อันตราย! เด็กอ้วนนอนกรน โตช้า-สมองแย่-ไม่พัฒนา

อันตราย! เด็กอ้วนนอนกรน โตช้า-สมองแย่-ไม่พัฒนา

อันตราย! เด็กอ้วนนอนกรน โตช้า-สมองแย่-ไม่พัฒนา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชมรมโภชนาการเด็กฯเตือนเด็กอ้วนนอนกรน เสี่ยงกระทบทางเดินหายใจอุดกั้น ทำเด็กโตช้า สมองแย่ แนะออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร ลดโอกาสใช้เครื่องช่วยหายใจเวลานอน

เมื่อวันที่ 16 เมษายน นพ.สุรณัฐ แก้วณิมีย์ ชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนในชุดโครงการ "รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง" ของเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำการศึกษาเรื่อง "เด็กอ้วนนอนกรน" โดยพบว่าอาการนอนกรน เป็นภาวะที่เรียกว่าภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหมายถึงการไม่มีอากาศไหลผ่านทางเดินหายใจส่วนบน หรือหยุดหายใจ ร่วมกับมีภาวะพร่องของระดับออกซิเจนในเลือด มีการนอนที่ผิดปกติเกิดขึ้นในขณะที่นอนหลับ ในคนที่สุขภาพแข็งแรงทั่วไปจะพบได้ร้อยละ 3-12 ในจำนวนนี้ ร้อยละ 1-3 จะมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับได้

นพ.สุรณัฐกล่าวว่า อาการที่เป็นผลสืบเนื่องจากการนอนหลับไม่เพียงพอ มีทั้งตื่นมาปวดศีรษะในตอนเช้า คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงหลับผิดปกติในเวลากลางวัน อ่อนเพลีย ส่วนเด็กวัยเรียนอาจส่งผลต่อการทำงานของสมอง และการเรียนรู้จดจำ เช่น สมาธิสั้น ความจำไม่ดี มีผลการเรียนไม่ดี ในบางรายอาจมีอาการคล้ายโรคซนอยู่ไม่นิ่งร่วมกับสมาธิสั้น มีพฤติกรรมก้าวร้าวและแยกตัวออกจากสังคม เด็กที่ไม่ได้รับการรักษามักมีลักษณะอ้าปากหายใจ เสียงขึ้นจมูก ในรายที่รุนแรงจะส่งผลให้การเจริญเติบโตช้า ซึ่งพบว่าในเด็กอ้วน พ่อแม่มักพามาปรึกษาเรื่องอาการนอนกรนอยู่บ่อยครั้ง โดยในเด็กอ้วนจะพบบ่อยกว่าเด็กน้ำหนักปกติ

"เมื่อเด็กนอนกรน หรือมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นระหว่างหลับ จะมีอาการแทรกซ้อนและโรคที่พบร่วมได้คือ การง่วงหลับในเวลากลางวันมากผิดปกติ สมองมีความบกพร่องด้านการเรียนรู้จดจำ ปัญหาพฤติกรรม ส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และคุณภาพชีวิต และยังเพิ่มความเสี่ยงในอนาคตของโรค เช่น ความดันโลหิตสูง การทำงานของหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อผนังหัวใจหนาตัวผิดปกติ ผนังหลอดเลือดแข็งตัวและความยืดหยุ่นลดลง และสุดท้ายยังทำให้เกิดโรคในกลุ่มอาการเมตาบอลิก ได้แก่ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ และความดันโลหิตสูง" นพ.สุรณัฐกล่าว และว่า การรักษาคือ ต้องควบคุมและลดน้ำหนัก ร่วมกับการรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ หากมีต่อมทอนซิล (Tonsil) หรือต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งมีขนาดโต แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ ร่วมด้วยหรือไม่ ในบางรายอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเวลานอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook