กยศ.แฉผู้กู้′สช.-ม.เอกชน′เบี้ยวหนี้สูงสุด 60%

กยศ.แฉผู้กู้′สช.-ม.เอกชน′เบี้ยวหนี้สูงสุด 60%

กยศ.แฉผู้กู้′สช.-ม.เอกชน′เบี้ยวหนี้สูงสุด 60%
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง "บทบาทของสถานศึกษากับความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานกองทุน" ในการสัมมนาพิเศษระดับผู้บริหารบทบาทของสถานศึกษาที่ดำเนินงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า กยศ.ควรคิดอัตราดอกเบี้ยที่เพียงพอต่อการบริหารกองทุน และต้องจัดการกับผู้เบี้ยวหนี้ เลิกเกรงใจคนโกง เงิน กยศ.เป็นเงินภาษีคนไทยรวมถึงคนยากจน คนเบี้ยวหนี้ คือคนโกง นอกจากจะโกงเงินแล้วยังโกงโอกาสรุ่นน้อง ฉะนั้นต้องเลิกเกรงใจ และสถานศึกษาต้องอบรมจิตสำนึกให้นักเรียนนักศึกษามีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม จะได้ไม่เกิดปัญหาเบี้ยวหนี้

ด้านนางฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า ขณะนี้มีเงินครบกำหนดที่ต้องใช้คืน 72,412.13 ล้านบาท มีผู้กู้ค้างชำระ 38,238.93 ล้านบาท คิดเป็น 53% ของจำนวนเงินที่ต้องชำระคืนทั้งหมด เมื่อแบ่งตามสังกัด พบว่าเป็นผู้กู้ที่เคยศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ค้างมากที่สุด 65% รองลงมามหาวิทยาลัยเอกชน คิดเป็น 62%

ทั้งนี้ ปีนี้ กยศ.จะเริ่มตรวจสอบผู้ค้างชำระจากเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อให้ทราบที่อยู่ และที่ทำงานของผู้กู้ ขณะเดียวกันได้ลงนามความร่วมมือกับองค์กรนายจ้าง เพื่อให้ตรวจสอบลูกจ้างตนเองที่กู้เงิน กยศ.ให้รีบชำระคืน และในปี 2561 จะเริ่มนำชื่อของผู้ค้างชำระตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ระบบข้อมูลเครดิตบูโร

สำหรับแนวทางแก้ปัญหา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สามารถกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ส่วนนักเรียนชั้น ม.6 ที่เคยกู้ กยศ. ก็สามารถเปลี่ยนมากู้ กรอ.ได้ ขณะที่ผู้กู้รายใหม่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีทุนจำนวนมาก จึงน่าจะบรรเทาปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม จะนำปัญหาเข้าหารือที่ประชุมคณะกรรมการ กยศ. วันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook