อึ้ง! วิจัยชี้พบทุจริตในโรงเรียน 53% โกงเวลา-ใช้สมบัติราชการหาประโยชน์

อึ้ง! วิจัยชี้พบทุจริตในโรงเรียน 53% โกงเวลา-ใช้สมบัติราชการหาประโยชน์

อึ้ง! วิจัยชี้พบทุจริตในโรงเรียน 53% โกงเวลา-ใช้สมบัติราชการหาประโยชน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อึ้ง! วิจัยชี้พบทุจริตในโรงเรียน 53% โกงเวลา-ใช้สมบัติราชการหาประโยชน์ ดัน ′ซื่อสัตย์′ วาระชาติ-ปั้นต้นแบบคนดี

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม นางพจมาน พงษ์ไพบูลย์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) เปิดเผยตอนหนึ่งในการเปิดงานผลการศึกษา "แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตในสถานศึกษาและการสร้างนักเรียนให้เป็นคนเก่ง คนดี ที่ไม่คดโกง" ที่โรงเรียนนวมินทราชูทิศ กรุงเทพฯ ว่า สพฐ.ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาทุจริตและเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมด้านความซื่อสัตย์ให้เกิดแก่ผู้เรียน จึงได้ดำเนินการโครงการโรงเรียนสุจริต โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาจากโรงเรียนนำร่องทุกภาค จำนวน 225 โรงเรียน เข้าร่วมการอบรม ในหลักสูตรจิตวิทยาความมั่นคง สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา รุ่นที่ 1 ในการพัฒนาสถานศึกษาที่ส่งเสริมการป้องกันการทุจริตและปลูกจิตสำนึกให้นักเรียนเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณธรรมของชาติ ทั้งนี้ คงไม่มีโรงเรียนใดสอนให้เด็กเป็นคนไม่ดีแต่หากเด็กเห็นพฤติกรรมไม่ดีก็สามารถซึมซับมา ดังนั้น ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาควรประพฤติตนเป็นต้นแบบที่ดี และสร้างสิ่งแวดล้อมของความถูกต้องให้เด็กเคยชิน

นางสาวรุ่งนภา นุตราวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญ สพฐ.กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณใน 45 โรงเรียนด้วยการส่งแบบสอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน นักเรียน นักวิชาการ จำนวน 330 คน เกี่ยวกับการทุจริตในโรงเรียน พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 53.08 เคยพบเห็นการทุจริตในสถานศึกษา ซึ่งพฤติกรรมที่พบเห็นมากที่สุด คือ การเบียดบังเวลาราชการเพื่องานอื่น รองลงมาคือ การใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตน การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง การแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ และประพฤติมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้าง ตามลำดับ สำหรับปัจจัยของการทุจริตและประพฤติมิชอบในสถานศึกษา พบว่า ความโลภเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด รองลงมาคือ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ผู้นำขาดคุณธรรมจริยธรรม ความทะเยอทะยาน และการถูกบีบบังคับ ตามลำดับ การวิจัยศึกษาพบอีกว่า การเสริมสร้างจิตสำนึกและค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริตเป็นแนวทางที่มีระดับความสำเร็จสูงสุดในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสถานศึกษา

ผู้เชี่ยวชาญ สพฐ.กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ ควรมีการจัดทำแผนพัฒนาเสริมสร้างความซื่อสัตย์แก่บุคลากรทางการศึกษาให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานในระบบการศึกษา กำหนดหลักเกณฑ์ในการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่งและการประเมินความดีความชอบของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนหรือบุคลากรทางการศึกษาต่างๆ บนพื้นฐานคุณธรรมจริยธรรมและให้มีน้ำหนักความสำคัญเท่าเทียมกับความรู้ความสามารถด้านการปฏิบัติงาน

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook