"มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย" เปิดนิติศาสตร์เฉพาะทาง ปั้นนักกฎหมายชำนาญเศรษฐกิจ

"มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย" เปิดนิติศาสตร์เฉพาะทาง ปั้นนักกฎหมายชำนาญเศรษฐกิจ

"มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย" เปิดนิติศาสตร์เฉพาะทาง ปั้นนักกฎหมายชำนาญเศรษฐกิจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ด้วยวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ต้องการเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจ จึงทำให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเน้นตอบโจทย์การค้าและการลงทุน เห็นได้ชัดเจนคือหลักสูตรการเรียนการสอนที่ปรับแนวทางให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน อย่างล่าสุดคณะนิติศาสตร์ได้ปรับเปลี่ยนจากการสอนสาขานิติศาสตร์มาเป็น 7 สาขาใหม่ทางด้านกฎหมายธุรกิจ

"รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม" คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทยกล่าวว่า คณะนิติศาสตร์จะเน้นความเกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสาขาใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาล้วนเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่างประเทศมีการเปิดสอนกฎหมายเฉพาะด้านมานานแล้ว สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการเปิดสอนชัดเจน

"ปีการศึกษา 2557 เราจึงเปิดรับนักศึกษาประมาณ 280 คน แล้วให้เลือกสาขาที่ตัวเองสนใจ โดยเราจะเทรนเขาตั้งแต่ปี 1 เป็นการเพาะความสามารถตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญตามลำดับก่อนที่จะมาเรียนวิชาเฉพาะทางในปี 3-4 ถือเป็นข้อดีคือนักศึกษาจะรู้เลยว่าตัวเองจะไปทำอาชีพกลุ่มไหน อย่างไรก็ตาม หากเขาจบไปแล้วอยากเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน เพราะผ่านการเรียนตามหน่วยกิตที่กำหนด"


รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม

สำหรับ 7 สาขากฎหมายธุรกิจ ได้แก่ 1) สาขาเทคโนโลยี และธุรกิจสร้างสรรค์ ศึกษาเกี่ยวกับประเภทของงานที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทย, สิทธิ์ตามกฎหมายของผู้เป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ และกฎหมายลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล รวมถึงศึกษาถึงสิ่งที่สามารถได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร, สิทธิ์ของผู้มีสิทธิบัตร, การบังคับใช้สิทธิ์ และกระบวนการยื่นขอรับสิทธิบัตร

2) สาขาการค้าระหว่างประเทศ นักศึกษาจะได้เรียนรู้วิชาที่สอนเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้า ภายใต้กรอบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน, กรอบองค์การการค้าโลก และกรอบข้อตกลงอื่น ๆ ทั่วโลก ทั้งด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน

3) สาขาตลาดทุน การเงิน และภาษี ศึกษากฎหมายเกี่ยวกับตลาดเงินและตลาดทุน, ธุรกิจหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ฯ, การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจ นอกจากนี้ยังจะได้ศึกษารูปแบบการบริหารจัดการแหล่งเงินทุนขององค์กรธุรกิจจากสถาบันการเงิน และจากการระดมทุนของประชาชน ตลอดจนศึกษาแนวทางปฏิบัติ ภาระภาษี และการวางแผนภาษีขององค์กรธุรกิจ

4) สาขาวิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสาร เน้นความเชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแล (Regulation) ซึ่งเป็นพื้นฐานของกฎหมายสมัยใหม่ โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญในกิจการวิทยุ โทรทัศน์ การสื่อสาร รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ

5) สาขาโลจิสติกส์และซัพพลายเชน นักศึกษาจะได้ศึกษาการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางทะเล ประกอบกับการจัดซื้อสินค้าข้ามชาติ และการขนส่งทางบก อันรวมถึงการกระจายสินค้า และยังได้ศึกษากฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตราย และสินค้าคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งโซ่อุปทานและโลจิสติกส์

6) สาขาธุรกิจแฟรนไชส์ การขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกในโลกนั้น 1 ใน 3 ใช้ระบบแฟรนไชส์ และธุรกิจแฟรนไชส์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดของประเทศไทยที่มีการสอนด้านนี้ชัดเจน ซึ่งไม่เพียงแต่การจบไปเป็นนักกฎหมายให้กับภาครัฐและภาคธุรกิจเท่านั้น แต่สาขาวิชานี้ยังเป็นประโยชน์โดยตรงกับผู้ที่สนใจเป็นผู้ประกอบการในระบบแฟรนไชส์อีกด้วย

7) สาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ เรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการทุนมนุษย์ขององค์กร ทั้งรูปแบบบริหารและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่การจัดหาคนให้เหมาะสมกับองค์กร การพัฒนาการจัดแพ็กเกจด้านสวัสดิการ การรักษาพนักงาน การระงับข้อพิพาทภายในองค์กร รวมถึงประเด็นใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวกับเอชอาร์

"รศ.สุธรรม" บอกว่าสาขาข้างต้นมีนักกฎหมายทำงานอยู่แล้ว แต่กว่าที่จะเป็นนักกฎหมายเฉพาะด้านต้องมีประสบการณ์การทำงานพอสมควร หรือมี Learning Curve ที่นานประมาณเกือบ 10 ปี และคิดค่าใช้จ่ายการว่าจ้างที่แพงมาก แต่ ม.หอการค้าไทยต้องการผลิตคนรุ่นใหม่ป้อนเข้าไปในตลาดงานทันทีหลังเรียนจบ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของผู้จ้างถูกลงด้วย

"สำหรับอาชีพการทำงาน หากไม่ได้เป็น Law Firm แต่เขียน Contract ธุรกิจเป็นภาษาอังกฤษได้ ก็มีรายได้เป็นหลักแสนแล้ว อีกทั้งจุด ๆ หนึ่งทุกบริษัทต้องใช้นักกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อซื้อขาย หรือทำสัญญาอื่น ๆ โดยเท่าที่ผมทราบถ้าเป็น Global Firm ด้านแฟรนไชส์จะมีแค่ 5-6 Firm หรือด้านบันเทิงก็มีแค่ 3 Firm ส่วนสาขาที่ขาดคนมาก ๆ และค่าตัวนักกฎหมายแพงคือสาขาตลาดทุน, การเงินและภาษี ซึ่งมีอยู่แค่ 5 Firm เท่านั้น"

นอกจากนั้น "รศ.สุธรรม" ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้วางแผนจะเปิดเป็น Joint Degree เรียน 5-6 ปีแล้วแต่กรณี และได้ปริญญา 2 ใบ คือ เรียนกฎหมาย และไปเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องของคณะอื่นด้วย ทำให้นักศึกษามีทางเลือกมากขึ้น โดย 7 สาขาที่เปิดเป็นสาขาที่ ม.หอการค้าไทยมีอยู่แล้ว

"นักศึกษาที่เรียนกฎหมายสาขาโลจิสติกส์และซัพพลายเชนสามารถลงเรียนเพิ่มเติมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือนักศึกษาที่เรียนสาขาวิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสาร ก็ไปเรียนของคณะนิเทศศาสตร์ได้เช่นกัน และคาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะเปิดระดับปริญญาโท โดยสาขาที่เปิดจะเป็นสาขาเฉพาะทางที่ล้อไปกับระดับปริญญาตรี"

ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปเป็นนิติกรผู้เชี่ยวชาญที่หาตัวจับยากของวงการกฎหมายธุรกิจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook