ต้านพิมพ์เขียวการศึกษามาเลย์

ต้านพิมพ์เขียวการศึกษามาเลย์

ต้านพิมพ์เขียวการศึกษามาเลย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียออกมาประกาศ "พิมพ์เขียวการศึกษาปี 2013-2025" เป้าหมายเพื่อให้มาเลเซียติดอันดับต้นๆ ของมาตรฐานด้านการศึกษาของโลก

การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลาง "คำเตือน" เกี่ยวกับระบบการศึกษาของมาเลเซียที่ตกต่ำลงอย่างมากจนถึงระดับที่เป็น อันตราย จนผู้นำฝ่ายค้านและกลุ่มนักเคลื่อนไหวออกมาเรียกร้องให้เร่งหันมาใส่ใจต่อ สถานการณ์ด้านการศึกษาที่เกิดขึ้น

การออกมาเรียกร้องอย่างแข็งขัน นี้เกิดขึ้นเนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐซาราวักผู้หนึ่ง เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการขึ้น หลังจากองค์การความร่วมมือเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) สำรวจโครงการประเมินคุณภาพนักเรียนสากล (พิซา) และพบว่ามาเลเซียถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 55 จากทั้งหมด 65 ประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นอันดับที่ย่ำแย่อย่างมาก

โดยพิซาได้สำรวจเด็กนักเรียน อายุ 15 ปี ทั้งหมด 510,000 คน จาก 65 ประเทศ เมื่อปีที่ผ่านมา โดยทดสอบด้านคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ และได้ค่าเฉลี่ยคะแนนทดสอบของนักเรียนทั้งหมดอยู่ที่ 494 คะแนน ขณะที่นักเรียนมาเลเซียได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 421 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด โดยคะแนนการอ่านของมาเลเซียคะแนนเฉลี่ยที่ 398 จากค่าเฉลี่ยโดยรวมที่ 496 วิชาคณิตศาสตร์ได้ 421 จากค่าเฉลี่ยรวม 494 และวิทยาศาสตร์ได้ 420 จากค่าเฉลี่ยรวม 501

เมื่อเปรียบเทียบกับเด็ก เวียดนามที่ได้อันดับที่ 17 มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 511 คะแนน ขณะที่นักเรียนเซี่ยงไฮ้ได้ 613 คะแนน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในการสำรวจครั้งนี้

ผลการประเมินที่ออกมานั้นทำ ให้ผู้นำฝ่ายค้านถึงกับออกมาเรียกร้องให้ "ปฏิรูป" ระบบการศึกษาของประเทศครั้งใหญ่ และตั้งคำถามเกี่ยวกับการกล่าวอ้างของ นายตัน สรี มูฮิดดิน ยันซิน รัฐมนตรีศึกษาธิการของมาเลเซีย ที่เคยบอกว่าประเทศมาเลเซียถือเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก

นาย ลิม กิต เสียง ที่ปรึกษาพรรคกิจประชาธิปไตย หรือดีเอพี พรรคฝ่ายค้านของมาเลเซียออกมาย้ำว่า มาตรฐานด้านการศึกษาระดับสากลกำลังตกต่ำลงเรื่อยๆ และเตือนให้ผู้นำและสมาชิกของพรรคอัมโน พรรครัฐบาล หันมาพิสูจน์ให้ได้ว่ารัฐบาลให้ความสนใจกับการศึกษาแทนที่จะออกมาประกาศว่า นักเรียนมาเลเซียทุกคนจะได้รับการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก

นายลิม กล่าวอีกว่า ในขณะที่มาตรฐานด้านการศึกษาของมาเลเซียย่ำแย่ลงอยางต่อเนื่อง ประชาชนเองต้องการความมั่นใจว่าพิมพ์เขียวการศึกษา 2013-2023 จะไปถึงเป้าหมายที่ว่ามาเลเซียต้องติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของการประเมินพิซาในปี 2021

อย่างไรก็ตาม งบประมาณด้านการศึกษาปี 2014 ของมาเลเซียอยู่ที่ 54,000 ล้านริงกิต หรือคิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของประเทศ ทำให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดในมวลหมู่ กระทรวงทั้งหมด

แต่นายไซริล คีร์ โจฮารี ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาของดีเอพี เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า แม้ว่ามาเลเซียจะมีงบประมาณประจำปีเพื่อการศึกษาอยู่มหาศาล แต่นักเรียนกลับยังคงมีมาตรฐานที่ต่ำในการสำรวจด้านการศึกษาระดับโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าอับอายอย่างยิ่ง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook