีรุ่นพี่บอกว่า "น้องๆ ไปกราบพ่อปรีดีสิ" ตอนนั้นที่ทำให้รู้สึกว่า ทำไมปรีดีกลายเป็นเทพเจ้าไปแล้ว มากกว่านั้นนักศึกษาใหม่บางส่วนยังไม่เข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ประศาสน์การท่านนี้ นี่จึงเป็นชนวนเหตุของการออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรกที่ธรรมศาสตร์

ต่อมาก็เคลื่อนไหวด้วยการช่วยเหลือสมัครพรรคพวก เช่น แคมเปญ Free Somyot ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ที่ผ่านมา โดยไปร่วมกับกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ถัดมาก็เคลื่อนไหวในนามอิสระในการจัดโปสเตอร์แสดงทรรศนะเรื่องเพศ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมโหฬาร


ทำไมต้องแต่งตัวอย่างนั้น ?

ต้องการสื่อว่าการจะพิจารณาคนแค่เปลือกนอกเป็นอะไรที่ตื้นเขินเกินไป เป็นต้นว่า คนที่แต่งตัวแปลกเราต้องไม่คุยกับเขาเลยหรือ หากเรามองกลวิธี หรือสารที่ต้องการจะสื่อ การแต่งตัวก็ไม่ใช่สิ่งที่รุนแรงอะไรเลย เราไม่ได้กระทำผิดต่อใคร จะแต่งกายอย่างไรก็ไม่ได้ไปทำให้ใครเสียหาย ดังนั้น ก็ไม่ใช่วิธีการที่เลวร้ายอะไร จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับให้ถูกกับจริตสังคมไทย หรือสังคมชนชั้นกลาง มันเป็นเรื่องที่มองผิดฝาผิดตัว ควรมองที่สารที่จะสื่อมากกว่าว่าต้องการอย่างไร


- เคลื่อนไหวแรงๆ อย่างนี้ไม่คำนึงถึงด้านลบต่อสังคมบ้างหรือ ?

เป็นมุมมองของแต่ละคน แต่ที่อั้มออกมาเคลื่อนไหวเห็นว่าสังคมมีปัญหาที่ต้องแก้ไข เราจึงเลือกการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้มองเป็นด้านลบ หากแต่เรามองในเชิงบวกมากกว่า

- ครอบครัวมองอย่างไง ?

ก็มีผลกระทบนะ อาจจะรับได้บ้างรับไม่ได้บางประเด็น แต่ก็ห้ามไม่ได้เพราะคนเราก็มีความคิดที่แตกต่าง ถามว่าที่บ้านสนับสนุนเหตุด้วยหรือเปล่า ก็ไม่เห็นด้วยทุกประเด็น และบอกตรงๆ ว่าที่บ้านก็ยังมีความคิดแบบอนุรักษนิยมอยู่ ดังนั้น ก็มีการติติงมาบ้าง เราก็ยอมรับว่าเห็นใจนะ


- กลัวหรือเปล่าที่มีการข่มขู่จะทำร้าย ?

เป็นใครก็ต้องกลัว ไม่มีใครอยากโดนทำร้ายหรอก แต่นี่เราอยู่ในยุคศตวรรษที่ 21 แล้วก็ควรจะถกเถียงกันด้วยเหตุผล ใช้ปัญญา มิใช่ความรุนแรงมาห้ำหั่นกัน


- การเคลื่อนไหวนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัย ?

ไม่ค่อยนึกถึงเรื่องนี้ ที่ผ่านมามีแต่โดนด่า (หัวเราะ) คือก่อนหน้าที่เราจะเข้ามา การเมืองในธรรมศาสตร์มีบรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงาไม่คึกคัก แต่ทุกวันนี้รู้สึกว่าเริ่มมีความคึกคักมากขึ้น แม้จะมีคนไม่เห็นด้วยกับเรา และออกมาแสดงถึงความโกรธเกลียดก็ตาม แต่คิดในแง่ดีทำให้ทุกคนได้ออกมามีสิทธิ มีเสียงมากขึ้น ดังนั้นเราก็ทำให้เห็นว่าไม่ได้มีแต่คนที่คิดเหมือนคุณตลอด ทำให้ธรรมศาสตร์ดูเร่าร้อนทางความคิดมากขึ้น มิใช่เพียงแค่การตอบสนองต่อตัณหาส่วนบุคคล ดังนั้นจะพยายามทำให้มีการเปิดพื้นที่ในการถกเถียงให้กว้างขวางมากขึ้น แม้จะเปลืองตัวที่เราโดนด่าก็ตาม ก็รู้สึกโอเค (หัวเราะ)


- ถูกมองว่าเป็นคนเสื้อแดง ?

เยอะเลย จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เท่าไรหรอก แต่มีบางส่วนที่เข้ากับอุดมการณ์ของคนเสื้อแดงได้ เพียงแค่เราก็ต้องการประชาธิปไตย เราก็ต้องการการเลือกตั้งเท่านั้น การที่บอกว่าเป็นเสื้อแดง หรือเห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทยนั้นก็มิใช่ว่าต้องเห็นด้วยทุกประเด็น เช่น เมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทยออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แบบเหมาเข่งเราก็ไม่เห็นด้วย ก็ออกมาคัดค้านด้วยการไปประท้วงเชิงสัญลักษณ์ร่วมกับ บ.ก.ลายจุด ดังนั้น นี่คือสิ่งที่สังคมต้องแยกให้ออกว่าการที่ใครคิดอะไร เป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าเราต้องเห็นด้วยกับพวกเขาทั้งหมด

- ถ้าให้นิยาม "ความเป็นไทย" ที่เห็นในปัจจุบัน ?

เป็นการรวมความหลากหลายทางวัฒน ธรรม การหยิบยืมทางวัฒนธรรมหลากวัฒนธรรมมาใช้ในปัจจุบัน ทว่า สังคมเรากลับมโนภาพความคิดไปเองว่าเป็นของไทยแล้วเราเป็นเจ้าของ โดยไม่ได้คิดเลยว่าไม่มีวัฒนธรรมใดในโลกที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่ได้ผสมผสานกัน ดังนั้น หากสังคมเรายอมรับความเป็นจริง สังคมเราจะทำใจยอมรับได้หรือเปล่าว่า ความเป็นไทยที่สูงส่งนั้นล้วนประกอบไปด้วยความหลากหลาย มากกว่าความเป็นไทยที่บริสุทธิ์ผุดผ่องหนึ่งเดียว


- "ความเป็นไทย" ก็ไม่ดี ?

คิดว่ามีปัญหามากๆ เพราะว่า ไปลดทอนความเป็นมนุษย์ในสังคม ตราบใดที่ความเป็นไทยยังเป็นตัวชี้วัดถูกผิดกับคนที่มีความเห็นที่ผิดแผกไปจากสังคมส่วนใหญ่จะกลายเป็นคนเลวคนชั่วทันที ทั้งที่การที่กระทำตนแตกต่างไปจากวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่สังคมไทยกลับมองว่าเป็นปัญหา เพราะไม่ยอมรับความแตกต่าง

ทุกวันนี้วัฒนธรรมไทยถูกสร้างให้สูงส่ง ในกรณีวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเขานิยมใส่ชุดกิโมโนได้ เพราะไม่รู้สึกว่าสูงส่งอย่างใด มันเป็นวัฒนธรรมของประชาชนจริงๆ ดังนั้นวัฒนธรรมจะอยู่ได้ต้องอยู่กับประชาชน ไม่ใช่สงวนไว้ให้เฉพาะแต่คนดีคนชั้นนำ


- ที่ออกมาเคลื่อนไหว อยากดังหรือเปล่า ?

ใครล่ะจะอยากดังแบบนี้ และไม่รู้จะเรียนจบหรือเปล่า ทั้งมีคนมาด่าเยอะแยะ เรามีเป้าหมายที่การกระตุ้นสังคมและประชาชนให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้จริงๆ โดยปลุกจิตสำนึกของคนให้ยอมรับความคิดเห็นอันหลากหลายมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกไปสู่สังคม ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริงที่มาจากประชาชน โดยไม่รอเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ มาโปรด

- ชื่อ"อั้ม เนโกะ"มาจากไหน ?

"อั้ม" นี่คือชื่อเล่นจริงๆ ตั้งแต่เกิด และพี่น้องที่บ้านก็มีอักษร อ.อ่าง หมดทุกคน ส่วนชื่อ "เนโกะ" ก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย คือแมว เพราะชอบแมว มันน่ารักดีฉะนั้นจึงไม่มีนัยยะอะไรเลยทั้งสิ้น เป็นชื่อที่ตั้งเล่นๆ ขำๆ แต่เพียงมาดังเอง (หัวเราะ)


- เวลาจะออกจากบ้านเลือกเสื้อผ้าอย่างไร?

เลือกตามที่อยากจะแต่ง เพราะโดยส่วนตัวไม่ชอบเรื่องแฟชั่นเลย วันไหนนึกอยากใส่ชุดอะไรก็ใส่ ส่วนชุดที่โปรดปรานก็ที่น้อยชิ้นเนี่ยแหละ ซึ่งชอบมากๆ เพราะมันคล่องและขยับตัวได้ง่ายดี ส่วนกางเกงก็ชอบใส่ขาสั้น เพราะก้าวขาได้ง่าย หากจะใส่กระโปรงก็อ้าขามากไม่ได้ ส่วนใส่กางเกงขายาวก็กระโดดไม่ได้อีก อีกอย่างอั้มรู้สึกแปลกประหลาดกว่าคนอื่นๆ ที่ชอบใส่รองเท้าส้นสูงมาก เพราะใส่แล้วรู้สึกกระโดดโลดเต้นได้สะดวก (หัวเราะ)

- เปรี้ยวไปหรือเปล่า ?

แน่นอนถ้าตัดสินจากเกณฑ์ของความเป็นไทยก็แน่นอน ทว่ามันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะตัดสินเราผ่านอุดมการณ์แบบใด หากมองแบบเสรีนิยมก็คิดอีกอย่างว่า "คุณจะแต่งอะไรก็เรื่องของคุณ" หากมองแบบความดีงามของไทยก็จะบอกว่า "แต่งอย่างนี้ไม่เหมาะสมนะ" ไม่เคารพสถานที่เลย


- อนาคตจะเคลื่อนไหวอะไรต่อไป ?

ต้องดูบริบทสังคมไป ตอนนี้ก็เรื่องการบ้านการเมืองดูฮอตๆ อย่างล่าสุดมีกลุ่มนักวิชาการในนาม สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยที่เคลื่อนไหวการสนับสนุนการเลือกตั้ง อั้มก็สนับสนุนและเห็นด้วย เพราะจะทำให้แก้ไขความขัดแย้งลดลง

ส่วนรูปแบบการเคลื่อนไหวจะเป็นอย่างไร ต้องเก็บไว้เป็นความลับให้ลุ้นๆ ต่อไป เดี๋ยวไม่เซอร์ไพรส์ (หัวเราะ)


หน้า 13 มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2556

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook