น้ำตาล-กนกกาญจน์ จากพริตตี้ไฮคลาส สู่นักบินสาวสุดเท่

น้ำตาล-กนกกาญจน์ จากพริตตี้ไฮคลาส สู่นักบินสาวสุดเท่

น้ำตาล-กนกกาญจน์ จากพริตตี้ไฮคลาส สู่นักบินสาวสุดเท่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"นักบิน" อาจเป็นอาชีพในฝันของเด็กผู้ชายหลายๆ คน แต่ก็ไม่แปลกหากจะมีเด็กผู้หญิงสักคนที่ฝันอยากจะเป็นนักบินบ้าง และหนึ่งในนั้นคือสาวสวยหุ่นดีอดีตพริตตี้ระดับไฮคลาส "น้ำตาล-กนกกาญจน์ เต็มพิทักษ์" ที่วันนี้ความฝันของเธอได้เป็นจริงแล้ว

จุดเริ่มต้นความฝัน

"เริ่มจากการที่คุณพ่อและคุณปู่ของเราเป็นนักบินมาก่อนค่ะ คุณพ่อจะชอบพาไปขึ้นเครื่องบินด้วยซึ่งเราก็เห็นและซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ เลย พอมีคนถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราเลยถามคุณพ่อว่าถ้าจะเป็นนักบินต้องเรียนอะไร ท่านก็บอกว่าให้เราเรียนอะไรก็ได้ที่อยากเรียน พอจบปริญญาตรีแล้วค่อยมาสอบเวชศาสตร์การบินเอาก็ได้ เราก็เลยสอบตรงเข้าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลก็เลยเรียนที่นี่จนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1 แต่ด้วยจังหวะที่จบมาประมาณครึ่งปีแล้วก็ยังไม่มีที่ไหนเปิดรับสมัครนักบิน เพราะตอนนั้นอยู่ในช่วงการเมืองมีปิดสนามบิน ก็เลยเลือกที่จะเรียนเองที่ Royal Sky Aviation Center หลังจากสอบเวชศาสตร์การบินเสร็จแล้ว"

เส้นทางสู่นักบินหญิง "นกน้ำตาล"

"เมื่อสอบเวชศาสตร์การบินผ่านจะเป็นการทดสอบร่างกาย และทดสอบทางจิตวิทยาว่าเราเหมาะสมที่จะเป็นนักบินหรือไม่ ดูว่าเราทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันได้หรือเปล่า หรือสามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้มั้ย จะมีวิธีทดสอบทั้งที่เป็นเปเปอร์และแบบสัมภาษณ์กับนักจิตวิทยา พอสอบตรงนี้ผ่านก็เข้ามาเรียนที่ Royal Sky ซึ่งต้องผ่านการเป็นนักบินส่วนบุคคลก่อน และอันสุดท้ายคือเป็นนักบินพาณิชย์ ก็จะสามารถหางานทำได้เลย แต่พวกงานสายการบินจะแตกต่างจากงานทั่วไปตรงที่ไม่เปิดรับสมัครอยู่ตลอดเวลา แต่จะเปิดเป็นรอบๆ ไป พอมีโอกาสเลยไปสมัครเข้าที่บริษัทสยามแลนด์ฟลายอิ้งอยู่ในเครือของซีพี เราก็อยู่ที่นี่ประมาณ 6-7 เดือน แล้วย้ายไปที่สายการบินนกแอร์ ซึ่งเราเป็นนักบินหญิงคนที่ 4 ของนกแอร์ค่ะ"

เมื่อผู้หญิงต้องทำงานในโลกของผู้ชาย

"คือเรารู้อยู่ตั้งแต่แรกแล้วว่ามีแต่ผู้ชายมันก็เลยไม่ได้รู้สึกอะไร ก็โอ.เค. ดีค่ะ แต่เราก็เข้ามาอยู่ในสังคมที่มีแต่ผู้ชาย ก็ต้องปรับตัวให้ชินและเข้ากับเขาให้ได้ค่ะ ส่วนในเรื่องของความสามารถที่อาจมองว่าเราเป็นผู้หญิงซึ่งอาจจะด้อยกว่าผู้ชาย เราคิดว่ามันขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคนมากกว่า"

icon-pin ความประทับใจในการเป็น "นักบินหญิง"
"ภูมิใจค่ะ เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นได้ บางคนฝันว่าอยากเป็นแต่ไม่รู้ว่าจะเข้ามาในอาชีพนี้ได้ยังไงหรือบางคนติดปัญหาเรื่องสุขภาพ หรือสอบติดแต่ไม่ผ่าน ไม่เหมาะสมที่จะเป็น และถึงแม้ว่าจะเรียนเก่งขนาดไหน ถ้าคุณไม่เหมาะสมก็ไม่ผ่านและไม่ได้เป็นนักบิน ต้องดูในหลายๆ อย่าง ก็เลยภูมิใจที่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นเหมือนเราได้ ยิ่งเราเป็นผู้หญิงด้วยเราก็รู้สึกว่าเราทำได้ดีเทียบเท่าผู้ชาย ภูมิใจมากค่ะที่เราเป็นคนจำนวนน้อยที่สามารถทำในสิ่งที่คนจำนวนมากใฝ่ฝันไว้ได้"

เป้าหมายในอาชีพ "นักบิน"

"สำหรับ ตอนนี้อยากเป็นกัปตันที่ดีค่ะ เพราะว่าตอนนี้เราก็เพิ่งเข้ามาเป็น Co-Pilot แต่พอเป็นกัปตันแล้วก็อยากจะสามารถแก้ปัญหาและแก้สถานการณ์ได้ทั้งหมด แต่ก็คงอีกนานค่ะ เพราะการเป็นกัปตันต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ความพร้อมหลายๆ อย่างด้วย"

นักบินคนสวยผู้เคยผ่านเวทีนางงาม

"เวทีมิสไทยแลนด์เวิลด์ปี 2010 ค่ะ ช่วงนั้นยังเรียนเป็นศิษย์การบินอยู่ที่ Royal Sky ส่วนมากนักบินที่ห้าวๆ ทอมๆ ก็มีเยอะนะ แต่ด้วยความที่เราก็เป็นแนวนี้มานานแล้วก็ไม่ได้สนใจว่าในห้องบินจะมีแค่เรากับกัปตัน เราก็จะแต่งหน้าอยู่ดี กัปตันก็ถามว่าเห็นกันอยู่สองคนจะแต่งหน้าทำไม คือหนูเห็นของหนูคนเดียวว่าสวยก็ภูมิใจแล้วค่ะ (หัวเราะ)"

"พริตตี้-นักบิน" สองงานที่คอนทราสต์

"ก่อนหน้านี้เราก็เคยเป็นพริตตี้ค่ะ คือเราทำมาตั้งแต่ตอนเรียน แต่เราลงทุนไปกับค่าเรียนนักบินค่อนข้างเยอะ ยังไงก็ต้องหางานทำเพื่อใช้เป็นค่าเรียน จริงๆ ชอบทั้งสองงานนะคะ อย่างพริตตี้ก็ได้แต่งตัวสวยๆ ยืนสวยๆ ซึ่งมันก็เป็นความสุขของผู้หญิงเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เราก็ทำคู่กันมาตลอดแต่ตอนนี้มีงานหลักแล้วเราก็ต้องเลือก อย่างเมื่อก่อนที่ทำของซีพีเป็นเครื่องส่วนตัว บินค่อนข้างน้อยเลยทำพริตตี้ควบคู่ไปได้ แต่พอย้ายมาอยู่นกแอร์ก็ไม่ได้ทำแล้ว เพราะมันมีผลต่อความน่าเชื่อถือด้วยความที่เราเป็นนักบินอาจมองว่าไม่เหมาะสมอย่างเราขับเครื่องบินเป็นคนตัดสินใจแล้วถ้าเกิดผู้โดยสารไปเห็นเรายืนถ่ายรูปอยู่กับรถแล้วเขาจะคิดยังไง เลยมองว่าอาจจะไม่เหมาะสมค่ะ"

อาชีพนี้ไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนคิด

"ไม่ได้ยากขนาดนั้นค่ะ คือถ้าเรามีความตั้งใจที่จะเรียน เราก็ต้องตั้งใจทำให้ได้ ต้องขยันอ่านหนังสือเพราะว่าข้อมูลที่ใช้ประกอบค่อนข้างเยอะอย่างทุกวันนี้ตัวตาลเองยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเครื่องยนต์ที่แท้จริงเลย ก็เหมือนกับผู้หญิงกับเรื่องเครื่องยนต์เราก็ไม่ค่อยชอบ แต่เวลาเรียนก็เข้าใจแต่ไม่ได้มองภาพออกเหมือนผู้ชาย เพราะบางคนสนใจเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ซึ่งต่างกับเราที่จะออกแนวท่องจำมากกว่า แต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะเสียเปรียบผู้ชายนะ เพราะเราก็พยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจกับมันตลอดเวลาค่ะ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook