ยุงกัดเพราะจุลินทรีย์บนผิวหนัง

ยุงกัดเพราะจุลินทรีย์บนผิวหนัง

ยุงกัดเพราะจุลินทรีย์บนผิวหนัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากคุณใช้เวลากลางคืนนั่งอยู่กลางแจ้งโดยที่ต้องคอยตบยุงตามอวัยวะต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังไม่วายมีรอยถูกยุงกัดอยู่ดีในท้ายที่สุด นั่นเป็นเพราะว่ายุงคงชอบคุณมาก แต่คนโชคดีที่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ถูกยุงกัดก็มีอยู่เช่นกัน แต่ไม่ใช่เพราะว่าเลือดของบางคนมีรสชาติดีกว่าแต่อย่างใด

ในการประชุมว่าด้วยความบันเทิงและการออกแบบทางเทคโนโลยีประจำปี 2557 ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เมื่อเร็วๆ นี้ ร็อบ ไนท์ นักนิเวศวิทยาจุลินทรีย์ อธิบายว่าแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์บนผิวหนังของเราผลิตสารเคมีที่แตกต่างกัน ซึ่งบางชนิดมีกลิ่นที่น่าดึงดูดสำหรับยุงมากกว่า

จุลินทรีย์นับล้านล้านชนิดที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของเรา เป็นส่วนน้อยของจุลินทรีย์ทั้งหมดราว 100 ล้านล้านชนิดที่อาศัยอยู่ในร่างกาย ทว่าพวกมันมีบทบาทสำคัญมากต่อกลิ่นของร่างกายคนเรา หากปราศจากจุลินทรีย์เหล่านี้ เหงื่อของมนุษย์จะมีกลิ่นที่ไม่เหมือนสิ่งใดเลย อย่างไรก็ตาม ชนิดของจุลินทรีย์ที่อยู่บนผิวหนังเหล่านี้แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งคนส่วนมากจะมีจุลินทรีย์เหล่านี้เหมือนกันเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

และเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า ยุงจะถูกดึงดูดจากชนิดจุลินทรีย์บนผิวหนังบางชนิดมากเป็นพิเศษ นักวิจัยให้อาสาสมัครผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ 48 คน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระเทียม อาหารรสจัด และการอาบน้ำเป็นเวลา 2 วัน และให้สวมถุงเท้าไนล่อนเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างกลิ่นของผิวหนังที่มีลักษณะเฉพาะ หลังจากนั้นใช้ทรายแก้วขัดที่ฝ่าเท้าของอาสาสมัครเพื่อจับกลิ่นดังกล่าวมาเป็นเหยื่อล่อยุง

กลุ่มตัวอย่าง 9 จาก 48 คนพิสูจน์แล้วว่ามีกลิ่นตัวที่น่าดึงดูดเป็นพิเศษสำหรับยุง ขณะที่มี 7 คนผู้โชคดีที่มีกลิ่นที่ยุงส่วนใหญ่เมิน โดย "กลุ่มที่น่าดึงดูดสูง" มีจุลินทรีย์ 2 ชนิดที่เหมือนกันสูงกว่ากลุ่มตัวอย่างที่เหลือ 2.62 และ 3.11 เท่า ขณะที่กลุ่มที่ไม่ดึงดูดยุง มีชนิดของแบคทีเรียบนผิวหนังทั้งหมดแตกต่างไปจากกลุ่มอื่นโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ นักวิจัยยังบอกด้วยว่า คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ดึงดูดยุงได้ในระดับสูงมากคือนักดื่มเบียร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook