สรุป 10 ข่าวเด่น ปี 2556 ′การศึกษา-วัฒนธรรม′

สรุป 10 ข่าวเด่น ปี 2556 ′การศึกษา-วัฒนธรรม′

สรุป 10 ข่าวเด่น ปี 2556 ′การศึกษา-วัฒนธรรม′
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตลอดปี 2556 แม้แวดวงการศึกษาและวัฒนธรรม จะมีข่าวไม่ร้อนแรงเท่ากับการเมือง แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่โดดเด่น และสร้างสีสันไม่แพ้กัน ทั้งเรื่องทรงผม เรื่องโยกย้าย เรื่องสูญเสียบุคลากรที่มีชื่อเสียงในสังคม เริ่มตั้งแต่ข่าวแรก...


"3 รัฐมนตรี"ใน 4 ไตรมาส
เป็นอีกรอบปีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เปลืองไม่แพ้ปีก่อน หลัง นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ถูกปลดไปประมาณเดือนตุลาคม 2555 รัฐบาลปู 2 ก็ส่งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา มาเสียบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.พร้อมควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และส่ง นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช มานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ทั้งนี้ นายพงศ์เทพอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ประมาณ 8 เดือน รัฐบาลปู 3 ก็ปรับอีกครั้ง เพราะสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ครบกำหนดปลดล็อก 5 ปีที่ถูกดองไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แล้วส่ง นายจาตุรนต์ ฉายแสง กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.รอบ 2 หลังหายจากการเมืองไปกว่า 7 ปี


ผลงานที่นายสุชาติทิ้งไว้ให้นายพงศ์เทพสานต่อเรื่องสำคัญ คือ การจัดซื้อแท็บเล็ตให้นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2556 ที่ล่าช้าเกิดปัญหา จนทุกวันนี้เด็กก็ยังไม่ได้รับแท็บเล็ต ขณะที่ผลงานในฐานะรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ของนายพงศ์เทพเองก็ไม่ปรากฏ เป็นเพียงรัฐมนตรีพาร์ตไทม์ (past time) แต่งานหลักอยู่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แถมมอบอำนาจในการกำกับดูแลองค์กรหลักให้นายเสริมศักดิ์ เกือบทั้งหมด ก่อนอำลาตำแหน่งไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีเต็มตัว ผลัดเก้าอี้ให้นายจาตุรนต์เข้ามานั่งแทนในเดือนกรกฎาคม 2556


เลิก"สั้น-เกรียน"
กลายเป็นประเด็นฮอตช่วงต้นปี 2556 เมื่อนักเรียนชายกลุ่มหนึ่งเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการไว้ทรงผมของนักเรียน เรื่องจึงมาถึง ศธ. และ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ขณะนั้น จึงสั่งให้สำนักปลัด ศธ.รวบรวบกฎหมาย และยกร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องกับทรงผมนักเรียน นักศึกษาใหม่ ระหว่างนั้นก็ส่งหนังสือแจ้งไปยังโรงเรียนต่างๆ เพื่อไฟเขียวให้นักเรียนชายไว้ ′รองทรง′ ได้ จากเดิมที่โรงเรียนส่วนใหญ่กำหนดให้นักเรียนชายต้องไว้ผม ?เกรียน? ส่วนนักเรียนหญิงไว้ผมสั้น หรือยาวก็ได้ งานนี้ทำเอาสังคมวิพากษ์วิจารณ์หนัก มีทั้งเสียงสนับสนุน และเสียงคัดค้าน โดยฝ่ายที่สนับสนุน ก็เห็นควรจะ ?ปลดล็อก? ทรงผมของนักเรียนได้แล้ว เพราะทรงผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับสติปัญญา ส่วนฝ่ายคัดค้าน ก็เกรงว่านักเรียนจะมัวแต่สนใจเรื่องการทำผมตามแฟชั่น ทำไฮไลต์ ทำสีผม จนไม่เป็นอันเรียนหนังสือ เลยเถิดไปถึงขั้นอาจจะทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศได้ แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป และร่างระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ปรากฏหน้าตาให้สาธารณชนได้เห็น


"พนิตา"ย้ายขรก.สป.วุ่น
ออกตัวแรงตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่งแม่บ้าน ศธ. สำหรับ นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ. ที่เคยเป็นอดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และถูกดองในตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายด้วยการต่อสู้อย่างสุดฤทธิ์ของเจ้าตัวและด้วยการสนับสนุนโดยตรงของนายกรัฐมนตรี นางพนิตาจึงได้กลับมานั่งเก้าอี้ปลัด ศธ. ก่อนเกษียณอายุราชการ 1 ปี โดยทันทีที่รับตำแหน่งใหม่ไม่นาน ปลัดข้ามห้วยก็เริ่มเปิดศักราชโยกย้ายข้าราชการในสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เริ่มจากทยอยหมุนผู้บริหารระดับสูง แต่มาดังเป็นพลุแตก ก็ในคราวที่ออกคำสั่งแต่งตั้งรวดเดียว 11 ตำแหน่ง ไล่ตั้งแต่ ระดับผู้อำนวยการสำนักไปจนถึงระดับเจ้าหน้าที่ ซึ่งถูกติงว่า เป็นการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม เพราะหลายคนถูกย้ายจากส่วนกลางไปประจำอยู่ต่างจังหวัดโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ในที่สุดหนึ่งในจำนวนนั้นที่ถูกย้ายไปคุมสำนักประสานงานการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ตัดสินใจลาออกจากราชการ เพราะรู้ตัวดีว่า ไม่สามารถเดินทางไปปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ และมีข่าวว่า ผู้ที่ถูกโยกย้ายบางรายเตรียมตัวฟ้องร้องผู้ออกคำสั่ง ท้ายสุดแม้เรื่องจะเงียบไป แต่คดีนี้ก็ทำให้นางพนิตาอำลาชีวิตราชการอย่างไม่สวยงามเท่าที่ควร

"เด็กแห้ว"จัดซื้อแท็บเล็ตปี2ส่อล้ม!!
หลังการจัดซื้อแท็บเล็ตตามโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน แจกนักเรียนชั้น ป.1 ปีการศึกษา 2555 ซึ่งเป็นการจัดซื้อระหว่างรัฐบาลไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านพ้นไป ศธ.ก็รับไม้ต่อมาเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อเอง และเปลี่ยนวิธีการมาเป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีออคชั่น เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีสิทธิยื่นประมูล และแบ่งการจัดซื้อออกเป็น 4 โซน ขณะเดียวกันยังมีการขยายโครงการแจกชั้น

ม.1 และครู ด้วย รวมแล้วต้องแจกแท็บเล็ตประมาณ 1.6 ล้านเครื่อง วงเงิน 4,611 ล้านบาท แต่กว่าจะได้ลงมือจัดซื้อจริงๆ ก็ล่วงเข้าไปเดือนพฤษภาคม 2556 ในสมัยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และเกิดปัญหาเมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งหนังสือท้วง เพราะส่อว่าจะมีการฮั้วประมูลเกิดขึ้นในโซน 3 ของภาคกลางและภาคใต้ ของนักเรียนชั้น ม.1 และครู โดยให้เหตุผลว่า ราคาประมูลในโซนที่ 3 สูงกว่าโซนที่ 4 ของภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของนักเรียนชั้น ม.1 และครู อย่างมีนัยสำคัญ

จนกระทั่งคณะกรรมการบริหารโครงการมีมติยกเลิกการประมูลในโซนดังกล่าวเพื่อเปิดประมูลใหม่ แต่ท้ายสุดก็ยังไม่สามารถเปิดประมูลได้ เมื่อบริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด

ผู้ชนะการประมูล ไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งยกเลิกการประมูลต่อคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) ของกรมบัญชีกลาง

และ กวพ.อ. มีความเห็นว่าไม่ควรยกเลิกการประมูลในโซน 3 และให้บริษัทสุพรีมฯไปยื่นอุทธรณ์ต่อ สพฐ. ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งยกเลิกเอง จนถึงปัจจุบัน ปัญหาโซน 3 ยังไม่เป็นที่ยุติ ส่วนอีก 3 โซนที่เหลือ

แม้จะเซ็นสัญญาจัดซื้อเรียบร้อยแล้ว แต่แท็บเล็ตก็ยังไม่ถึงมือเด็ก ทั้งที่ครบสัญญาการจัดส่งไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 ส่อเค้าว่า สพฐ.จะยกเลิกสัญญากับบริษัทที่ชนะการประมูลทั้ง 3 โซนเช่นกัน เรียกได้ว่าการจัดซื้อแท็บเล็ตปีนี้ ล้มไม่เป็นท่าเลยทีเดียว


ดันปฏิรูปหลักสูตร
ผลงานเด่นที่สุดในยุคของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. คือ การเริ่มลงมือปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน ให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง ทั้งที่มีการพูดถึงเรื่องนี้กันมานาน แต่ยังไม่มีใครเริ่มเดินเครื่องจริงจัง เริ่มต้นตั้งแต่การแก้ปัญหา เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ โดยสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงมือสแกนนักเรียนครั้งใหญ่ เพื่อหาตัวเลขจริงของเด็กที่มีปัญหาด้านภาษาไทย ปรากฏว่า จากการสแกนนักเรียนชั้น ป.3 ป.6 จำนวน 1.6 ล้านคน พบว่าเด็กมีปัญหาอ่านไม่ออก อ่านไม่คล่องกว่า 4 แสนคน

ซึ่งนายจาตุรนต์ก็ได้มอบให้ สพฐ.ไปแก้ปัญหา และตั้งเป้าว่าจำนวนเด็กที่อ่านไม่ออก อ่านไม่คล่อง จะต้องเหลือ 0% ภายในสิ้นปีการศึกษา 2556 นี้ และคู่ขนานกับการการแก้ปัญหาเรื่องนี้นายจาตุรนต์ก็ได้มอบหมายให้นายภาวิช ทองโรจน์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ไปยกร่างหลักสูตรใหม่

ให้ตอบโจทย์การสอนให้เด็กไทยคิดวิเคราะห์เป็น ขณะเดียวกัน ก็มีผลวิจัยจากต่างประเทศยืนยันว่า จำนวนชั่วโมงเรียนของเด็กไทยสูงกว่าประเทศอื่น แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลับต่ำกว่าประเทศที่ชั่วโมงเรียนน้อยกว่า แนวโน้มการปรับหลักสูตรครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายเพื่อลดชั่วโมงเรียนลง และให้เวลากับการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น ล่าสุด หลักสูตรใหม่ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และทางฝ่ายการเมือง เตรียมดันร่างหลักสูตรใหม่เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อขอความเห็นชอบภายในเดือนมกราคม 2557 นี้ เพื่อให้มีผลอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะได้รัฐบาลใหม่


"โอเน็ต"เละ เหตุเพลตแตก
เล่นเอาเก้าอี้ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ของ นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ สะเทือนตั้งแต่ต้นปี 2556 จากปัญหาข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน


(โอเน็ต) วิชาภาษาไทยชั้น ม.3 ผิดและต้องให้คะแนนฟรี 20 คะแนน และมาเจอผิดซ้ำอีกจากโอเน็ต


วิชาวิทยาศาสตร์ ของ ม.6 ที่เกือบจะต้องให้คะแนนฟรี 23 คะแนน แต่สุดท้ายถูกนักเรียนทักท้วงว่าไม่เป็นธรรม สทศ.จึงต้องไปตรวจสอบใหม่ และพบสาเหตุที่ทำให้ข้อสอบผิดเกิดจากเพลตแม่พิมพ์แตก ทำให้มีการดึงข้อสอบสลับชุด ทั้งโจทย์ซ้ำ โจทย์หาย และสุดท้าย สทศ.แก้ปัญหาโดยการตรวจข้อสอบเฉพาะ 67 ข้อที่ไม่ผิดพลาดจากข้อสอบทั้งหมด 90 ข้อ และแปลงคะแนนจากข้อสอบ 67 ข้อดังกล่าวให้เป็น 100 คะแนน เพราะเห็นว่าการตัดข้อสอบ 23 ข้อ ที่มีปัญหาออกไปแล้ว ข้อสอบก็ยังเหลือเกินครึ่งที่สามารถวัดความรู้ความสามารถของเด็กในวิชานี้ได้อย่างเที่ยงตรงและเป็นธรรม อีกทั้งยังสะท้อนหลักวิชาการ สามารถอธิบายได้ตามหลักการวัดผลด้วย


มหาวิทยาลัยเถื่อนเกลื่อนเน็ต
เป็นปัญหาที่แก้ยากสำหรับการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ โดยในช่วงปีที่ผ่านมา มีข่าวร้องเรียนมหาวิทยาลัยบางแห่งแอบเปิดสอนโดยที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทำให้ผู้เรียนเกิดความเสียหาย ได้ปริญญาปลอม ใช้งานไม่ได้ ทั้งกลุ่มการศึกษาทางไกล ที่จัดการเรียนการสอนผ่านอินเตอร์เน็ต หรือมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ ที่มาเปิดสอนหรือมอบปริญญาให้แก่ผู้ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย อย่างมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก World peace University (WPU) ที่เป็นข่าวฮือฮา นำไปสู่การเปิดเผยรายชื่อมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนโดยไม่ถูกกฎหมายอีกหลายแห่ง ที่สำคัญแม้จะมีการออกมาให้ข้อมูลเหล่านี้ แต่ สกอ.ก็ไม่มีอำนาจไปดำเนินการหรือสั่งปิดได้ตามกฎหมาย ดังนั้น สกอ.จึงแก้ปัญหาโดยให้ข้อมูลกับประชาชน ผ่านศูนย์ปราบปรามวุฒิเถื่อน แขวนชื่อมหาวิทยาลัยที่ สกอ.ไม่รับรอง เพื่อให้ผู้เรียนตรวจสอบก่อนเลือกสมัคร และเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.... ที่เน้นในเรื่องการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่ร่าง พ.ร.บ.นี้ ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เรื่องนี้ทุเลาลงได้บ้างเท่านั้น คงแก้ไขไม่ได้ทั้งหมด หากเหลือบไรในวงการศึกษายังไม่หมดไป

3 บุคคลของโลกปี 2556
ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่น่ายินดี เมื่อประเทศไทยได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) โดยในคราวประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 37 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน

ที่ผ่านมา ได้ประกาศยกย่องบุคคลสำคัญของโลก 3 คน ดังนี้ 1.พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา

ประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสนอโดยสถาบันพระปกเกล้า เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี หลังจากเสด็จกลับจากการศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2457 และเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันพระราชสมภพครบรอบ 10 ปีนักษัตร ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน

2.สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เสนอโดยราชินีมูลนิธิ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันพระราชสมภพครบ 150 ปี ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาสำหรับเด็กหญิงและสตรี การศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และสังคมและมนุษยศาสตร์ และ 3.หม่อมงามจิตต์

บุรฉัตร เสนอโดยมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปีชาตกาล ในปี พ.ศ.2558 เนื่องจากเป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาชุมชน และการศึกษาด้านวัฒนธรรม

บุคคลทั้งสามซึ่งยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญระดับโลก มีคุณงามความดีที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างมาก และมีคุณูปการต่อการศึกษาไทยด้วย จึงนับว่าเป็นเกียรติประวัติของประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมา


เด้ง"สหวัฒน์" พ้นอธิบดีกรมศิลป์
เรียกว่าเป็นการเด้งฟ้าผ่าแห่งปี ในยุค นายสนธยา คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ที่สั่งโยกย้าย นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร ไปเป็นผู้ตรวจราชการ วธ. ทั้งที่นายสหวัฒน์เหลือการทำงานเพียงแค่ 2 เดือนเศษ ก็จะเกษียณอายุราชการ สาเหตุหลักคาดว่ามาจากการทำงานไม่เข้าตา แถมสวนทางนโยบายกระทรวง ?คุณปลื้ม? ในหลายๆ เรื่อง นายสนธยาเลยตัดสินใจโยกคนที่ทำงานเข้าตามาเสียบแทน แบบไม่รอเกษียณเลยทีเดียว


ขโมยวัตถุโบราณ พิพิธภัณฑ์ชัยนาทมุนี
ทําเอาอึ้งเลยทีเดียวเมื่อ 2 คนงานลงมือขโมยวัตถุโบราณชิ้นสำคัญๆ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ไป 58 รายการ 59 ชิ้น อาทิ งาช้างขนาดใหญ่ยาว 105 เซนติเมตร หายไป 1 คู่ งาช้างขนาดเล็ก 1 คู่ พระพิมพ์สมัยโบราณที่พบในกรุ เหรียญรัชกาลที่ 5 ภาชนะเครื่องเคลือบดินเผา และวัตถุโบราณอื่นๆ และแม้จะตามจับคนร้ายมาลงโทษได้


แต่วัตถุโบราณที่หายไปก็ไม่สามารถตามกลับมาได้ครบ โดยได้คืนมาเพียงไม่กี่ชิ้น ทำให้สังคมต้องตั้งคำถามกับระบบรักษาความปลอดภัยของพิพิธภัณฑ์ทุกแห่ง ซึ่งแม้อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น จะออกมายืนยันว่ารัดกุม แต่ก็ยังไม่สร้างความเชื่อมั่น เพราะที่ผ่านมาเราต้องเสียสมบัติชาติให้กับคนโลภไปแล้วจำนวนมาก

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หน้า 15 ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม 2556

โดย ทีมข่าวการศึกษาและวัฒนธรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook