คุยกับ "ประกิต กอบกิจวัฒนา" ทำไม "อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป"

คุยกับ "ประกิต กอบกิจวัฒนา" ทำไม "อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป"

คุยกับ "ประกิต กอบกิจวัฒนา" ทำไม "อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

"อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป" เป็นแฟนเพจแรก ๆ ในเฟซบุ๊กที่เสียดสีสังคมโดยเสนอผ่านงานศิลปะ โดยเริ่มต้นเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2553 "ประกิต กอบกิจวัฒนา" ศิลปินเจ้าของผลงานบอกว่า แนวคิดของเขาเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์

"ปี 53 มีคนตายมากมาย เสร็จแล้วเขาก็ทำบิ๊กคลีนนิ่ง แล้วก็จะเซลต่อ เรารู้สึกว่าเราไม่มีอินสไปเรชั่นที่จะกลับไปเขียนรูปแบบเดิม และเราสงสัยว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไม่ได้ทำให้คนเราตั้งคำถามบ้างเหรอว่าบ้านเมืองเกิดอะไรขึ้น ลืมกันได้ง่ายๆ อย่างนี้เลยหรอ จุดมุ่งหมายแค่ต้องการให้คนหันกลับมาคิดกับชีวิตสักนิดหนึ่งว่าสังคมที่เราอยู่มันเป็นยังไง เราจะอยู่กันไปแบบฉาบฉวย ป๊อปๆ แบบนี้เหรอ แต่คนจะคิดได้บ้างคิดไม่ได้บ้างก็แล้วแต่ เป็นสิทธิ์ของเขา"

ทำไม "อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป" คำว่าเมืองดัดจริตครอบคลุมเมืองไหนบ้าง?

"ตอนแรกคิดว่าแค่กรุงเทพฯนี่แหละ เพราะกรุงเทพฯมันคือทุกอย่างของประเทศไทย คุณจะเรียกร้องสิทธิทางการเมืองหรือเรียกร้องอะไรก็ต้องมากรุงเทพฯ มันเป็นศูนย์กลางอำนาจ ศูนย์กลางการบริโภค เป็นศูนย์กลางของทุกเรื่อง แต่ว่าตอนนี้เมืองใหญ่ ๆ หลายที่ก็เริ่มจะเป็นกรุงเทพฯแล้ว เพราะคนกรุงเทพฯเข้าไปใช้ชีวิตที่ไหนคุณก็เอาวัฒนธรรมแบบกรุงเทพฯติดตัวไปด้วย กรุงเทพฯเป็นแม่แบบของการพัฒนาเมืองอื่น ๆ ทุกคนมองว่าถ้าเจริญก็ต้องมีแพทเทิร์นเดียวกับกรุงเทพ

ที่ว่า ‘เมืองดัดจริต' มันมาจากความปากว่าตาขยิบและการบริโภคด่วน ๆ ของคนเมือง มีหนังสือเกี่ยวกับศาสนาเต็มไปหมด มันเป็นศาสนาสำหรับการบริโภค รวมทั้งหนังสือพวกฮาวทู หรืออะไรต่าง ๆ มันออกมาเพื่อตอบสนองการบริโภคทั้งหมดเวลาคุณทำบุญ คุณทำเพราะอยากรวย อยากให้ชาติหน้าเกิดมารวยอีก

ในขณะที่คนเขามาเรียกร้องสิทธิ์ คุณคิดว่าเป็นการรังควานการทำมาหากินของคุณ คนเมืองเราไม่ได้มองอะไรที่มันลึกซึ้งไปกว่านั้น เราไม่ได้มองมิติการกระจายอำนาจ การจัดสรรทรัพยากร เรามองแค่การบริโภครอบ ๆ ตัวเรา ผมคิดว่ามีอะไรหลายอย่างที่ลักลั่นย้อนแย้งกันในสังคม เป็นจริตอะไรบางอย่างของคนเมือง

คุณจัดงานรักษ์โลกในห้าง แล้วคุณเรียกร้องให้คนต่างจังหวัดอย่าฟุ่มเฟือย ทั้ง ๆ ที่คุณกินทรัพยากรของเขามา คนเมืองไม่กลับมารีเช็คตัวเอง และเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมาก ๆ เราไม่คิดว่าการที่เราจะอยู่ในสังคมได้อย่างยั่งยืน เราต้องเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาของมัน เรามองแยกส่วนไม่ได้

ส่วน ‘ชีวิตต้องป๊อป' มันมาจากความป๊อปปูลาร์ อะไรที่มันป๊อปก็แห่ตามกันไป ชอบทำอะไรซ้ำๆ กัน อย่างที่ผมได้เสียดสีไว้ในงานชุดประชาธิปไตยสำเร็จรูป คนดีสำเร็จรูป ที่เป็นกระป๋อง มันจะมีรูปแบบซ้ำๆ ว่าคนดีต้องเป็นแบบนี้ มียูนิฟอร์มแบบนี้ มีวิธีพูดแบบนี้" ประกิตอธิบาย

คิดว่าม็อบนกหวีดเป็นผลผลิตของ "ชีวิตต้องป๊อป" ด้วยไหม?

"มันแยกเป็นสองส่วน ในเรื่องแรกตอนที่ต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผมเคารพความเห็นเขานะ มันเป็นความชอบธรรม และเป็นเรื่องดีที่ภาคประชาชนอกมากดดันไม่ให้รัฐบาลทำอะไรที่ไม่เห็นหัวประชาชน ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าชื่นชม รัฐบาลก็มีส่วนผิดในการทำเรื่องนี้ แต่หลังจากนั้นก็ต้องว่ากันไปเป็นเรื่อง ๆ ไป ส่วนรูปแบบการนำเสนอ การใช้สัญลักษณ์ พูดตามความจริงผมว่าป๊อป และเขาก็เก่งมากที่ทำให้แคมเปญใหญ่ขนาดนี้ประสบความสำเร็จ"

ระหว่างเวลา 4 ปี ที่เสนองานศิลปะของเขาออกไปสร้างพื้นที่ชวนคิดให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการวิพากษ์ถกเถียงนั้น ประกิตได้ศึกษาเรียนรู้พฤติกรรมผู้คนที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็นไปด้วย จนเขาได้ข้อสรุปว่าสังคมในโซเชียลเน็ตเวิร์กและสังคมจริงนั้นแทบไม่ต่างกัน

"สังคมจริง-สังคมโซเชียลมีเดียมันเหมือนกันโซเชียลเน็ตเวิร์กสะท้อนตัวตนจริงสังคมเมืองเป็นสังคมบริโภคนิยมบริโภคทุกเรื่องและ บริโภคแบบด่วน ๆ สั้น ๆ ไม่คิดอะไรยาว ๆ เช่น เรื่องหนังสือศาสนา พวกหนังสือธรรมะปลอบใจ หรือ ฮาว ทู แฮปปิเนส มันคือสิ่งที่มาตอบสนองความทุกข์ของคนที่ต้องการบำบัดอย่างรวดเร็ว ในหนังสือเป็นคำโคว้ทซะเยอะ ซึ่งไม่ค่อยต่างจากในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก

อย่างที่ว่าทำไมคนไทยใช้ไลน์ ใช้เฟซบุ๊กมาก ผมไม่ค่อยแปลกใจ เพราะคนไทยนิสัยช่างพูด ช่างคุย ขี้เมาท์ ผมคิดว่าโซเชียลเน็ตเวิร์คตอบชีวิตคนไทยมาก ๆ ในขณะที่ฝรั่งถ้ามีเวลาว่างเขาจะอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ หรือทำอะไรที่มันจริงจังกับชีวิตมากกว่านี้ สรุปแล้วผมคิดว่าโลกความจริงกับโลกเสมือนจริงมีความใกล้เคียงกัน เพียงแต่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กคนกล้าวิพากษ์มากขึ้น แต่ลักษณะการถกเถียงยังใกล้เคียงกับโลกจริง เช่นการด่ากันไปมา เราก็เห็นในชีวิตจริง" เขาว่า



เพราะสังคมไทยไม่ชอบการเผชิญหน้า ?

"เมืองไทยไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้มาตั้งแต่แรก ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องปลูกฝังสั่งสมนาน อย่างในตะวันตกมีวัฒนธรรมแบบนี้มาตั้งแต่ยุคกรีกโรมัน เขาพัฒนามาแบบนั้นเป็นพัน ๆ ปี แต่การพัฒนาของสังคมไทยไม่ได้มาทางนั้น ของเราเป็นวัฒนธรรมอีกแบบ สังคมไทยไม่กล้าพูดกันซึ่ง ๆ หน้า เรามีวัฒนธรรมห้ามเถียงผู้ใหญ่ ห้ามมีความคิดเห็น ในขณะที่สังคมโซเชียลไม่มีกฎนั้นสามารถใส่ได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นโลกการมองไม่เห็นตัวจริงหรือเปิดให้เห็นตัวตนเพียงบางส่วนมันตอบคนไทย"

4 ปี สังคมตรงนี้เปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน ?

"คิดว่าเปลี่ยนแปลงทั้งคนติดตามและคนทำเพจเอง ความเป็นศิลปะก้าวหน้าไปเยอะ การเล่าเรื่องผ่านศิลปะอย่างน้อยก็สร้างแรงดึงดูด และทำให้ข้อมูลที่เราอยากจะเล่าน่าสนใจขึ้น และเป็นแนวทางที่ให้คนทำเพจรุ่นใหม่ ๆ ใส่ใจการสร้างสรรค์ ไม่ใช่ว่าอยากจะให้ข้อมูลเฉย ๆ แต่มันต้องมีความงามเข้าไปรับใช้มันด้วย

ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพก็ก้าวหน้า เวลา 4 ปีมันมาได้ไกลกว่าที่ผมคิดไว้เยอะ ผมไม่รู้ว่ามันจะไปไกลแค่ไหน รู้แต่ว่าสังคมแบบนี้มีแต่จะเดินหน้าด้วยตัวมันเอง ผลสุดท้ายแล้วหมุดหมายปลายทางของมันคือประชาธิปไตย และมันก็จะสามารถเดินไปถึงจริงๆ แต่ไม่รู้ว่าใช้เวลาเท่าไหร่ โลกของโซเชียลเน็ตเวิร์กและโลกของการแสดงความคิดเห็น ไม่มีใครคอนโทรลมันได้"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook