ฟื้นแบบเรียนเร็วใหม่ ฝึกสะกดคำภาษาไทยยุคหลวงวิภาชน์

ฟื้นแบบเรียนเร็วใหม่ ฝึกสะกดคำภาษาไทยยุคหลวงวิภาชน์

ฟื้นแบบเรียนเร็วใหม่ ฝึกสะกดคำภาษาไทยยุคหลวงวิภาชน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันที่ 17 เมษายน นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังเตรียมนำแบบเรียนเร็วใหม่ ระดับต้น กลาง และปลาย ของ อำมาตย์โทพระวิภาชน์ วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) มาใช้เป็นแบบเรียนสำหรับเด็กช่วงชั้นที่ 1 ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1, 2 และ 3 ซึ่งเป็นแบบเรียนฝึกสะกดคำ และได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนมาแล้วตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2499


โดยแบบเรียนดังกล่าวเป็นแบบเรียนที่อ่านง่าย เน้นการสะกดคำแจกลูกประโยคไว้ชัดเจน เช่น ก า กา กา มา ม า มา กามา ...และตามด้วยรูปงู กาตีงู ปูขาเก ตาโม จูงโค โคขาเกไถนา ตาคำ แกทำนา กะเมียแก แกมีวัว 5 ตัว เมียแก ไปพาวัว มาไถนา เป็นต้น จะทำให้เด็กอ่าน ออก เขียนได้ และจดจำได้ง่ายขึ้น


เนื่องจากแบบเรียนนี้ตนมีความสนใจและเคยเรียนมาก่อน แต่เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบันโรงเรียนจะไม่เน้นการสอนแบบแจกคำแล้ว แต่เน้นสอนแบบให้เด็กท่องจำเป็นคำ ๆ ทำให้เด็กเจอศัพท์ใหม่จึงไม่สามารถอ่านประโยคนั้นได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าหากนำแบบเรียนเร็วใหม่กลับมาใช้ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ได้อย่างแน่นอน


"จุดประสงค์ของการรื้อฟื้นแบบเรียนเร็วใหม่ขึ้นมานั้น เพื่อต้องการแก้ปัญหาเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยจะให้โรงเรียนแจ้งความประสงค์มา และ สพฐ.จะจัดลงไปเสริมให้ เพราะจากการหารือกับครูภาษาไทยพบว่า แบบเรียนเร็วใหม่มีความน่าสนใจ มีบางโรงเรียนนำร่องใช้แบบเรียนนี้มาแล้วจนทำให้เด็กมีพัฒนาการการเรียนภาษาไทยดีขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าภายใน 1-2 ปีจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างแน่นอน โดยขณะนี้สพฐ.ได้เริ่มพิมพ์แบบเรียนเร็วใหม่แล้ว 600,000 เล่ม ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท โดยจะให้เริ่มใช้เรียนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 ทันที"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook