จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย ของ ม.รังสิต

จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย ของ ม.รังสิต

จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย ของ ม.รังสิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

‘วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ' ผนึกรวมจุดแข็งด้านการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีอาหาร ผลักดันผลผลิตทางการเกษตรของไทยสู่ครัวโลก

"การเกษตรถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศไทยเป็นอย่างมาก แต่การศึกษาด้านการเกษตรที่มีการเรียนการสอนอยู่นั้นไม่เป็นที่นิยมทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับโรงเรียน ซึ่งถ้าเรามีแนวคิดใหม่เรื่องการเกษตรที่เป็นนวัตกรรมจริงๆ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะฟื้นฟูและเข้มแข็งได้ เพราะจุดแข็งของประเทศไทยเรานั้นมีอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการแพทย์ โดยพื้นฐานวัฒนธรรมของคนไทยมีใจรักในการบริการ (Service Mind) 2. ด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากประเทศไทยมีภูมิประเทศที่สวยงาม ศิลปวัฒนธรรมของไทยมีเอกลักษณ์ จึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวจึงนิยมมาเที่ยวเมืองไทย 3. ด้านครีเอทีฟอาร์ต ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางด้านการออกแบบ และ 4. ด้านการเกษตร โดยคาดหวังว่าผลิตผลจากเกษตรกรไทยจะไปไกลถึงครัวโลก"
จากวิสัยทัศน์ของอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่วางรางฐานให้มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตได้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ และต่อจากนี้มหาวิทยาลัยรังสิตมีความพร้อมที่จะเปิดหลักสูตรนวัตกรรมเกษตร เพื่อเสริมจุดแข็งอีกหนึ่งด้านในการพัฒนาประเทศ


"เราเริ่มเปิดคณะเทคโนโลยีชีวภาพมากว่า 20 ปี มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยเสนอให้ปิดคณะแต่เราก็ทำไม่ได้ เพราะนี่คือความหวัง ความตั้งใจ หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพ ถือเป็นแห่งแรกของมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีการเรียนการสอนทางด้านนี้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ดังนั้น จึงมาตกผลึกว่าเราจะตั้งวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย 1. คณะนวัตกรรมเกษตร 2. คณะเทคโนโลยีชีวภาพ 3. คณะเทคโนโลยีอาหาร และ 4. ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นที่ปรึกษาและบริหารวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ได้แก่ ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อดีตคณบดีคณะเกษตรศาสตร์และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นอธิการ อาจารย์พีระพงศ์ สาคริก อดีตกรรมการผู้จัดการตลาดกลางสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (ตลาดไท) เป็นรองอธิการฝ่ายบริหารและกิจการนักศึกษา รศ.ดร.ไพบูลย์ กวินเลิศวัฒนา นักวิชาการด้านการเกษตร เป็นรองอธิการฝ่ายวิชาการและวิจัย ทั้งนี้ เพื่อต้องการพัฒนาด้านการเกษตรให้เกษตรกรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเราจะสร้างนวัตกรรมการเกษตรที่แตกต่างไปจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ เป็นนวัตกรรมการเกษตรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ที่เรียกว่า บูทีคเกษตร (Boutique Agriculture) เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และส่งเสริมผลผลิตจากการเกษตรไทยสู่ครัวโลก ดร.อาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติม
(ล้อมกรอบ)


"การเปิดวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยี เป็นการคิดนอกกรอบ ถือเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ บนพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คือ การเกษตร คืนสู่แผ่นดินที่อยู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร โดยที่ไม่ต้องคาดหวังว่าเราจะไปได้ไกลอย่างญี่ปุ่น แค่เทียบเท่าไต้หวันก็เป็นที่น่าพอใจแล้ว ซึ่งผมคิดว่าเราน่าจะไปได้"


ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า คณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นการนำเทคโนโลยีและการจัดการเข้ามาผสมผสานกัน เป็นหลักสูตรเทคโนโลยีเกษตร ซึ่งจะแตกต่างจากหลักสูตรเกษตรทั่วๆ ไป คือ หลักสูตรวิทยาศาสตร์เกษตร ดังนั้น วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ จึงเป็นการบูรณาการและเชื่อมโยงศาสตร์ความรู้ต่างๆ ของคณะนวัตกรรมเกษตร คณะเทคโนโลยีชีวภาพ และคณะเทคโนโลยีอาหาร เข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรให้ดีขึ้น ดังนั้น แนวทางของวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ จึงเป็นเรื่องของ Smart Farmer, Smart Technology ซึ่งเราจะพัฒนากำลังพลในส่วนนี้เพิ่มเติม โดยเริ่มต้นจากการนำไบโอเทคโนโลยีมาพัฒนาทางด้านการเกษตร ได้แก่ การคิดค้นพัฒนาสายพันธุ์ของพืชก่อนนำมาเพาะปลูก พัฒนาเทคโนโลยีในกระบวนการการผลิตก่อนที่จะนำไปสู่การขยายการผลิตในปริมาณที่มากขึ้น พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย (ตัวอย่างบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ CP)


รองศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ กวินเลิศวัฒนา รองอธิการฝ่ายวิชาการและวิจัย วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพจะประกอบไปด้วย 3 คณะ และ 1 ศูนย์วิจัย ได้แก่ 1. คณะเทคโนโลยีชีวภาพ ที่เน้นการเรียนการสอนด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งจะแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในเรื่องของการคิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นของมหาวิทยาลัยรังสิตเอง 2. คณะนวัตกรรมเกษตร เน้นการเรียนการสอนให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถในการบูรณาการศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้เป็นเกษตรอัจฉริยะ เพื่อแข่งขันกับต่างประเทศได้ 3.คณะเทคโนโลยีอาหาร เป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีอื่นๆ มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ และ 4. ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ มีหน้าที่บูรณาการเชื่อมโยงสิ่งที่เกี่ยวข้องและ/หรือต่อยอดงานวิจัยจากทั้ง 3 คณะให้เป็นรูปธรรมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นช่องทางในการส่งต่องานวิจัยให้ตรงกับความสามารถของคณาจารย์ เป็นต้น


ด้าน อาจารย์พีระพงศ์ สาคริก รองอธิการฝ่ายบริหารและกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยรังสิต มีความมั่นใจว่านักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ สามารถออกไปปฏิบัติงานในอุตสาหกรรม เป็นเจ้าของกิจการ และเป็นกำลังสำคัญในภาคธุรกิจด้านการเกษตรอย่างแน่นอน เพราะมหาวิทยาลัยรังสิตมุ่งที่จะผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่ที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตร รวมทั้งคิดค้นนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไปสู่ระดับนานาชาติ

นวัตกรรมเกษตร Smart Farm การจัดการฟาร์มอัจฉริยะ
รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร สุวรรณกุล รักษาการคณบดีคณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า นวัตกรรมเกษตร เป็นหลักสูตรที่มุ่งสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการบูรณาการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ในการวางแผนบริหารจัดการฟาร์ม โดยใช้ทรัพยากรการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้ภาพรวมของการเกษตรทั้งระดับครัวเรือน ภูมิภาค และการเกษตรโลก จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งนักวิชาการและเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จทางด้านเกษตรกรรมโดยตรง ซึ่งในเบื้องต้นจะเน้นการผลิตพืชเป็นหลัก นักศึกษาจะได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติการจริงในโรงเรือนปิด (Green House) เรียนรู้การเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เต็มรูปแบบทั้งระบบ เช่น เครื่องตรวจวัดดิน อากาศ พืช ปุ๋ย ฯลฯ แบบเรียวไทม์ ตั้งแต่การเตรียมแปลง เพาะปลูก กระทั่งการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมทั้งการปลูกบนพื้นดิน การใช้วัสดุปลูกอื่นๆ นอกจากดิน เช่น ไฮโดรโปนิกส์ แอโรโพนิกส์ และการจัดสวนแนวตั้ง เป็นต้น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อการบริหารจัดการฟาร์มในการให้น้ำ ปุ๋ย และการป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างแม่นยำ โดยการเชื่อมต่อข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัดเรียลไทม์ในแปลง (Proximal Sensors) รวมทั้งข้อมูลจากการกำหนดตำแหน่งพื้นที่จากดาวเทียม (GPS) และระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) เข้ากับฐานข้อมูลเทคโนโลยีการผลิตพืชนั้นๆ ซึ่งเมื่อนักศึกษาทุกคนได้เรียนรู้ระบบการจัดการฟาร์มเกษตรอัจฉริยะเป็นพื้นฐานในเบื้องต้นแล้ว ยังสามารถเลือกเรียนตามความถนัดได้ 3 กลุ่มวิชาด้งนี้ 1. กลุ่มวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช การเรียนเจาะลึกเกี่ยวกับชนิดพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ 2. กลุ่มวิชาการจัดการฟาร์มอัจฉริยะ การใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เช่น เครื่องมือสื่อสารสารสนเทศและเครื่องจักรกลเกษตรในการบริหารจัดการฟาร์ม 3. กลุ่มวิชาการจัดการผลิตผลเกษตร เทคโนโลยีการยืดอายุผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว กฎหมายด้านสินค้าเกษตร รวมทั้งการจัดจำหน่ายผลผลิต เป็นต้น

เทคโนโลยีชีวภาพ พัฒนานวัตกรรมรองรับเกษตรและอาหาร
ดร.กำไล เลาหพัฒนาเลิศ รักษาการคณบดีคณะเทคโนโลยีชีวภาพกล่าวว่า หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่รวมเอาศาสตร์หลายแขนงมาบูรณาการเข้าด้วยกันแล้วนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแปรรูปสิ่งมีชีวิต ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น หรือสร้างสรรค์เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีชีวภาพตีความได้กว้างมากและประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ทั้งด้านพืช สัตว์ จุลินทรีย์ อุตสาหกรรมเกษตร สิ่งแวดล้อม พลังงาน และทางการแพทย์ ดังนั้น การสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมของประเทศไทย ดังนั้น คณะเทคโนโลยีชีวภาพจึงได้มีการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากเน้นการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานแล้ว หลักสูตรยังเปิดสอนวิชาเลือกที่หลากหลาย ได้แก่ เทคโนโลยีด้านพืช เทคโนโลยีด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีด้านสุขภาพและความงาม โดยส่งเสริมให้นักศึกษาค้นคว้าวิจัยด้วยตนเองกับระบบการเรียนการสอนแบบ Problem Base และ Research Base นอกจากนี้ ทางคณะยังมีกิจกรรมเสริมหลักสูตร เช่น การเสริมทักษะทางด้านภาษา การมีความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อส่งนักศึกษาไปฝึกงานหรือทำงานวิจัยระยะสั้น อาทิ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) National Pingtung University of Science and Technology ประเทศไต้หวัน และ Harbin Institute of Technology (HIT) ประเทศจีน เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดโลกทัศน์และส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม และเทคโนโลยี เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาก่อนที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ AEC


เทคโนโลยีอาหาร กระบวนการสุดท้ายก่อนถึงมือผู้บริโภค
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราพร ลักษณลม้าย รักษาการคณบดีคณะเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเรียนการสอนของหลักสูตรเทคโนโลยีอาหาร มุ่งเน้นการเรียนการสอนเรื่องการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำมาแปรรูปวัตถุดิบการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์อาหารระดับอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานและ มีความปลอดภัยในการบริโภค และมีข้อแตกต่างจากหลักสูตรเทคโนโลยีอาหารของมหาวิทยาลัยอื่นๆ คือ ผสมผสานองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหมัก ซึ่งปัจจุบันฐานการผลิตอุตสาหกรรมประเภทนี้ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักศึกษาจะได้เรียนรู้เรื่องการควบคุมและการจัดการวัตถุดิบ กระบวนการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ กฎหมายอาหาร การประกันคุณภาพอาหาร และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร การบริหารจัดการในโรงงานอาหาร ตลอดจนกระบวนการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จุดเด่นของหลักสูตรเทคโนโลยีอาหาร คือ การให้นักศึกษาเลือกเรียนเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารเฉพาะด้าน เช่น ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม เนื้อสัตว์ และวิชาที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานอาหารฮาลาล เป็นต้น นักศึกษาจะได้รับการฝึกฝนทักษะโดยใช้เครื่องมือในห้องปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบที่ทันสมัย พร้อมทั้งเรียนรู้การทำวิจัยร่วมกับอาจารย์ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารหรือฝึกงานที่ต่างประเทศ กับมหาวิทยาลัยพันธมิตร อาทิ Toyo College ประเทศญี่ปุ่น และ National Pingtung University of Science and Technology ประเทศจีน เป็นต้น


ศูนย์วิจัย และบริการวิชาการ บูรณาการศาสตร์ความรู้ส่งต่อชุมชนและอุตสาหกรรม
รองศาสตราจารย์ ยุพกนิษฐ์ พ่วงวีระกุล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของศูนย์วิจัยว่า ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ มีหน้าที่บูรณาการเชื่อมโยงสิ่งที่เกี่ยวข้องและ/หรือต่อยอดงานวิจัยจาก 3 คณะให้เป็นรูปธรรมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นช่องทางในการส่งต่องานวิจัยให้ตรงกับความสามารถของอาจารย์แต่ละท่าน ภารกิจในภาพรวมของศูนย์ฯแบ่งเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. งานวิจัย โดยงานวิจัยของวิทยาลัยฯ ที่ศูนย์ฯ รับผิดชอบจะต้องมีความสัมพันธ์กับทั้ง 3 คณะ คณาจารย์ของแต่ละคณะทุกท่านต้องมีบทบาทในการทำวิจัย รวมถึงนักวิจัยของศูนย์เองด้วย พวกเราพันธกิจร่วมกันในการสร้างงานวิจัยที่มีความเป็นนวัตกรรมมีศักยภาพทางการค้าสามารถใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมได้จริงและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ งานวิจัยของวิทยาลัยฯ จากทั้ง 3 คณะ จะต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยรังสิตที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทำให้การเรียนการสอนสนุกขึ้น นักศึกษามองเห็นความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น 2. งานสนับสนุนการเรียนการสอน โดยองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยสามารถใช้สอนและพัฒนาต่อเป็นหัวข้อปริญญานิพนธ์ทั้งระดับปริญญาตรีและโท นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการวิจัยด้วยตนเอง เกิดความต่อเนื่องลึกซึ้งและถ่องแท้ในหัวข้อที่ทำ ช่วยเพิ่มคุณค่าของชิ้นงานที่สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ในรูปบทความวิชาการและ/หรือบทความวิจัย ไปจนถึงกิจกรรมการจัดให้มีเวทีประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาในวิทยาลัยและนำไปสู่ภารกิจที่ 3. งานบริการทางวิชาการ คือ การขยายผลสู่ผู้ใช้ประโยชน์ในรูปของการถ่ายทอดสู่ชุมชนหรือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ รวมถึงการเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่ผู้สนใจทั้งภายในและภายนอก และ 4. การหารายได้ให้แก่ศูนย์ฯ เนื่องจากเรามีการสร้างเทคโนโลยี กรรมวิธี หรือกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่มีผลงานวิจัยรองรับอย่างแน่นหนา อีกทั้งยังมีสายการผลิตจริงในระดับโรงงานต้นแบบที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ จึงทำให้ผลิตผลจากงานวิจัยเหล่านั้นมีศักยภาพในการผลิตออกจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ เป็นต้น


จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 ส่วน มีความเกี่ยวโยงเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่ต่างสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตอาหาร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ผู้นำด้านการผลิตและส่งออกอาหารของโลก ดังนั้น วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ จึงถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของมหาวิทยาลัยรังสิต ในการพัฒนาจุดแข็งของประเทศด้านที่ 4 อย่างเต็มภาคภูมิ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook