การศึกษาไทย : สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่

การศึกษาไทย : สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่

การศึกษาไทย : สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การศึกษาถือเป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศในทุกมิติ สื่อสัญญะทางการศึกษาประการหนึ่งแสดงว่าการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพคือ "ผลผลิต" เหล่านั้นสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขและพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญใน การพัฒนาประเทศชาติต่อไป

สิ่งที่เห็น : การศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ

ตั้งแต่มีการก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ถือว่าการศึกษาไทยได้สร้างตัวตนในการวางรากฐานของการจัดการศึกษาอย่างมีระบบ ระเบียบ และเป็นแบบแผนมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้มีการลอกเลียนแบบการศึกษาของชาติที่เจริญแล้ว (โครงการศึกษา พ.ศ. 2441 ลอกเลียนแบบจากอังกฤษ, โครงการศึกษา พ.ศ. 2445 ลอกเลียนแบบจากญี่ปุ่น) มาเป็นสารัตถภาพของการดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม รัฐไทยได้พยายามนำการศึกษามาสร้างและจับมาเป็นตัวแปรที่มีความหมายของการพัฒนากับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย แต่สิ่งที่เห็นและภาพที่ฉายต่อสังคมนั้น ดูเหมือนจะปรากฏออกมา ดังนี้

1. ความระส่ำระสายทางการเมือง เป็นที่รู้ดีว่าการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา ยากที่จะแยกออกจากกันได้ ประเทศไทยมีความผันผวนทางการเมืองตลอดเวลา ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่การทำงานของรัฐบาล (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) มีการสะดุด และส่งผลต่อการชะงักงัน (Stagnation) ทางการศึกษา

บ่อยครั้งที่สถานศึกษาปิดทำการเรียนการสอนเพราะความระส่ำระสายทางการเมือง ชะตากรรมทางการศึกษาของผู้เรียนดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับการเมือง สุดท้ายการศึกษาก็ขาดเสถียรภาพตามไปด้วย

2. นโยบายทางการศึกษา นโยบายถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาประเทศ แต่นโยบายในบางยุคบางสมัยขาดความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซ้ำร้ายมิได้ต่อเติมและเสริมแต่งกับแผนเดิม บางนโยบายจัดทำขึ้นมาเพื่อเรียก "เสียง" ประชานิยมมากกว่า ขาดการปรับใช้ให้เหมาะสมและโยงใยกับแผนเดิม

อาจจะมาจากเหตุผลประการหนึ่ง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนั้นมาจาก "การเมือง" ผลลัพธ์ของนโยบายการศึกษาที่ออกมาจึงมีลักษณะ "จัดการศึกษาไทยแบบตามใจฉัน" สุดท้ายก็เป็นไปตามยถากรรม กลายเป็นกรรมร่วมของผู้ปกครอง ครู/อาจารย์ และผู้เรียนอย่างเห็นได้ชัด

3. งบประมาณทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของงบประมาณด้านอื่นๆ ของการพัฒนาประเทศ นอกจากงบประมาณที่ค่อนข้างน้อยแล้ว สิ่งที่เห็นและปรากฏต่อสังคม คือ การคอร์รัปชั่น ซึ่งมีมากและเกือบจะทุกหน่วยงานทางการศึกษาก็ว่าได้

ฉะนั้น อยากให้ผู้ที่เป็น "เสาหลัก" และ "สายราก" หันมายึดความซื่อสัตย์สุจริตกับการทำงานมากขึ้น การกระทำบนพื้นฐานอย่างนี้สามารถกล่าวได้ว่า งบประมาณที่ได้รับมีน้อย แต่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

4. การบริหารจัดการ ผู้เขียนมีมุมมองว่าอยากให้แต่ละภูมิภาคของประเทศ มีคณะกรรมการการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาส่วนภูมิภาค หรือ Regional Committee for Education Development ซึ่งมีหน้าที่และสามารถบริหารจัดการทางการศึกษาได้ทุกอย่าง เบ็ดเสร็จในกิจกรรมทางการศึกษาทุกเรื่อง แต่ทั้งนี้ ต้องสอดคล้องกับทิศทางและความต้องการของรัฐชาติด้วย

จากการสังเกตการบริหารจัดการของการศึกษาไทยที่ผ่านมามีความอิสระและคล่องตัว (Privatization/Autonomy) ค่อนข้างน้อย จึงทำให้เห็น "ทางแยก" ระหว่างการจัดการศึกษาอย่างชัดเจน

กล่าวคือ การศึกษาไทยถูกควบคุม/กำกับ ด้วยหน่วยงานที่สถาปนาความศักดิ์สิทธิ์แห่งตนขึ้นมา บางหน่วยงานเข้ามามีอำนาจ "ชี้เป็นชี้ตาย" ให้กับการศึกษาไทยอย่างเห็นได้ชัดเจน วาทกรรมแห่งมาตรฐานจึงกลายเป็น "ความจอมปลอม" ต่างจากในอดีต การจัดการศึกษาแทบไม่มีการประกันคุณภาพจากหน่วยงานภายนอกเลย

แต่อย่างไรการศึกษาในแต่ละระดับล้วนสามารถปั้นแต่งผู้คนออกมารับใช้บ้านเมืองได้เป็นอย่างดี

การศึกษาไทย : สิ่งที่เป็นอยู่

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนาทางด้านการศึกษาให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ และสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนไปตามกระแสแห่งการปริวรรตของสังคมโลก แต่สิ่งที่เป็นอยู่ บางอย่างยังเป็นภาพฉายที่เกิด "คำถาม" และยังเป็น "ข้อสงสัย" ให้กับนักการศึกษาอยู่เป็นอันมาก

ในมณฑลของสังคมแห่งการเรียนรู้และปริเขตของสภาพการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน จำเป็นอย่างยิ่งที่การศึกษาไทยจะต้องสร้างความแข็งแกร่งในทุก ๆ ด้านให้มากกว่าเดิม มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอยู่ คือ การจัดการการเรียนการสอน ถึงแม้ว่าจะมีการนำเอาเทคนิควิทยาการต่างๆ เข้ามาผสมผสานกับการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน แต่ความเป็นจริง ความรู้/ข้อความรู้ของผู้สอน หรือแม้แต่การแนะนำ รวมทั้งการตรวจงานของผู้สอนดูเหมือนว่ายังขาดความเชี่ยวชาญและเอาใจใส่

จะเห็นได้ว่ายังมีผู้เรียนบางส่วนลอกข้อมูลที่ถูกเผยแพร่มาจากสื่อเทคโนโลยี ทั้งหลายแล้วนำมาส่ง แต่ผู้สอนไม่สามารถตรวจสอบได้ ด้วยเหตุที่ว่าอ่านน้อยและไม่ทันกับเทคโนโลยี ฉะนั้น สถาบันทางการศึกษาหลายแห่งจึงกลายเป็น "แหล่งเรียนรู้ลอกกัน" มิใช่ "แหล่งเรียนรู้ร่วมกัน"

ความร่วมมือระหว่างชุมชนกับสถานศึกษา สิ่งที่เป็นอยู่นี้ถือว่า "ความร่วมมือ" ค่อนข้างน้อย เวลาจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษายังมีภาพที่ปรากฏให้เห็นว่าชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมน้อย ความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจึงตกต่ำลงไปทุกที ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าชุมชนบางที่กับหน่วยการศึกษา

บางหน่วยงานยังมีลักษณะ "ชิงดีชิงเด่น" กันมากกว่าที่จะแย่งกัน "ทำดีทำเด่น" คุณภาพ และอัตลักษณ์ จะเห็นว่าสถานศึกษาหลายแห่งมิได้ยึดถือ "คุณภาพ" และ "อัตลักษณ์" ของตนเอง ขาดการบ่มเพาะและขาดความเป็นเทวาลัยแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง วาทกรรมของสหวิทยาการของ "บูรณาการ" จึงกลายเป็น "บูรณาเกิน" จนไม่หลงเหลืออัตลักษณ์ของตนเองเลย สถานศึกษาหลายแห่งขาดคุณภาพ ไปเน้นที่ปริมาณ จึงทำให้การศึกษาไทยคุณภาพแย่ลงทุกที

จริง ๆ แล้วด้วยบริบทแห่งพื้นฐานของสังคมไทย ตลอดจนความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการพัฒนาการศึกษาของชาติให้มีความก้าวไกล และทันต่อประชาคมโลกนั้น ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นที่สุด เพียงแต่ลดการคอร์รัปชั่นในทุกๆ เรื่อง เข้าใจแก่นแกนของคำว่า การศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศให้มากขึ้น และสุดท้าย การศึกษาต้องให้ชีวิตที่แท้จริงกับเด็กไทยทุกคน

คิดและสามารถทำได้เช่นนี้ คงเรียกได้ว่ากุศลทางการศึกษาแล้วครับ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.ธงชัย สมบูรณ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook